สงครามการค้ากลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อทรัมป์แถลงจะขึ้นอัตราภาษีขาเข้าจีน 10-25% หลังระงับไปหลายเดือน บรรยากาศตื่นตระหนกพาหุ้นตกไปทั่วสามทวีป
เดิมทีขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กับทีมเจรจาการค้ากับสหรัฐนำโดย เลี่ยว เห เตรียมเดินทางไปวอชิงตัน แต่พอทรัมป์ทวีตข้อความว่าจะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ ในอัตราระหว่าง 10% ถึง 25% ประธานาธิบดีสี่ก็สั่งงดเดินทางทันที โดยให้เหตุผลว่า ทีมเจรจาการค้าจีน จะไม่ยอมเจรจาภายใต้การข่มขู่เช่นนั้น
ดัชนีหุ้นกระเทือนไปทุกตลาดโดยเฉพาะจีน เพราะมิใช่แต่จะกระทบกระเทือนจีนฝ่ายเดียว สหรัฐเองก็จะโดนบูมเมอแรงสะท้อนกลับมาด้วย
เหตุด้วยอุตสาหกรรมหลายด้าน โดยเฉพาะด้านไอที กระเทือนหนัก เนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ไมโครชิปไปจนถึงแผงวงจรในคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และดิจิทัล จะมีต้นทุนสูงขึ้นทันที 10-25% ตามอัตราภาษีศุลกากรใหม่
ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐกกว่า 90% พึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย ฯลฯ ทั้งที่บริษัทจีนผลิตเอง และทั้งที่บริษัทอเมริกันไปผลิตในจีน
มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และธนาคารกลางแห่งนิวยอร์ก (Federal Reserve Bank of New York) ทำวิจัยผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐที่ผ่านมาว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสหรัฐด้านลบมากกว่าบวก เพราะแม้จีนจะได้รับผลกระทบรุนแรง แต่สหรัฐก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน
ภาษีขาเข้าที่เก็บได้นั้น แม้จะทำรายได้ให้รัฐบาล ทว่าในทางตรงกันข้าม กลับไปทำร้ายผู้บริโภค โดยผู้บริโภคอเมริกัน ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 3 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นจากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านดอลลาร์
บริษัทผลิตภัณฑ์ไอทีและไซบอร์เหล่านั้น ล้วนอยู่ในตลาดหุ้น ที่เมื่อเจอผลกระทบจากข่าวร้ายเช่นนั้น ราคาหุ้นย่อมตกกันระเนนระนาดเป็นธรรมดา ส่งผลมายังไทยด้วย เพราะตลาดสหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเทคโนโลยีของไทย ไม่ว่าจะแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ชิปเซ็ต และชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่นๆ
ซ้ำเติมตัวเลขส่งออกที่ลดต่ำผิดคาดในไตรมาสแรกของไทยอันเกิดจากมูลค่าการส่งออกลดลง โดยหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวฉุดสำคัญที่สุด
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐใช่แต่จะส่งผลกระทบต่อจีนและชาติที่ส่งสินค้าไปสหรัฐเท่านั้น หากแต่ยังกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งโลก
“มันกระทบทุกสิ่งทุกอย่างที่ เบิร์กไชร์ แฮท์ธะเวย์ เป็นเจ้าของ” วอเร็น บัฟเฟต ซีอีโอBerkshire Hathaway Inc กล่าว “ มันกระทบไปทั้งโลก”
อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีทั้ง 3 ตลาดของวอลล์สตรีทจะตกพรวดพราด แต่เมื่อตั้งสติได้ ก็จะกลับกลายเป็นการตีกลับที่น่าเก็บเกี่ยว
จิม เครเมอร์ อดีตผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์อันโด่งดังที่ผันมาเป็นนักวิจารณ์การลงทุนทางโทรทัศน์มองว่า ดัชนีลดลงเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อถูกข่าวร้ายทุบอย่างไม่คาดฝัน
“นักลงทุนจะทำใจได้ใน 2-3 วันถัดมา ก่อนที่จะตัดสินใจนำเงินกลับมาเทเข้าไปอีก”
ถ้าไม่มีอะไรมากระทบ มาทุบซ้ำ ดัชนีดาวน์โจนส์ก็คงจะกลับคืนสภาพปกติ