top of page
369286.jpg

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ


วันนี้ .. ชั่วโมงนี้ .. นาทีนี้ หากไม่พูดเรื่อง ปัญหามลพิษ ฝุ่น หมอก ควัน ถือว่าไม่ให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ หลังจากที่ประชาชนทั่วบ้านทั่วเมืองพูดกันแต่เรื่องนี้แบบเครียดมั่ง/ไม่เครียดมั่ง มาหลายวัน จนที่สุดแม้แต่นายกลุงตู่ก็ยังหันมาให้ความสำคัญ ไปพูดเรื่องนี้ถึงลำปางตอนที่ไปตะลอนทัวร์ ครม.สัญจร

ผู้คนใน กทม. หาซื้อหน้ากากมาใส่กันจนขาดตลาด ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยมีอาการระคายคอ ไอ แสบตา หลายคนตื่นขึ้นมาหายใจสูดเข้าไปเต็มปอด เพราะนึกว่าอากาศดีมีหมอกบางๆ ในตอนเช้า

เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ และควรใส่ใจกันอย่างจริงจัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเรื่องผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน ที่แขวนลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศในขณะนี้ว่ามีผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยจ้าาาา ... แต่เป็นปัญหาที่ในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือเจออยู่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว/แล้ง

สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัญหานี้ก็เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จากนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายไป จนช่วงปลายปี 2561 ถึงปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ได้กลับมารุนแรงและเกิดเป็นระยะเวลาที่นานและถี่ขึ้น

เมื่อประกอบกับกระแสโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ต้องติดตามและควรที่จะมีการประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก และแน่นอนกระทบทางเศรษฐกิจด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ

ทั้งนี้ แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น

จากข้อมูลสถิติพบว่า จำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เป็นโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ มีไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านคน เทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 11 ล้านคน ขณะที่ จำนวนผู้ที่เจ็บป่วยจากปัญหาฝุ่นละอองนี้ อาจจะยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่ชัด ณ ขณะนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินโดยใช้สมมติฐานว่า ประมาณ 50% ของจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจมีอาการเจ็บป่วยจนจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ในช่วงนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และมีค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ และค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพการงานเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,000 บาท

ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับหน้ากากอนามัยนั้น เฉลี่ยขั้นต่ำที่ 22.5 บาท/วัน ในกรอบเวลา 7-30 วัน คำนวณจาก 40% ของจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ และ 10% ของจำนวนประชากรในปริมณฑล ส่งผลให้ค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพทั้งการรักษาและการป้องกันในเบื้องต้นคิดเป็นเม็ดเงินราว 1,600-3,100 ล้านบาท ...

ทำเป็นเล่นไป ...นี่ไม่ใช่เงินน้อยๆ เลยนะ

2. ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวจากเดิมที่มีแผนจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นของไทย โดยในกรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่สามารถปรับแผนการเดินทางได้ เปลี่ยนเส้นทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นแทน ในกรณีหลังนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย

ล่าสุดสื่อต่างประเทศ เริ่มมีการกล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองในไทยหลังจากที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก แล้วด้วย

ทั้งนี้ กรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคนต่อเดือน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อเดือน

สำหรับสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกำหนดให้ราว 1-2% ของนักท่องเที่ยวมีการหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มที่มีแผนเดินทางมาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ อาจจะปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบแทน ส่งผลให้เม็ดเงินค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1,000-3,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5-4.5% ของรายได้ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่ประเมิน

โดยสรุปแล้ว ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว ในเบื้องต้นอาจคิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือไม่เกิน 1 เดือนซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้น เป็นการประมาณการในเบื้องต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขนาดของผลกระทบทั้งหมดที่แท้จริง คงจะยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้านระยะเวลาและความรุนแรงของปัญหา รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้วย ซึ่งภาครัฐก็ได้มีการดำเนินการเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการฝนหลวง การควบคุมและตรวจสอบรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ การฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนนเพื่อกำจัดฝุ่นละออง รวมถึงการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวมองว่า การศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานว่าเกิดจากจากปัจจัยใดในน้ำหนักเท่าไร เช่น รถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ผังเมือง หรือสภาพภูมิอากาศที่ปิด เป็นต้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเพื่อให้สามารถวางแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น

และหากพิจารณาบทเรียนจากต่างประเทศที่ก็ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานหรือมลพิษทางอากาศเช่นกันแล้ว พบว่า ทางการของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ล้วนให้ความสำคัญกับปัญหานี้ โดยมีการวางแผนปฏิบัติการระยะยาว (Action Plan) พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ เช่น ประเทศจีน มี Action Plan เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองต่างๆ ซึ่งอาศัยหลายมาตรการพร้อมๆ กัน อีกทั้งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทั้งการปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน การห้ามเผาถ่านหินเพื่อสร้างความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว การปลูกต้นไม้ การย้ายโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับหลายประเทศในยุโรป มีแนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การขอความร่วมมือประชาชนให้ลดการใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถสาธารณะแทน รวมถึงลดการใช้รถส่วนตัวในช่วงวันหยุด นอกจากนี้ ยังได้มีการขอความร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมให้ลดการใช้พลังงาน/การปล่อยก๊าซ ขณะที่แผนในการแก้ปัญหาระยะยาว ก็มีการใช้หลายแนวทาง อาทิ การส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า การรณรงค์ให้มีการใช้จักรยานด้วยการสร้างเส้นทางการขับขี่ที่ปลอดภัย การใช้รถโดยสารสาธารณะ การจำกัดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งในเขตเมือง ฯลฯ

“ประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศและเรื่องสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ยังประเมินออกมาเป็นมูลค่าผลกระทบอย่างชัดเจนได้ยาก ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว/ความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนผลต่อภาพรวมของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ทางการมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจทั้งการท่องเที่ยว การแพทย์ และอื่นๆ ในเวทีโลก ซึ่งหากปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากประเด็นสุขภาพของประชาชนแล้ว จะเป็นผลบวกต่อสถานะของไทยในการส่งเสริมการเป็นฮับด้านต่างๆ ดังกล่าวด้วย”

26 views
bottom of page