เป็นไปได้แค่ไหนที่อาเซียนจะใช้เงินตราสกุลเดียวกันเป็น ASEAN Dollar เหมือนเงิน Euro ดังที่ มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเสนอแนะ?
ขณะที่ตลาดทุน ตลาดเงินตราทั่วโลก กำลังกังวลกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve หรือ Fed) ว่าจะส่งผลถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลกขนาดไหน และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างไรอยู่นั้น
บรรดาตลาดหุ้น ตลาดทุนก็พากันใจจดใจจ่อ วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนว่าจะผันแปรอัตราดอกเบี้ยเฟดกันแค่ไหน
แม้จะเชื่อว่า เฟดจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วง 2562-2663 ตามที่ประธานเฟดเปรยไว้เมื่อเดือนก่อน เพราะหากลดตามนั้น อัตราดอกเบี้ยเฟด 2.50% ขณะนี้ จะเหลือ 0.50% อันจะทำให้อัตราดอกเบี้ยจริง (ดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ติดลบเป็น -1.50%
เป็นการเสี่ยงเป็นอย่างมากในอันที่จะทำให้สหรัฐถอยกลับไปสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกพากันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตาม เหตุจากเป็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวจนเป็นขาลงโดยชัดเจนแล้ว
ความผันผวน แปรปรวนในตลาดเงินตราและตลาดทุนนั้น เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
สหรัฐเป็นตัวจุดชนวน Trade War โดยจุดประสงค์เพื่อลดภาวะขาดดุลการค้าจีนมูลค่ามหาศาล แต่จุดหมายแท้จริงคือการลดการครอบงำเศรษฐกิจโลกของจีน
ผลของสงครามก็คือ บาดเจ็บเสียหายด้วยกันทั้งคู่ แต่สหรัฐเจ็บมากกว่า เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือผู้ประกอบการในประเทศ สาเหตุมาจากต้นทุนผลิตด้านวัตถุดิบสูงขึ้น โดยล่าสุดภาษีศุลกากรอัตรา 25% ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไอทีกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก
เหตุจากส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์นำเข้าจากจีน อินเดีย ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมาก ทำให้โดนมาตรการภาษีขาเข้า 25% เท่ากันหมด
เฉพาะอินเดียนั้น ถึงกับขึ้นภาษีขาเข้ากับสินค้าจากสหรัฐ 28 รายการเป็นการตอบโต้
สงครามการค้า ใช่แต่ส่งผลถึงการส่งออกและการจ้างงานเป็นลูกโซ่เท่านั้น หากยังกระทบถึงตลาดเงินตราอีกด้วย
กลายเป็น Currency War คู่ขนานกับ Trade War อีกสงครามหนึ่ง
ทั้งคู่สงคราม ต่างใช้มาตรการทางการเงินแก้ไข ลดความเสียเปรียบจากผลของสงคราม โดยทำให้ค่าเงิน ทั้งดอลลาร์และหยวนอ่อนค่าลง จากปีที่แล้ว ค่าหยวนและดอลลาร์สหรัฐต่างอ่อนลงไปกว่า 7%....กระทบกับเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะย่านเอเชีย ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดียและอาเซียนท็อปไฟว์เจอถ้วนหน้า
ค่าบาทกลายเป็นเงินตราที่มีค่าแข็งที่สุดในเอเชียจากผลของสงครามค่าเงินในครั้งนี้
ไม่เป็นผลดีแก่การส่งออก เห็นได้จากตัวเลขส่งออกไตรมาสแรกของปีนี้ที่ติดลบจากปีก่อน
จีนพยายามลดผลกระทบจากสงครามการค้า โดยหันหาตลาดเกิดใหม่ เล็งมาที่อาเซียนซึ่งมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
จีนพยายามผลักดันให้หยวนเป็นเงินตราสกุลหลักของอาเซียน โดยก้าวแรกคือการเสริมฐานหยวนให้เป็นปิโตรหยวน แทนปิโตรดอลลาร์เดิมที่สถานภาพง่อนแง่นเต็มทน
ถ้าปิโตรหยวนเกิดได้ หยวนก็จะสามารถเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในอาเซียนและอาจจะทั่วเอเชียได้
ดอลลาร์สหรัฐนั้น ยังใช้ในตลาดทุนอาเซียนได้อย่างมั่นคง
บางประเทศ อย่างติมอร์เซเลสเตนั้น ใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินตราของประเทศเลยทีเดียว
นอกจากนี้ หลายประเทศสามารถใช้ดอลลาร์สหรัฐได้โดยไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลท้องถิ่น จะมีก็แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ดอลลาร์สหรัฐไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้เหมือนกับบาท
ผลจากสงครามเงินตราทำให้ชาติอาเซียนเริ่มไม่ไว้ใจทั้งดอลลาร์สหรัฐทั้งหยวน
ธนาคารกลางของสี่ประเทศคือ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางมาเลเซีย ธนาคารฟิลิปปินส์ และธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือกันสร้างกลไกระบบชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับธุรกิจและเพื่อลดความเสี่ยงในตลาดเงินโลก ทั้งผลพลอยได้คือต้นทุนลดลง
ทั้งนี้ 3 ธนาคารกลางของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้ดำเนินการกันไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2016
ผลของข้อตกลงกลไกชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของทั้ง 4 ธนาคารกลางก็คือ ภาคเอกชนจะมีความสะดวกในการทำการค้าและธุรกรรมการเงินและการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องผ่านสกุลเงินกลางซึ่งมีดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังประหยัดทั้งเวลาและค่าธรรมเนียม เพราะเป็นทางตรงไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินสกุลกลางด้วย
ที่สำคัญที่สุดคือลดความเสี่ยงจากสงครามค่าเงินในภาวะที่ตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน
ขณะเดียวกัน การที่จีนพยายามผลักดันให้หยวนเป็นเงินตราสกุลหลักระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน 11 ประเทศโดยใช้ชื่อว่า ASEAN Yuan ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จีนแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การค้าและการเงินลงมายังภูมิภาคนี้มากเกินไปแล้ว
นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ แห่งมาเลเซียจึงเสนอให้อาเซียนมีสกุลเงินกลางของตนเองเช่นเดียวกันกับเงินยูโรของประชาคมยุโรป
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เสนอในช่วงปาฐกถาที่การประชุมนานาชาติเพื่ออนาคตเอเชียครั้งที่ 25 (International Conference on The Future of Asia หรือ Nikkei Conference) ที่โตเกียวเมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมานี้ว่า อาเซียนสมควรจะมีสกุลเงินกลางของตนเองที่อิงค่าทองคำได้แล้ว
ดร.มหาธีร์ ขยายความว่า สกุลเงินกลางหรือ special currency ในความหมายของเขาก็คือ เงินตราที่ผูกพันกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราทุกสกุลในอาเซียนตามฐานะทางเศรษฐกิจ และยังสามารถนำไปใช้กับประเทศเอเชียตะวันออกไกลคือญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้อีกด้วย
มหาธีร์บอกว่า สกุลเงินกลางจะมีฐานะมั่นคง เหตุจะใช้ทองคำหนุนหลังและยึดโยงกับสกุลเงินท้องถิ่นของอาเซียน ทำให้ยากแก่การถูกโจมตีเหมือนกับที่บาทไทยถูกโจมตีในปี 1997
ครั้งนั้น ริงกิตมาเลเซียจำเป็นต้องผูกค่าเงิน (pegged) กับดอลลาร์สหรัฐ และต่อมาเมื่อดอลลาร์เกิดผันผวน ทั้งจาก Great Recession และปัจจุบันสงครามค่าเงินก็ทำให้เห็นว่า จำเป็นต้องหลุดพ้นจากการผูกพันกับดอลลาร์ หันมาใช้เงินสกุลกลางอาเซียนแทน
ถ้าถามว่า เงินสกุลกลางอาเซียนมีความจำเป็นหรือไม่ คงต้องบอกว่าไม่จำเป็น
เพราะจะไปทับซ้อนกับกลไกระบบชำระเงินของสี่ธนาคารกลาง
แต่ถ้ามองว่า หยวนอันทรงพลังจะแทรกตัวเข้ามาผ่านการค้าเป็นเงินสกุลกลางของอาเซียนเสียเอง ก็น่ากังวลเหมือนกัน เพราะหลายชาติในอาเซียนยังมองว่าจีนเป็นตลาดอุปโภค บริโภคใหญ่ที่สุดในโลก
ถ้าจีนบอกว่าจะซื้อและขายเป็นเงินหยวนสกุลเดียวเท่านั้น ใครจะกล้าปฏิเสธ
เงินสกุลกลางของมหาธีร์หรือเงินท้องถิ่นในกลไกระบบชำระเงินของ 4 ธนาคารกลางก็คงจะใช้กันแต่ในระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันเท่านั้น
คงต้องเลือกว่าจะใช้หยวนหรือใช้เงินสกุลกลางกับเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล
คงต้องตัดเงินสกุลกลางของมหาธีร์ออกไป ใช้แต่เงินท้องถิ่นระหว่างพวกเราเอง และเงินหยวนใช้กับค้าขายกับจีนเท่านั้น