top of page
379208.jpg

อย่าด่วนสรุปเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง...เข้าไตรมาส 3 เห็นชัด!


Interview: ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส

Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย

 

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยโดยรวมฝากไว้กับความแน่นอนที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งทั่วไป วันอาทิตย์ 24 มีนาคม 2562 เพราะความชัดเจนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่านโยบายที่แต่ละพรรคใช้/ประกาศตอนหาเสียง อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และทิศทางเศรษฐกิจไทยจะมีความชัดเจน ต้องเข้าไตรมาส 3 ไปแล้วได้รัฐบาลกับนายกฯ/ผู้นำประเทศ ถึงตอนนั้นการลงทุนภาคเอกชนจึงจะกลับมา ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ 3-3.5% จากการรอความชัดเจนหลังเลือกตั้ง

- ตั้งความหวังไว้อย่างไรกับสถานการณ์หลังเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคมนี้

เราต้องมองว่าหลังเลือกตั้งเรื่องความแน่นอนน่าจะเกิดขึ้น เรื่องนโยบายต่างๆที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงจากแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีความชัดเจนขึ้น คิดว่าปัจจุบันความชัดเจนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ อาจจะสำคัญมากกว่านโยบายที่แต่ละพรรคประกาศในช่วงเริ่มต้น เพราะนโยบายมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่เข้าใจว่าหลายคนโดยเฉพาะนักลงทุนขอให้แน่นอนการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้มีความเรียบร้อย

- พูดง่ายๆ คือขอให้มีการเลือกตั้ง ส่วนจะว่ากันหลังเลือกตั้งเป็นอย่างไรดีกว่าไม่มีอะไร

ใช่ ซึ่งตรงนี้เราเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับอย่าง Brexit ของอังกฤษ พอใกล้วันตัดสินใจ Brexit ซึ่งที่จริงยังมีความไม่แน่นอนสูงแต่เงินปอนด์กับรีบาวด์ขึ้นมา เพราะนักลงทุนมองไปแล้วว่าอีกไม่นานความไม่แน่นอนตรงนี้น่าจะจบแล้ว เพราะฉะนั้นความไม่แน่นอนที่จะหายไปอาจจะเป็นผลบวกที่สำคัญต่อนักลงทุน

- ก่อนหน้านี้ดร.ทำบทความวิเคราะห์ต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ครั้นพอมาถึงตอนนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะไปอย่างไรต่อ

ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยเยอะและเหนือความคาดหมายของเรา คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งตอนแรกเรามองว่าคงชะลอลงแต่ไม่ได้มองว่ากระทบมากขนาดที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ เราคงต้องรอดูตรงนี้ไปอีกซักระยะหนึ่ง แต่คิดว่าปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเยอะตอนนี้ คือ ปัจจัยจากต่างประเทศมากกว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่กระทบการส่งออกเราก็เป็นเรื่องหลัก เรื่องรองลงมา คือ ราคาน้ำมัน ที่ตอนหลังปรับตัวสูงค่อนข้างเยอะ สังเกตเราตอนนี้ไปเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ก็กว่า 29 บาท เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังซื้อของคนทั่วไปโดนกระทบจากประเด็นนี้เหมือนกัน ไปจ่ายเงินที่ปั๊มเยอะขึ้นและไปจ่ายในหมวดอื่นลดน้อยลงไป

- ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาแล้วไม่ยอมอ่อน หรือเวลาอ่อนก็อ่อนนิดหน่อยแต่แข็งทีพรวดขึ้นมา เป็นปัญหาใหญ่ของส่งออกไทยเรา และกระทบเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ปีนี้ถ้าเราดูค่าเงินบาทมีความผันผวนค่อนข้างเยอะ พอผันผวนเยอะขนาดนี้ค่อนข้างที่จะไม่ชอบ คือ การนำเข้าและส่งออกเพราะผู้ส่งออกขายดอลลาร์ที่ได้มาประมาณมกราคม เรียกว่า เสียดายกันมาก เพราะกุมภาพันธ์อ่อนค่าขึ้นมาเยอะ เพราะฉะนั้นกำไรของผู้ส่งออกค่อนข้างคาดเดาลำบากก็เป็นปัญหาของผู้ส่งออก แต่ว่าค่าเงินบาทในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 31.6-31.7 บาท อยากจะแนะนำเชิญชวนผู้ส่งออกหันมาป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เรามองว่าในปีนี้มีโอกาสจะกลับไปแข็งค่าอีกรอบ อาจจะใกล้เข้าไป 31 บาท

- รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา หากเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าผิดปกติ สามารถสั่งให้แบงก์ชาติทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงโดยรัฐควักเงินอุดหนุน มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำแบบนี้

ในภาพรวมคงทำยาก แบงก์ชาติอาจไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพขนาดนั้นทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปได้ เพราะสิ่งที่ทำได้ของแบงก์ชาติในปัจจุบัน คือ ดูว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปแบงก์ชาติก็จะเข้าไปซื้อดอลลาร์ แบงก์ชาติซื้อคนเดียวคงจะขยับตลาดไม่ได้มากเท่าไหร่ แบงก์ชาติคงจะยากที่จะเข้าไปทำนโยบายที่สวนกระแสตลาด เพราะกระแสตลาดที่เกิดขึ้นในปีนี้มันเป็นกระแสดอลลาร์อ่อน มีการวิเคราะห์ตั้งแต่ดอลลาร์อ่อนเพราะธนาคารกลางสหรัฐ จากเดิมที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อคิดว่าอาจจะไม่ขึ้นแล้ว

อีกปัจจัยที่สำคัญกว่า คือ หลายคนมองว่าแนวนโยบายของทรัมป์ที่จะลดการขาดดุลการค้า สุดท้ายคงหนีไม่พ้นทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อน เพราะถ้าค่าเงินดอลลาร์ไม่อ่อนยังไงก็ต้องนำเข้าเยอะอยู่ดี ของนำเข้าก็ถูกอยู่ดี ทางออกทางเดียวของสหรัฐ คือ ค่าเงินดอลลาร์ต้องอ่อน

ถ้าแนวโน้มไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือทิศทางของดอลลาร์ที่จะอ่อนค่าไม่ว่าแบงก์ชาติไหนจะเข้าไปฝืนก็คงฝืนลำบาก ถ้ารัฐบาลจะทำนโยบายอะไรได้ก็คงจะต้องหันมามองเรื่องทำอย่างไรให้ผู้ส่งออกเราเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น อาจจะต้องมาช่วยในส่วนนั้นแทน

- แล้วฝั่งยุโรป Brexit หรือในเรื่องอื่นๆ จะกระทบไทยขนาดไหน

ในส่วนของ Brexit คิดว่าผลกระทบค่อนข้างน้อยเพราะเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเติบโตน้อยอยู่แล้วในยูโรโดยรวม เราไม่มีความคาดหวังเรื่องส่งออกไปยุโรปมากมาย เราไม่ได้คิดว่า Brexit จะทำให้สถานการณ์ในยุโรปจะแย่ลงไปกว่าสิ่งที่เป็นอยู่แล้วในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นปัจจุบันสิ่งที่เราคิดว่าเป็นประเด็นเดียวของ Brexit คือ ความผันผวนระยะสั้นของค่าเงิน อย่างพอใกล้ๆจะจบ Brexit ไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือไม่ดี ตลาดการเงินมีแนวโน้มจะไปทางบวก ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น เพราะความไม่แน่นอนตรงนี้หมดไป อันนี้คือช่วงสั้นๆ เท่านั้น

- มองเศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน และหลังเลือกตั้งความคึกคักของธุรกิจและเศรษฐกิจมีทิศทางอย่างไร

สำหรับในครึ่งปีแรกทางกรุงไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ 3-3.5% เรียกว่าอาจจะลดลงมาจาก 4% ที่เราเห็นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และยังมองไปถึงช่วงไตรมาส 2 อาจจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอาจจะชะลองเพราะคนคงจะรอว่าหลังเลือกตั้งไปแล้วมีความชัดเจนขนาดไหน และใครคือผู้ที่จะมาบริหารประเทศต่อไป เรื่องของการลงทุนต่างๆอาจจะชะลอไปก่อนเพื่อรอดูแนวนโยบาย รวมถึงแรงกระตุ้นในช่วงสั้นๆ ก่อนเลือกตั้ง เช่น การโฆษณาหาเสียงหรือการจัดอีเวนต์ต่างๆ จะหมดไป เพราฉะนั้นไตรมาส 2 กิจกรรมต่างๆพวกนี้จะชะลอลง

ในส่วนของภาคอสังหาฯ ก็เช่นกัน ในไตรมาส 2 มีโอกาสชะลอเหมือนกันเพราะว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเร่งให้เสร็จของโครงการเพื่อให้โอนก่อนมาตรการของแบงก์ชาติที่จะดำเนินการเรื่อง LTV ต้องวางดาวน์กันมากขึ้น ภาคอสังหาฯอาจจะชะลอลงบ้างเพราะขายไปเยอะแล้ว

ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอลงไปหน่อยและดูว่าในไตรมาส 3 ตามไทม์ไลน์ที่มองกันไว้น่าจะมีความชัดเจนได้รัฐบาล มีนายกฯ เรียบร้อย ภายในเดือน 6 ในไตรมาส 3 เราก็มองว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐในโครงการต่างๆ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนจะกลับมาอีกครั้ง

25 views
bottom of page