ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอเปิดโครงการต่อเนื่อง ซัพพลายยังมีเหลือจำนวนมาก เผยบริษัทใหญ่ 13 รายครองส่วนแบ่งตลาด 2 ใน 3 มียอดพรีเซลประมาณ 3.5 แสนล้านบาท คาดทั้งปีเข้าสู่ภาวะถดถอย การร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ เป็นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ ชี้ปี 2563 เศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มกลับมาดี แค่ทรงตัวเท่านั้น แนะให้เลือกกลุ่มลูกค้าและเซกเมนต์ให้ดี
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ภาคอสังหาฯ ยังคงชะลอการเปิดโครงการ เนื่องจากในภาวะที่ตลาดยังมีซัพพลายคงเหลือเป็นจำนวนมาก แสดงว่าอัตราการดูดซับคงต้องนานขึ้น แต่เรื่องฐานะการเงินของบริษัทอสังหาฯ ยังสามารถรับภาระสต็อกได้อยู่ เพราะภาระหนี้ที่มีภาระจ่ายหักเงินสด (หนี้สุทธิ) ต่ำมาก อสังหาฯ อยู่แค่ 1 เท่า ซึ่งในอดีต อยู่ที่ 0.4 เท่านั้น ในส่วนของภาพยอดขายล่วงหน้า (พรีเซล) เปลี่ยนไป เมื่อก่อนผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถทำได้ 80,000 ล้านบาท หรือไปถึง 100,000 ล้านบาท แต่ในขณะนี้ ลดลงมาเหลือ 60,000-70,000 ล้านบาท ยอดพรีเซลลดลงมาจากเรื่องความต้องการการซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรหายไปจากตลาดประมาณ 25-30% นั่นแสดงว่าฐานพรีเซลที่เคยสูงในอดีตมาจากการเก็งกำไร และอีกส่วนมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนกำลังจริงในระบบยังคงมีอยู่
ทั้งนี้ จากตัวเลขพรีเซลในปี 2561 จากบริษัทอสังหาฯ 16 รายที่ครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 2 ใน 3 มียอดพรีเซลประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และคิดว่าตัวเลขทั้งปี 2562 จะส่งทรงตัวที่ 3.5 แสนล้านบาท แต่ผ่านไปครึ่งปี พบว่ายอดพรีเซลชะลอตัวในรอบ 2-3 ปี เหลืออยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท คาดทั้งปี ยอดพรีเซลเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตามในเรื่องการพึ่งพาเงินกู้นั้น บริษัทขนาดใหญ่สามารถระดมทุนได้ดีกว่าอสังหาฯ รายกลางและเล็ก ที่ยังต้องพึ่งแบงก์ ถ้าแบงก์ไม่ปล่อย ก็ไปไม่ได้
สำหรับเรื่องการร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากต่างประเทศนั้น เป็นลักษณะการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ดี สามารถใช้เงินทุนในการขยายโอกาสมากกว่าพึ่งพาเงินในระบบ และยังช่วยให้บริหารฐานะการเงินได้ดี การร่วมทุนจึงเป็นที่นิยมพอสมควร จากตัวเลขยอดขายรอบันทึกเป็นรายได้ (แบ็กล็อก หรือยอดขายที่รอเซ็นสัญญาแล้วรอโอน) ในไตรมาส 2 ปีนี้ อยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 40,000 ล้านบาท และโครงการคอนโดฯ 1.58 แสนล้านบาท และโครงการร่วมทุนอีก 1.32 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าตัวเลขการร่วมทุนจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับการลงทุนของบริษัทอสังหาฯ ทำเอง
นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2563 ยังไม่มีแนวโน้มกลับมาดี ทรงๆตัว เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของ เอ็ม บี เค มีการทำธุรกิจที่หลากหลาย แต่ละธุรกิจมีกลยุทธ์ที่ต่างกัน การทำศูนย์การค้าไม่ใช่มองเรื่องการสร้างเสร็จและมีผู้เช่า แต่สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรที่จะดึงลูกค้ามาใช้บริการ มาเดินห้าง ให้ห้างมีชีวิตชีวา เพื่อสร้างบรรยากาศในการซื้อของ หรือแม้แต่ที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง มีการนำระบบ AI มาประมวลผลลูกค้าที่เดินเที่ยวในห้าง
"การทำศูนย์การค้า มีโรงแรมและอาคารสำนักงาน การทำศูนย์การค้าจะถูกผลักดันในเรื่องการเข้ามาใช้บริการ และการมีออฟฟิศ มีคนมาใช้บริการและยังไม่นับรวม ที่พักในโรงแรม เราต้องการคน หรือแม้แต่โครงการใหญ่ที่ไปร่วมทุนทำ ไอคอนสยาม เป้าหมายสำคัญ เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ธุรกิจโรงแรม เป็นอสังหาฯ ประเภทให้เช่า โรงแรม ต้องการความสงบ เรียบร้อย และการบริการ รูปแบบต้องเป็นอีกแบบ การจะหาคนมาพัก ก็เป็นเรื่องของโปรดักต์ที่เราจะจัดสรรให้กับลูกค้า เช่น โรงแรมปริ้นเซส เรามีแบรนด์ Tinidee ในการบริหารโรงแรม มีโรงแรมที่มัลดีฟส์ที่ร่วมกับดุสิตธานีมีธุรกิจรับฝากขายที่ดิน เช่น ปล่อยกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ เรากำลังคิดว่า จะทำประมูลออนไลน์เรื่องบ้าน จากที่ประมูลเรื่องรถยนต์ผ่านออนไลน์เท่านั้น มีการันตีคุณภาพของรถยนต์ให้กับลูกค้า" นายสุเวทย์กล่าว
นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงแผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูส 1 โครงการ บนพื้นที่กว่า 8 ไร่ ทำเลจอมเทียน ภายในโครงการประกอบด้วย คอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุน เพื่ออยู่อาศัย และ โรงแรมระดับ 5 ดาว มูลค่าโครงการกว่า 4,500 ล้านบาท ส่วนในทำเลกรุงเทพฯ บริษัทมีแผนเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จำนวน 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท ลิสต์ กรุ๊ป จากประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์ วาลเด้น ได้แก่ วาลเด้น ทองหล่อ 8 และ วาลเด้น ทองหล่อ 13 มูลค่ารวม 2,800 ล้านบาท เริ่มเปิดขาย 10 ตุลาคมนี้
ในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าหมายมียอดขาย 3,000 ล้านบาท ส่วนยอดโอนบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอนอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนไปจนถึงปี 2564 ทั้งนี้บริษัทคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แม้ช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะชะลอตัว จากเศรษฐกิจที่ผันผวนเนื่องจากสงครามการค้า รวมทั้งมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างพัทยาที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฮาบิแทท กรุ๊ป มีความมั่นใจที่จะพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มีความคุ้มค่าให้กับนักลงทุน