top of page
358556.jpg

ภัยแล้งน่ากลัวกว่าบาทแข็ง จี้ภาครัฐจัดการน้ำเพาะปลูก


Interview: คุณสิทธิคุณ เทียมประเสริฐ

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้ประกอบการ-เกษตรกรอุบลฯ กลัวภัยแล้งมากกว่าค่าบาทแข็ง ทั้งโรงงาน อุตฯ โรงงานแปรรูป และภาคเกษตร ต้องใช้น้ำปริมาณที่มากพอต่อการผลิตและเพาะปลูก ขณะนี้ราคาพืชผลการเกษตรที่สำคัญอย่างมันสำปะหลังราคาสูงขึ้น แต่ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสด้านรายได้ที่ควรจะสูงขึ้น ส่วนโรงงานแปรรูปอาจผิดสัญญาจัดส่งสินค้าที่ตปท.ออร์เดอร์มาล่วงหน้า ส่งสัญญาณให้ภาครัฐดูแล บริหารการจัดการน้ำเพื่อการผลิตและเพาะปลูก รวมทั้งช่วยเหลือ SME ในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบด้วยอัตราเงินกู้พิเศษ และไม่ควรปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในภาวะเศรษฐกิจขาลง

ตอนนี้ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร ที่อุบลฯ เจอวิกฤตภัยแล้งน้ำหดหาย ฝนไม่ตก ในส่วนภาคอุตสาหกรรมเจอภัยอะไรบ้างไหม

ก็ยังมีปัญหาเรื่องผลผลิต หลายอย่างมีราคาแพงขึ้น เช่น มันสำปะหลังราคาแพงขึ้น แต่ผลผลิตออกมาไม่ตามเป้า หลายอย่างมีปัญหาอยู่

น้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมขณะนี้มีพอเพียงไหม เริ่มมีปัญหาไหม

ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีปัญหา เพราะอุบลราชธานีมีแหล่งน้ำใหญ่ผ่านอยู่แล้ว ภาคอุตสาหกรรมอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ส่วนภาคเกษตรกรมีพื้นที่กว้างทำให้ภัยแล้งเกิดหลายที่ บางที่ฝนตกชุก บางที่ก็แล้งเลย

ที่อุบลฯมีโรงงานเลี้ยงไก่เยอะ มีโรงงานชำแหละไก่ใหญ่มาก มีปัญหาอะไรไหม

โรงงานถ้าไม่มีเรื่องไข้หวัดนกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่น่ามีปัญหา โชคดีว่าประเทศเรายังไม่มีปัญหาด้านนี้

โรงงานเยอะต้องใช้น้ำเยอะ คนก็ต้องอาบน้ำอาบท่า

ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวก็เข้ามาชมงานแห่เทียน ก็เข้ามาเยอะในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งยังไปได้อยู่ ยังไม่มีปัญหา

ต้องมีป้ายขอความร่วมมือให้ประหยัดการใช้น้ำ

ใช่ ต้องยอมรับว่ามีการใช้น้ำเยอะจริง ส่วนเกษตรกรรมเป็นพื้นที่ที่กว้างและต้องใช้น้ำเยอะเช่นกัน

โรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่เชิดหน้าชูตาอุบลฯ จริงๆหนักไปทางไหน

เป็นอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกไก่ ทำเอทานอล แป้งมันสำปะหลัง เกษตรแปรรูป

เรื่องแรงงานเป็นอย่างไรบ้าง

โดยรวมแรงงานของเรายังไม่ขาดแคลน แต่ถ้ามีการขึ้นค่าแรงก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ถ้าทำตามนโยบายรัฐบาลขึ้นเป็น 400 บาท ก็เป็นห่วง SME จะมีปัญหามาก

ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำที่อุบลฯ วันละเท่าไหร่

320 บาท ถ้าขึ้นมาก็เพิ่มต้นทุนอีกเยอะ

อุตสาหกรรม SME ที่อุบลฯ มีมากไหม

ค่อนข้างจะเยอะ โดยรวมแล้วเราะมีทั้ง SME ที่ลงทะเบียนไว้ และยังมี SME เล็กๆค้าของฝาก ของกิน ของใช้

พวก SME มีต่างชาติเข้ามาลงทุนไหม

ถ้าเป็น SME น่าจะยัง แต่ถ้าเป็นระดับใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็น่าจะมีอยู่ ธุรกิจใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็จะทำกระเป๋าส่งออก ทำชิ้นส่วนรถยนต์

ถึงตอนนี้มีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ต้องการขอรับการสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษไหม

อยากให้สนับสนุนด้านการเงิน ดอกเบี้ย SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยการลงทุนต่างๆ อยากให้ช่วยเรื่องดอกเบี้ยหน่อยและให้เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น ปัญหาที่เจอคือเรื่องภัยแล้งก็จะลำบากนิดหน่อย อย่างที่เคยคุยกับกรอ.จังหวัดเรื่องประชารัฐได้รับการแจกจ่ายล่าช้าและขั้นตอนต่างๆก็ยุ่งยาก อยากให้แก้ไขทำให้รวดเร็วได้ไหม โครงการประชารัฐตอบรับดีและบางคนยังไม่สามารถเข้าถึงได้และล่าช้ากว่าที่ภาคธุรกิจต้องการ

แสดงว่าธุรกิจต่างๆใช้เงินนอกระบบกันมาก

อาจเป็นแบบนั้นก็ได้ ก็ไม่ทราบว่าเยอะขนาดไหน แต่ถ้าภาครัฐหรือแบงก์ต่างๆ ให้ความช่วยเหลือเราก็จะดีมาก

แรงงานที่อุบลฯใช้แรงงานต่างด้าวเยอะไหม

แรงงานต่างด้าวไม่เยอะ แรงงานจังหวัดที่รายงานมาที่ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีไม่เยอะ นอกระบบก็น้อย

อย่างลาว กัมพูชา หรือจากเวียดนาม มาทำงานเยอะไหม

มีบ้าง ในภาคผลิตหลายๆส่วน เช่น ก่อสร้าง โรงงานเย็บผ้า แรงงานจากพม่าก็ยังมี แต่โดยรวมถือว่าไม่เยอะ

วิกฤตภัยแล้งขณะนี้จะส่งผลต่อสินค้าเกษตร ต่อไปจะกระเทือนถึงวัตถุดิบที่โรงงานนำไปแปรรูปไหม

อันนี้แน่นอน ถ้าวัตถุดิบไม่ทันตามฤดูกาลจะมีผลกระทบแน่ โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ที่มีการทำสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าก็จะมีปัญหาพอสมควร

ตอนนี้มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอะไรบ้าง

แป้งมันสำปะหลัง ไก่ ที่เราต้องผลิตให้ได้ในราคาที่ต้องเจอบาทแข็ง

ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระเทือนแค่ไหน

เรื่องประกันความเสี่ยงผู้ส่งออกต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าแข็งค่าเร็วเกินไปอย่างได้รับออเดอร์มายังไม่ได้ทำอะไรเลยอย่างนี้มีปัญหา แต่หลักๆเป็นห่วงเรื่องวัตถุดิบมากกว่า โดยเฉพาะถ้าฝนฟ้าไม่เป็นไปตามฤดูกาล ก็พยายามส่งเสริมกันเรื่องการผลิตเพื่อให้ตัววัตถุดิบมีมูลค่าสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

สินค้าออร์แกนิกของอุบลฯ มีอะไรบ้าง

ตามนโยบายก็จะมีข้าว มันสำปะหลัง ที่กำลังคุยกัน และจะเพิ่มในส่วนอื่น เพราะกลุ่มสินค้าออร์แกนิกต้องใช้เวลาในการปรับดินประมาณ 3 ปี เพราะฉะนั้นในช่วง 3 ปี ราคาที่เกษตรกรจะได้รับสูงกว่าปกติโดยที่ยังไม่ใช่ออร์แกนิค แต่ต้องทำในพื้นดินที่ไม่ใช้สารเคมี ก็มีการปรับตัวทั้งโรงงานและตัวเกษตรกร

16 views
bottom of page