top of page
358556.jpg

SET ตัดข้ามจุดจิตวิทยา 1,700...ความหวังอยู่ที่เวที G20


หุ้นไทยขึ้นพรวดทะลุแนวจิตวิทยาสำคัญ 1,700 อย่างง่ายดาย หลังทรัมป์จุดประกายความหวัง สงบศึกสงครามการค้ากับจีนในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ญี่ปุ่นปลายเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่หมดห่วงการเมืองไทย กระแสเงินทุนไหลเข้าซื้อเพิ่มน้ำหนัก

นักลงทุนไทยมีความหวังว่าตลาดหุ้นไทยจะพลิกฟื้น หลังปัจจัยลบเริ่มคลี่คลาย ขณะเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดกลุ่ม TIP มากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นไทย จากที่รั้งรอมานาน ในที่สุดก็สามารถข้ามผ่านด่านจิตวิทยาที่สำคัญ 1,700 จุดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วจากหน้ามือเป็นหลังมือ

โดยตลอดตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนมานี้ จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาโดยตลอด จาก 1,620 จุด ในอาการกลัวๆ กล้าๆ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อ โดยเฉพาะวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ที่ดัชนีหุ้นเปิดตลาดกระโดดขึ้นทีเดียวเกือบ 10 จุด โดยเปิดที่ 1,691 จุด จากนั้นในภาคบ่ายหุ้นเปิดด้วยดัชนีที่ข้าม 1,700 ขึ้นมา และทดสอบแนวต้านใหม่ที่ 1,710 จุด ซึ่งเป็นการกลับมาทำดัชนีที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับจากเดือนตุลาคม 2561 ที่หุ้นถูกเทลงมา

ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะหลังการปรับสูตรคำนวณดัชนี MSCI ที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยโดยอัตโนมัติส่วนหนึ่ง ขณะที่การเมืองไทยไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจคอการเมือง แต่ถือว่าอย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นปัจจัยกวนความเชื่อมั่น เพราะอย่างน้อยคือการประชุมสภาแต่งตั้งนายกเป็นที่เรียบร้อย แถมด้วยข่าวการมีท่าทีของประธานเฟดที่ว่าจะพลิกกลับมาลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ยิ่งทำให้มีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ขณะที่ช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนนี้จะเห็นภาพนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 20,000 ล้านบาท แถมด้วยการเข้าถือสถานะ Long ในตลาด TFEX ด้วย จึงทำให้ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีความมั่นใจในตลาดหุ้นมีมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนต่างจับตาการประชุมโอเปก และความหวังว่าสงครามการค้าอาจจะได้ข้อยุติหากมีการประชุมคุยกันในเวที G20 ในปลายเดือนมิถุนายน

บล.หยวนต้า ระบุสถานการณ์หุ้นไทยถือว่ามี Sentiment ที่พลิกกลับมาเป็นบวก จากปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนอย่างมาก คือความคาดหวังว่าสงครามการค้าจะจบลง อันเนื่องมาจากทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยืนยันผ่านทวิตเตอร์ ของเขาว่าจะเข้าพบกับประธานาธิบดีจีนในการประชุม G20 ระหว่าง 28-29 มิถุนายนนี้

“ถือเป็น Sentiment เชิงบวกกับหุ้น Global Play เช่น พลังงานและกลุ่มโลจิสติกส์”

ขณะเดียวกันกับที่มีข่าวดีอื่นมาเสริม เช่น ประธาน ECB ออกมาให้ความเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการซื้อสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องยังเป็นมาตรการที่จำเป็น เพราะเศรษฐกิจยังชะลอและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นจนถึงกลางปี 2563 เงินสกุลยูโรอ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์

ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ระบุว่า ผลกระทบระยะสั้นดูแล้วเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยง แต่ระยะถัดไปอาจเห็นแรงกดดันจาก Dollar Index ที่ฟื้นกลับเร็ว

พร้อมกันนี้ยังมีแรงบวกจากประเด็น รัฐบาลจีน และอังกฤษที่บรรลุข้อตกลงทางการค้ามูลค่า 500 ล้านปอนด์ (ประมาณ 630 ล้านดอลลาร์) หลังจากที่นายหูชุนหัว รองนายกรัฐมนตรีจีน เดินทางไปเจรจาที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา

“การเมืองในไทย นายกฯ ได้รับรายชื่อคณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คนแล้ว คาดว่าจะส่งให้เลขาสภาตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยหลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ครม.ชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อสภาภายใน 15 วัน ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม เป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีก รับเหมา และเกษตรอาหาร

เราประเมินว่าหุ้นกลุ่ม Global Play จะ Outperform ตลาด เนื่องจาก 1) ผู้นำจีนและสหรัฐจะกลับมาเจรจาการค้ากันอีกครั้งในการประชุม G20 2) ความคาดหวังเชิงบวกต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปี 3) น้ำมันดิบ NYMEX กลับมาบวกเด่น

เมื่อปัจจัยการลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามองว่า เม็ดเงินลงทุนน่าจะหมุนออกจากหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น โรงไฟฟ้า, กลุ่มสาธารณูปโภค หรือหุ้นกลุ่มนิคมฯ ที่ได้รับผลบวกจากสงครามการค้า โยกย้ายเข้าสู่หุ้นกลุ่ม Global Play/ Commodity Play ซึ่งราคาหุ้นเคยถูกกดดันมาโดยตลอดในช่วงก่อนหน้า

ในเชิงกลยุทธ์ เราแนะนำปรับพอร์ตมาเก็งกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก อาจพิจารณาเก็งกำไร ระยะสั้นต่อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Underperform อย่างมากในช่วงก่อนหน้า”

ก่อนหน้านี้ ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST ให้ความเห็นว่า การที่เฟดมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงทำให้เริ่มมีเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ อีกประเด็นสำคัญสำหรับทิศทางตลาดโลกคือเรื่องการเจรจาการค้าของสหรัฐกับจีน ที่คาดว่าจะมีการพบกันของผู้นำประเทศทั้ง 2 ในการประชุม G20 ซึ่งหากมีการเจรจากันจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นจริงใน G20. อาจมีผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอย

ขณะที่ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ในเรื่องการตั้งคณะรัฐมนตรี เชื่อว่ากระทรวงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญไม่น่ามีการเปลี่ยนแปลงจากรายชื่อที่ประกาศออกมา ดังนั้น KTBST ประเมินว่าเสถียรภาพของรัฐบาลหลังตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้วจะมีไม่สูงมากเนื่องจากเสียงคะแนนที่มากว่าฝ่ายค้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในด้านตลาดหุ้นจะได้ปัจจัยบวกในช่วงสั้นๆ จากมาตรการและแผนการลงทุนที่ทำไว้จากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

6 views
bottom of page