top of page
379208.jpg

เอสซีจี แถลงผลประกอบการปี 2561 พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์เสริมแกร่ง มุ่งสร้างโซลูชั่นครบวงจร


กรุงเทพฯ : 30 มกราคม 2562 – ผลประกอบการเอสซีจีปี 2561 กำไรลดลงจากธุรกิจเคมิคอลส์ ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้งเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้านธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีแนวโน้มดีขึ้น พร้อมมุ่งเดินหน้า 2 กลยุทธ์หลักในปี 2562 เน้นสร้างเสถียรภาพทางการเงินและบริหารจัดการความเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยการส่งมอบโซลูชั่นครบวงจรและโมเดลธุรกิจใหม่ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพชั้นนำในหลากหลายภูมิภาคและสถาบันวิจัยทั่วโลก พร้อมเร่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าทั่วภูมิภาค

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2561 มีรายได้จากการขาย 478,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 44,748 ล้านบาท แต่ลดลงร้อยละ 19 จากปีก่อน จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสถานการณ์สงครามการค้า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน และเงินบาทแข็งค่า จึงส่งผลต่อภาพรวมผลประกอบการของเอสซีจี

โดยปี 2561 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) 184,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม

สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 117,223 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของตลาดในประเทศของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยมีกำไรสำหรับงวด 10,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน จากเงินปันผลรับจากเงินลงทุนของธุรกิจเคมิคอลส์และการลงทุนในธุรกิจอื่น แต่ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออก 130,895 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 118,014 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของรายได้จากการขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ86,155 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 รายได้จากการขายรวม

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีมูลค่า 589,787 ล้านบาท โดยร้อยละ 28 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในปี 2561 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 221,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ7 จากปีก่อน จากปริมาณการขายและราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับปี 29,166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 จากปีก่อน จากวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลง รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมลดลง

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 53,905 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,415 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมลดลง และมีการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 182,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน ตามการขยายตัวของความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ และการขยายตัวของการก่อสร้างในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับปี 5,984ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ทั้งนี้ เมื่อไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี กำไรสำหรับปีจะเท่ากับ 7,304 ล้านบาท

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 45,728 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของการก่อสร้างในประเทศไทยและในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 488 จากไตรมาสก่อน ผลจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นในไทยและภูมิภาคอาเซียน

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 87,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 6,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากปีก่อน จากโครงการลดต้นทุนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เติบโตต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 21,283 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายที่ลดลงทั้งในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,492 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “ปี 2562 นี้ เอสซีจียังคงเน้น 2 กลยุทธ์หลัก คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน (Stability) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของเอสซีจีโดยรวมในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผลประกอบการของอุตสาหกรรมในภาพรวม อีกทั้งฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่งเช่นกัน โดยมีสัดส่วน Net Debt to EBITDA อยู่ที่ 1.7 เท่า ขณะที่เงินกู้เกือบทั้งหมดเป็นเงินบาทและเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่กว่าร้อยละ 90 ส่วนกระแสเงินสดมีเสถียรภาพจากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักที่มั่นคง

อีกกลยุทธ์ คือ การบริหารจัดการความเติบโตของธุรกิจในระยะยาว (Long-term Growth) โดยนอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ปีนี้เอสซีจีจะมุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบเบ็ดเสร็จ ครบครันยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นของธุรกิจเคมิคอลส์ เช่น การให้บริการสารเคลือบเตาเผาเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับอุตสาหกรรม และการให้บริการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ ติดตั้ง และบริการหลังการขาย ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่มุ่งเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร พร้อมขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การให้บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ร่วมกับลูกค้า กระทั่งการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตซ้ำอีกครั้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เช่น โซลูชั่นการก่อสร้าง (Construction Solutions) ที่ผนวกความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูง พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัย มาพัฒนาเป็น 9 โซลูชั่นหลัก เช่น Life-time Solution ที่ให้บริการสำรวจความเสียหายโครงสร้างอาคารด้วยอุปกรณ์ทางวิศวกรรมที่แม่นยำ ก่อนออกแบบวิธีการ ดำเนินการต่อเติม และเสริมกำลังโครงสร้างให้เบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ เอสซีจียังมุ่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ นั้น เอสซีจีจะมีทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า, Blockchain ซึ่งเป็นระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและคู่ค้าโดยอัตโนมัติ ให้สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การพัฒนา Robotic Process Automation (RPA) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของระบบการผลิต ให้สินค้าผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพและทันความต้องการของตลาด และการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep technology) ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต เช่น New advanced materials, Clean technology เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตลอด Value chain ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนได้มากขึ้น และเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการมุ่งพัฒนาศักยภาพพนักงานภายใน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ผสานการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Agile Organization) การส่งเสริมกระบวนการคิดเพื่อออกแบบสินค้าและบริการด้วย Design Thinking ตลอดจนการส่งเสริมการทำงานแบบสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยให้เข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว ผ่านโครงการ “Internal Startup” ซึ่งช่วยพัฒนาผู้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าและธุรกิจที่มีกว่า 100 ทีม ให้สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจให้ตรงความต้องการของตลาดได้แล้วกว่า 40 ทีม เช่น การทำแพลทฟอร์มรวบรวมกล่องอาหารเดลิเวอรี่พร้อมบริการสั่งทำโลโก้ที่เหมาะกับทุกรูปแบบธุรกิจ หรือระบบบริหารลูกค้าและติดตามการขายสำหรับร้านวัสดุก่อสร้าง

อีกด้านหนึ่ง คือ การมุ่งสร้างความร่วมมือกับภายนอก (Open Collaboration)ทั้งการลงทุนในสตาร์ทอัพชั้นนำในหลากหลายภูมิภาค ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสอดคล้องกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ผ่าน “AddVentures” พร้อมเข้าไปเสริมศักยภาพให้สตาร์ทอัพที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ 10 ราย เช่น แพลทฟอร์มที่ช่วยค้นหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อมาต่อยอดธุรกิจด้านดิจิทัล หรือบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ รวมถึงการต่อยอดโครงการร่วมมือเชิงพาณิชย์กับบริษัทด้านเทคโนโลยีเกือบ 100โครงการ เพื่อนำนวัตกรรมของสตาร์ทอัพเหล่านั้นมาต่อยอดกับธุรกิจหลักหรือสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของเอสซีจี ตลอดจนการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั่วโลก โดยมี Open Innovation Center เป็นศูนย์กลางให้เกิดเครือข่ายการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในระยะยาว เอสซีจีจะยังเดินหน้าขยายโอกาสส่งออกนวัตกรรมสินค้าและบริการ ตามทิศทางตลาดโลกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้ในอนาคต ทั้งตลาดอาเซียนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดจนตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและเติบโตรวดเร็ว เช่น การส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ไปยังตลาดจีน และการรุกธุรกิจค้าปลีกและโลจิสติกส์ในภูมิภาคต่างๆ ด้วย”

อนึ่ง คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 18.00 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท เป็นเงิน 10,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 9.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 11,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2562 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 3 เมษายน 2562) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 19เมษายน 2562 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี

2 views
bottom of page