ในบรรดา 10 ภัยเสี่ยง (economic risks) ที่สุดของปี 2019 ภัยแรกคือ Brexit เริ่มสำแดงเดชแล้ว
Brexit เป็นสัญญาณเตือนโลกว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนไป จาก Globalization โลกไร้พรมแดน มาเป็น Deglobalization โลกที่อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน
การตั้งสหภาพยุโรปที่มีสมาชิกประเทศถึง 29 ประเทศนั้น หัวใจสำคัญคือโลกไร้พรมแดนภายในทวีปยุโรป ที่ครอบคลุมตั้งแต่การข้ามพรมแดนไปจนถึงเขตปลอดภาษีในรูปของ Common Market
Common Market คำนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ที่ยุโรปรวมตัวกันเป็น European Economic Community ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ European Union สหภาพยุโรป (EU) ใช้สกุลเงินร่วมกันคือ Euro นอกเหนือจากสกุลเงินท้องถิ่นหรือของแต่ละประเทศ
ยกเว้นอังกฤษ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินยูโร เพราะปอนด์เป็นเงินสกุลหลักของโลกรองจากดอลลาร์สหรัฐมานานแสนนานแล้ว
ไม่เพียงแต่สินค้าและบริการที่แต่ละประเทศสมาชิก จะสามารถนำเข้าหรือส่งออกระหว่างกันโดยเสรีเท่านั้น ในส่วนแรงงานและทุนก็ยังสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรีเช่นกัน
แรกตั้งก็ดูดี เป็นปึกแผ่น ทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ จนดูราวกับว่า “ประเทศสหภาพยุโรป” เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกเคียงคู่กับสหรัฐ แต่จากการที่ปฏิญญามีเนื้อหาครอบคลุมถึงการเมือง กฎหมาย สังคมฯลฯเช่นมีรัฐสภายุโรป (European Parliament) ศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) เพื่อออกกฎหมายและแก้ไขข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรป ทุกด้าน
ทำให้เกิดความอึดอัดสำหรับบางประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจโลก เพราะดูคล้ายกับอียูเป็นอำนาจซ้อนอำนาจรัฐบาลของตน
ด้านเศรษฐกิจ ดูคล้ายกับว่า อียูจะสร้างภาระฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่มีฐานะดีกว่าเพื่อนๆ อย่างกรณีที่ต้องแบกรับภาระกรีซมิให้ล้มละลายเป็นต้น
นอกจากการที่ฝั่งอเมริกาเหนือ ที่รวมตัวกันหลวมๆด้านเศรษฐกิจเช่นกันเป็น North American Free Trade Agreement (NAFTA) ที่สหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่นั้น สหรัฐเป็นฝ่าย “ขาย” มากกว่าซื้อ จึงทำให้ไม่ค่อยมีบทบาทในการค้ากับกลุ่มอื่นๆมากนัก จนเมื่อเกิดภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) 2008-2010 ยุโรปและคู่ค้าสำคัญของสหรัฐพากันถดถอยตาม
ขณะที่สหรัฐใช้มาตรการผ่อนปรน QE ดอกเบี้ย Fed 0% อียูกับญี่ปุ่น ก็ใช้ตาม ซ้ำเลิกใช้ช้ากว่า...ภาวะถดถอย การค้าของโลกตกต่ำ โดยอัตราเติบโตเหลือ 2-3% ทำให้ความเป็นโลกไร้พรมแดนคลอนแคลน
สหรัฐเป็นตัวนำ เริ่มจากการถอนตัวจาก TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) ในฐานที่สหรัฐมีอาณาเขตจรดมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้าน โดยไทยเป็นสมาชิกในปี 2012
ต่อมากลุ่ม G20 ที่มีสมาชิกเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในโลก 20 ประเทศรวมถึง EU สหรัฐก็ทำเกเร จนล่าสุด World Economic Forum (WEF) ที่จะมีการประชุมประจำปีกันที่เมืองดาวอส 22-25 ม.ค.นี้ ผู้นำสหรัฐทำท่าจะเบี้ยวอีก
เพราะนอกจากจะมีการประชุมเรื่องโลก 4.0 แล้ว ยังจะพูดกันถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ด้วย ซึ่งสหรัฐไม่เอาด้วย เพราะได้ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสแล้ว
โดยสหรัฐไม่ยอมลดมลภาวะอันเกิดจากควันที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่บางส่วนยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพราะเป็นพลังงานราคาถูกที่สุด
เป็นไปตามทฤษฎีที่ว่า เมื่อสถานการณ์การค้าตกต่ำเมื่อใด ชาติที่เสียหายทางการค้ามากที่สุด ซึ่งมักจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จะแยกตัวจากกลุ่มหรือเขตการค้าเสรี (Customs Union)
อังกฤษก็เป็นเช่นนั้น Brexit พยายามออกจากอียูโดยไม่มีเงื่อนไข (No Deal)
การลงมติว่า การออกจากสมาชิกภาพอียู ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 ม.ค.คว่ำข้อตกลง เงื่อนไขที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ทำไว้ขาดลอย กระเทือนไปทั้งโลกเหมือนกัน ค่าเงินปอนด์อ่อนยวบโดยไม่รู้สาเหตุ แต่ก็มีข่าวลือว่า เครดิตสวิต แนะนำลูกค้าของตนให้ย้ายฐานจากประเทศอังกฤษไปอยู่ประเทศอื่น ทำให้มีการเทขายสินทรัพย์ในอังกฤษกันมาก
Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษาการเงินสำคัญของโลก เปิดเผยว่า นักการเงินการธนาคาร ย้ายออกจากลอนดอนกันมาก อาจจะถึง 40,000 คน ทำให้ดัชนีหุ้นของอังกฤษลดลงถึง 7% ในช่วงปีที่ผ่านมา ต่างจากดัชนีเฉลี่ย ลด 3% ของโลก
อังกฤษยื่นถอนตัวจากอียูเมื่อ 23 มิ.ย. 2016 และมีผลในวันที่ 29 มีนาคม ศกนี้
นางเมย์แม้จะแพ้โหวต เรื่องแผน Brexit ไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ทว่ายังไม่ยอมลาออก ยังมีทางออกอีกทางคือ Plan B ที่จะยื่นเข้าสภาในสัปดาห์หน้า พบกันครึ่งทางระหว่าง มีเงื่อนไขชดใช้ค่าเสียหายให้ อียูและอื่นๆ กับ ไม่มีเงื่อนไข ขาดสะบั้น no deal กันไปเลย
ผลกระทบนั้น ย่อมมีต่อตลาดทุน ตลาดเงินตรา ตลาดหุ้นทั่วโลก ตามประสาคนขวัญอ่อนในยุคเศรษฐกิจส่ออาการเป็นขาลงในยามนี้