top of page
379208.jpg

เม่าติดดอยรับลมหนาว ลุ้นเม็ดเงิน LTF ดันดัชนี


10 เดือนนักลงทุนต่างชาติสลัดทิ้งขายหุ้นไทยไม่ยั้ง ยอดขายสุทธิร่วม 300,000 ล้านบาท ขายมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากไต้หวัน เฉพาะเดือนตุลาอาถรรพ์ขายต่อเนื่องติดต่อกัน 17 วันไม่มีเบรกมากกว่า 62,000 ล้านบาท นักลงทุนไทยที่ติดดอยรับลมหนาวชิลๆไปก่อน คาดไม่สามารถกลับขึ้นไปได้ในเร็ววันเนื่องจากยังขาดปัจจัยใหม่มากระตุ้น ลุ้นเม็ดเงิน LTF เข้าซื้อขายดันดัชนียากเหมือนเอาไม้ซีกงัดไม้ซุง แถมหมดหวังจะเอาข่าวผลประกอบการไตรมาส 3/2561 มาอุ้มชู SET Index 2,000 จุดต้องรอลุ้นปีหน้า

2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 กลายเป็น 2 เดือนที่นักลงทุนอาจลุ้นหุ้นขึ้นไปได้ไม่ได้ไกลถึง 1,800-1900-2,000 จุด อย่างที่เคยตั้งเป้ากันไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่เจอมรสุมปัจจัยลบต่างๆ ถล่มยับ ดัชนีส่งท้ายปีกลับไปยืนเหนือกรอบ 1,700-1750 จุดได้ก็ชื่นใจแล้ว

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ต่างให้คำแนะนำว่า ให้ความระวัดระวังในช่วงจากนี้ที่หุ้นจะยังคงมีความผันผวนต่อไปเนื่องจากเป็นตลาดหมีอ่อนๆ แต่ไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะปี 2562 ยังมีลุ้น ดีชี 2,000 จุดได้อยู่

ตัวเลขการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพียง 10 เดือนแรกขายสุทธิมากเกือบ 300,000 ล้านบาทเลยทีเดียว และเชื่อว่าจากสถานการณ์ที่ยังเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดหุ้น ทั้งเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ แนวโน้มทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคมของเฟด กรณีสงครามการค้าที่ยังไม่ดีขึ้น การปรับลดลงต่อของตลาดหุ้นอเมริกา จะได้เห็นการขายของนักลงทุนต่างชาติต่อในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีจะขายสุทธิมากกว่า 300,000 ล้านบาท

บล.เอเซียพลัสนำสถิติการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติมาเปิดเผยว่า ไทยไม่ใช่ตลาดเดียวที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นจนรั่ว โดยขายทั้งเอเชีย แต่แม้ไม่ได้ขายไทยตลาดเดียวแต่ก็ขายไทยหนักที่สุด มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากตลาดหุ้นไต้หวัน

“แรงขายหุ้นไทยของต่างชาติ ก็สอดคล้องกับแรงขายหุ้นภูมิภาค โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นภูมิภาค 373 ล้านดอลลาร์ เป็นการขายติดต่อกันเป็นวันที่ 19 แล้ว ทำให้ยอดขายในเดือนตุลาคมสูงเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ในปีนี้ คือ ขายราว 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์

หากมาดูรายประเทศ พบว่าเดือนตุลาคม ต่างชาติขายหุ้นไต้หวันมากสุด 5.26 พันล้านดอลลาร์รองลงมาคือเกาหลีใต้ ขาย 3.96 พันล้านดอลลาร์, ไทยขาย 1.87 พันล้านดอลลาร์ , อินโดนีเซีย ขาย 372 ล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ ขาย 182 ล้านดอลลาร์

เมื่อดูรายปี พบว่า นับจากต้นปี 2561 มา ตลาดหุ้นที่ถูกขายมากสุด คือ ไต้หวัน โดนขาย 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่อันดับสองเป็น หุ้นไทย ถูกขาย 8.38 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยเกาหลีใต้ ขาย 6.05 พันล้านดอลลาร์ , อินโดนีเซีย ขาย 4.06 พันล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ ขาย 1.75 พันล้านดอลลาร์

สำหรับตลาดหุ้น ช่วงที่ผ่านมา ถูกขายติดต่อกัน 17 วันทำการ ทำให้ยอดขายสะสมสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในปี 2561 ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เกือบ 300,000 ล้านบาท”

บล.เอเซียพลัสระบุอีกว่า ตราบใดที่ตลาดหุ้นโลกยังคงผันผวน นักลงทุนต่างชาติย่อมโยกเงินไปลงทุนสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น ทองคำ จะเห็นว่าตลอดเดือนตุลาคม ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 3.3% และตราสารหนี้ถูกซื้อสุทธิมากขึ้น โดยเดือนต.ค.ต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทระยะยาวอีก 2.89 หมื่นล้านบาท

หนุนให้ยอดซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยระยะยาวตลอดทั้งปี สูงถึง 2.05 แสนล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิทุกเดือนในปี 2561 นี้ด้วย

เป็นที่รู้กันว่า เมื่อต่างชาติยังขายหนักก็ยากที่จะเห็นหุ้นไทยขึ้นได้ในเวลาอันใกล้นี้ แม้ว่าในช่วงโค้งท้ายปลายปี จะมีเม็ดเงิน LTF เข้ามาหนุนอย่างที่เคยๆ แต่เงินจาก LTF ก็เปรียบเหมือนไม้ซีกงัดไม้ซุง ต่อให้รวมกับพลังการซื้อด้วยเม็ดเงินเพิ่มเติมจากบรรดานักลงทุนสถาบัน กองทุนต่างๆ ก็คงสู้แรงขายต่างชาติไม่ได้ ขณะที่ตลาดยังคงขาดปัจจัยใหม่มาหนุน

ดังนั้นในช่วงจังหวะเช่นนี้นักลงทุนจึงได้รับคำแนะนำให้ลงทุนระยะสั้น หรือไม่ก็ทำตัวเป็นนักลงทุนระยะยาวมากแบบทันถือหุ้นได้ 2-3 ปีกันเลยทีเดียว

อนึ่ง ในส่วนของ LTF เองก็กำลังมีปัญหาในตัวเอง เนื่องจากกำลังจะหมดช่วงแคมเปญสิทธิทางภาษีในเดือนธันวาคม 2562 นี้ และจะกลับกลายเป็นประเด็นมาให้คุยอีกว่าเงิน LTF ที่จะมาช่วยหนุนตลาดอาจจะกลายเป็นตัวขายกดดันตลาดในระยะต่อไป เนื่องจาก สถานะของ LTF ณ 31 กรกฎาคม 2561 มีจํานวน 87 กอง มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 3.78 แสนล้านบาท ซึ่งประเมินกันว่าหากไม่ต่ออายุ จะกระทบ SET Index ใน 2 ระดับ 1) การขาดเม็ดเงินใหม่ เข้ามาหนุนตลาด ซึ่ง LTF ต่อปีประมาณ 6 – 6.5 หมื่นล้านบาท 2) อาจเกิดแรงขายจากส่วนที่ ครบอายุการได้สิทธิภาษี 5 ปีปฏิทิน และ 7 ปีปฏิทินในส่วนที่ซื้อปี 2559-2562 มูลค่าราว 2.2 แสนล้านบาท ที่สามารถขายได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

4 views
bottom of page