ธ.ก.ส. เดินหน้าพัฒนาอาชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แจ้งความประสงค์ ทั้งการพัฒนาอาชีพเดิม การสร้างอาชีพเสริม และการปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ผ่านโครงการฝึกอาชีพของหน่วยงานต่างๆ และการให้ความรู้ทางการเงิน จาก ธ.ก.ส. แล้ว กว่า 2.7 ล้านราย พร้อมสนับสนุนสหกรณ์ และ SMAEs ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนสร้างรายได้
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะเยี่ยมชมการดำเนินงานการพัฒนารายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกรอย่างยั่งยืนโดยมี นายสมภพ รอดกลาง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้การต้อนรับ ณ ชุมชนบ้านป่าซางวิวัฒน์ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย
นายสมภพ รอดกลาง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการแกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การพัฒนารายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและอยู่ในความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. จำนวน 4,086,035 ราย โดยมีผู้มาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการจำนวน 4,051,454 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ประสงค์พัฒนาตนเองตามโครงการ ด้วยการฝึกอบรมและเสริมทักษะ
ด้านอาชีพ จากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการให้ความรู้ทางการเงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 2,765,335 ราย และไม่ประสงค์พัฒนาแต่ต้องการดำรงชีวิตพอเพียง จำนวน 1,286,119 ราย
ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาอาชีพเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการ ธ.ก.ส. ได้มีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการด้านการเกษตรในพื้นที่ หรือ SMAEs และองค์กรของเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนในการรับซื้อผลผลิต การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ ให้ผู้มีรายได้น้อยในทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 172 แห่ง และ SMAEs จำนวน 7,574 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยแบบครบวงจรผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ
ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย มาตรการลดภาระหนี้สิน ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 657,080 ราย จำนวนเงิน 155,631 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ จำนวน3,022 ราย จำนวนเงิน 247 ล้านบาท 3.โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน จำนวน 76,383 ราย จำนวนเงิน 3,692 ล้านบาท 4.โครงการชำระดีมีคืน จำนวน 1,235,279 ราย จำนวนเงิน 2,630 ล้านบาท 5.โครงการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 2,518 ราย วงเงิน 73 ล้านบาท มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพ(XYZ) จำนวน 252 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย จำนวน 41,767 ราย จำนวนเงิน 1,908 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาตนเอง ได้แก่ 1.โครงการให้ความรู้ทางการเงิน จำนวน 984,469 ราย 2. โครงการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนทวีสุข จำนวน 26,499 ราย จำนวนเงิน 30 ล้านบาท
นายสมภพ รอดกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงราย เกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 129,851ราย มาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 129,019 ราย ประสงค์พัฒนาตามโครงการ จำนวน 99,068 ราย และต้องการดำรงชีวิตพอเพียง จำนวน 29,951 ราย สำหรับชุมชนบ้านป่าซางวิวัฒน์ เกษตรกร มีอาชีพหลักในการทำนาและปลูกสับปะรด ซึ่งมักประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และปัจจัยการผลิตมีราคาสูง
เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส และหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านจึงรวมตัวตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยดึงจุดเด่นของท้องถิ่น ทั้งด้านทรัพยากรและความรู้อันเกิดจากภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมา เช่น กลุ่มผลิตข้าวปลอดสารพิษ กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปสับปะรดและสมุนไพรซางคำ กลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มแปรรูปหมู กลุ่มผลิตปูนาและหนูพุก กลุ่มแปรรูปใยสับปะรดเป็นกระดาษสา กลุ่มนวดแบบหมอพื้นบ้านล้านนาโบราณ เป็นต้น จนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชนและทำให้สมาชิกซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย มีรายได้เพิ่มขึ้น