ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
สงครามการค้าอเมริกา-จีน ยังคงลากยาว ส่งผลกระทบการส่งออกของไทยตลอดปีนี้ ไปจนถึงปีหน้า ประเมิน...เศรษฐกิจการเงินโลกจะไม่เลวร้ายกว่าวิกฤตซับไพรม์ เหตุทุกภาคส่วนเฝ้าระวัง ปรับตัวเพื่อรับมือ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อรอบนี้ต่ำกว่าช่วงวิกฤตซับไพรม์ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีสัญญาณชัดเจนถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดและธนาคารกลางของหลายประเทศอีกหลายระลอก ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงขึ้นจะไม่ก่อปัญหาในระยะสั้น แต่กระทบต่อเศรษฐกิจ-การเงินระยะกลาง ระยะยาวแน่ๆ แนะรัฐบาลใหม่เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 และอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ตลอดจนการลงทุนของภาคเอกชน
ดูตัวเลขการส่งออก แล้วเป็นห่วงหรือไม่
ตัวเลขที่เราเห็นกัน โดยเฉพาะตัวเลขส่งออก จะถูกกระทบจากสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก องค์กรใหญ่ๆอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือเวิลด์แบงก์เอง ก็ทยอยปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงมา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกยังดูดีกว่า ดูแล้วตั้งสมมุติฐานว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนน่าจะลากยาว และจะมีผลต่อตัวเลขการส่งออกของเราไปตลอดปีนี้และอาจจะถึงปีหน้าด้วย ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ก็กดดันตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่การเบิกจ่ายงบประมาณช่วงการเปลี่ยนผ่าน การจัดตั้งรัฐบาลต้องรองบประมาณปี 2563 ซึ่งอาจจะล่าช้าไปจากปฏิทินเดิม ก็เป็นประเด็นท้าทายที่รอท่าสำหรับเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้านี้
ถึงขณะนี้เริ่มเห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่แล้ว แต่นักลงทุนก็บอกจะขอดูอีกระยะ ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงว่าโลกจะเกิด ซูเปอร์ โนว่า ซึ่งเลวร้ายกว่าซับไพรม์อีก
ส่วนตัวไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะธนาคารกลางต่างๆไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปในระดับที่สูงเหมือนกับช่วงซับไพรม์ ดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาเองน่าจะอยู่แค่ครึ่งเดียวของตอนที่ขึ้นไปในช่วงซับไพรม์ และเร็วๆนี้ ตลาดมองกันว่าในสิ้นเดือนกรกฎาคม เฟดน่าจะลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง และมองว่าก่อนสิ้นปีนี้ เฟดอาจจะลดดอกเบี้ย 2-3 ครั้งด้วยซ้ำ ดังนั้น นโยบายการเงินในช่วงนี้ของหลายที่รวมถึงของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตึงตัวเหมือนรอบโน้น โอกาสจะเกิดประเด็นแรงๆน่าจะน้อยกว่า
ครั้งนี้คนระมัดระวังกันใช่ไหม ไม่เหมือนครั้งก่อนที่ไม่ทันคิดว่าจะเกิดวิกฤต
ใช่ เพราะเงินเฟ้อในรอบนี้อยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้นโยบายการเงินไม่ได้ขยับขึ้นมาสู่ระดับผิดปกติกันถ้วนหน้า อัตราดอกเบี้ยถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ยุโรปเองยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำ ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ฉะนั้น ส่วนตัวคิดว่าต้นทุนทางการเงินไม่ได้อยู่ในระดับสูงที่จะทำให้เกิดปัญหาหนี้เหมือนกับช่วงซับไพรม์ แต่วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้เราถูกกระทบจากเรื่องสงครามการค้า แล้วเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้อาจจะนานพอสมควร และจะลากยาวนิดนึง
ดูความผันผวนในตลาด คือความผิดปกติในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาอย่างไร ที่อยู่ๆ นักลงทุนทิ้งพันธบัตรระยะยาวแล้วไปจับพันธบัตรระยะสั้นกัน ดูแล้วกำลังส่งสัญญาณอะไร
ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวลงไปอย่างนี้ คือพันธบัตร 10 ปี ลงไป 2.06 น่าจะสะท้อนมุมมองของตลาดไปแล้วว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ย คือดอกเบี้ยจะลงในระยะยาว คือตลาดคาดว่าในที่สุดแล้ว ดอกเบี้ยระยะสั้นจะต้องถูกปรับลงตาม เลยทำให้ตัว U Curve ของเขา จะออกมารูปร่างประหลาดนิดนึง คือดอกเบี้ยระยะยาวลดลง ต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยในระยะสั้น ตรงนี้ก็สะท้อนมุมมองตลาดว่าคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
ตรงนี้จะส่งผลต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะมีการกู้พันธบัตรมากเหมือนกัน
มีเงินไหลเข้าตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เงินเข้ามาบ้านเราทั้งในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรค่อนข้างมาก ฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าการคาดการณ์นี้ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนมาตลาดที่มองดูว่ามีความเชื่อมั่นดีอย่างบ้านเรา เงินบาทถูกมองว่ายังเป็นสกุลที่มีความมั่นคงปลอดภัย เทียบกับช่วงปลายปีที่แล้วค่าเงินบาทแข็งไปประมาณ 3.9% แข็งกว่าเงินที่มั่นคงอย่างเงินเยนอีก นั่นก็คือสะท้อนเรื่องดอลลาร์อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการคาดการณ์ดอกเบี้ย และบรรยากาศในเชิงลบต่างๆ เนื่องมาจากสงครามการค้า นักลงทุนโยกเงินมาอยู่ในที่ที่ดูปลอดภัยโดยเฉพาะเงินบาท เราจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในช่วงสัปดาห์ก่อน ธนาคารกลางออสเตรเลียลดดอกเบี้ย อินเดียน่าจะลดติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม และต้นเดือนพฤษภาคม มีมาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่ลดไปก่อนหน้านั้นแล้ว ฉะนั้นตอนนี้บรรยากาศของธนาคารกลางต่างๆมาในโหมดที่ระมัดระวังมากขึ้น และติดตามเรื่องความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
มีคำแนะนำให้กับแบงก์ชาติอย่างไรถึงค่าเงินบาทที่แข็ง ดอกเบี้ยก็ยังไม่ได้ลด ซึ่งไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งการส่งออก ขณะที่นักท่องเที่ยวก็หายไปเยอะ
คิดว่าโจทย์ของเศรษฐกิจไทย คือเรามีเครื่องมือหลายอย่าง มีเครื่องมือทั้งทางการคลังและเครื่องมือทางการเงิน นโยบายการเงินส่วนตัวคิดว่า กนง.คงชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นต่างๆซึ่งเขาดูมาโดยตลอดรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนส่วนตัวคิดว่าเราเข้าไปทำอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ถ้าจำกันได้คือเรากังวลกันว่าสหรัฐอเมริกาจะเอาชื่อเราไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงินที่ต้องติดตาม ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น แต่ส่วนตัวคิดว่า สะท้อนถึงนโยบายการเงินของเรา การไปเอื้อต่อเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนคงจะทำไม่ได้ แบงก์ชาติ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็คงชั่งน้ำหนักระหว่างเรื่องเสถียรภาพ เรื่องหนี้ เรื่องการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงในการลงทุน ที่มีความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องมาตรการทางการคลัง ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอรัฐบาลใหม่มาเป็นผู้ตัดสินว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร
เรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเยอะ ตรงนี้น่าเป็นห่วงหรือไม่
ในระยะใกล้ๆ 1-2 ปี อาจยังไม่มีผลอะไรมากต่อเศรษฐกิจไทย ระดับหนี้ของเราตอนนี้น่าจะอยู่ในประมาณ 78.6 ในไตรมาสแรก และคิดว่าคงใกล้ๆระดับนี้ตลอดในปีนี้ ประเด็นที่เราจะกังวลก็คือเมื่อดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้น การก่อหนี้ถ้าขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆถึงจุดหนึ่งมันจะมีผลในระยะกลาง ระยะยาว มากกว่าระยะสั้น ก็คืออัตราการออมของครัวเรือนจะถูกจำกัดโดยภาระหนี้ที่เขาแบกไว้ แล้วความสามารถในการออม ในการใช้จ่ายที่ลดลงเพราะเงินออมในอนาคตถูกใช้ในการก่อหนี้ไปแล้ว มันจะมีผลต่อการดำรงชีพของครัวเรือนเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอันนั้นจะเป็นโจทย์ระยะยาว ดังนั้น ในระยะสั้นคิดว่าคงมีผลไม่มากต่อศักยภาพของเศรษฐกิจในประเทศ และน่าจะไปมีผลในระยะกลางและยาวมากกว่า
อยากให้แนะนำรัฐบาลใหม่ ว่าควรทำอย่างไร
อย่างแรกคืองบประมาณปี 2563 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันคงทราบดี ถ้าเร่งผลตรงนี้ได้เร็ว การเบิกจ่ายต่างๆก็จะกลับมาปกติได้ ในการประมาณการมีข้อสงสัยถึงตัวเลขว่าจะได้หรือไม่ในเรื่องงบลงทุนในปีนี้
ส่วนเรื่องที่สองคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดการณ์กันว่าพอจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วคงมีนโยบายอะไรออกมา ตรงนี้การกระตุ้นก็แล้วแต่รัฐบาลจะให้น้ำหนักไปที่การบริโภคหรือการลงทุน การบริโภคก็มีข้อดีว่ามันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็ว การตอบสนองก็จะเร็ว แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะไปที่ภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจไทยยังสามารถลงทุนได้อีก และผลกระทบจากสงครามการค้า ก็น่าจะมีมาตรการเยียวยาออกมา แต่ในที่สุดแล้ว มันอยู่ที่การชั่งน้ำหนักและการพิจารณาของรัฐบาล