top of page
358556.jpg

รับมือดอกขึ้น-ต้นทุนเพิ่ม

Interview: ดร.พชรพจน์ นันทรามาศผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย

ยืนยัน...สงครามการค้าโลกไม่น่ากลัว มีผลกระทบต่อไทยแค่จิ๊บๆ แต่เตือนให้ระวัง-จับตาราคาน้ำมันที่ยังสูงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งไทยโดยเฉพาะภาคการเกษตรเช่นยางพาราไม่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันแพงเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งต้องเตรียมรับมือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยใน 6 เดือนถึง 1 ปีที่มีโอกาสปรับขึ้นค่อนข้างชัดเจน เห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ออกหุ้นกู้กันมากกว่าปกติ เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำก่อนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แนะ...กิจการขนาดเล็กคุยกับแบงก์เพื่อขอปลดล็อกดอกเบี้ยแบบ Fixed Rate มาเป็นแบบลอยตัว และให้แบงก์ช่วยเหลือ-แนะนำเพื่อตั้งรับต้นทุนจากดอกเบี้ยที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ประเมินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างไร

คิดว่าเฟดน่าจะทำตามที่พูดไว้ คือขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในเดือนนี้ และอีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม ทุกคนมองว่าน่าจะแน่นอนแล้ว เพราะเมื่อดูเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเปิดประเด็นสงครามการค้ากับเขาไปทั่ว แต่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็ยังแข็งแกร่งที่สุด ยังเดินหน้าต่อไป ขณะที่เฟดก็ไม่ได้มีทางเลือกอะไรนอกจากที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร

เรื่องเฟดกับผลกระทบโดยตรงกับเราไม่ถือว่าเยอะ เพราะเท่าที่ผ่านมา เฟดขึ้นดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาก็ขึ้นไป แต่ผลกระทบต่อเราไม่มาก อย่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของเรามีผลตอบแทนต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป ก็อาจจะขึ้นตามกันบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ต้นทุนทางการเงินบ้านเราสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แล้วที่ห่วงกันว่าเมื่อเฟดขึ้น ดอกเบี้ยจะทำให้เงินไหลออกเยอะๆ หรือจะทำให้ตลาดหุ้นเราร่วงหรือไม่ ก็ไม่ได้เกิดผลอย่างนั้น ฉะนั้นถ้าเราดูเฟดอย่างเดียว ผลกระทบน้อยมาก

ทาง กนง.ตรึงดอกเบี้ยเป็นงวดที่ 27 แล้ว และอาจจะมีการตรึงไปจนถึงปลายปี ถือว่าสวนทางกับนโยบายของเฟดหรือไม่

ของเราจริงๆถือว่าโชคดี เพราะเราไม่ต้องไปมองเฟดมากนักในการทำนโยบายการเงินของไทย เราสามารถคงดอกเบี้ยไว้ได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็ดี หรือฟิลิปปินส์ก็ดี ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขึ้นดอกเบี้ยกันเยอะแยะไปหมด ทีมวิจัยของกรุงไทยเรามองว่า ไทยจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยหรือเปล่า ก็อาจไม่จำเป็น เพียงแต่ทางแบงก์ชาติส่งสัญญาณว่าจริงๆแล้วเรามีเป้าหมายอย่างอื่นที่จะต้องดูแล นั่นก็คือเสถียรภาพทางการเงิน พูดง่ายๆก็คือว่าถ้าดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ทางแบงก์ชาติก็กังวลว่าคนอาจจะไปเทกความเสี่ยงเยอะเกินไป ในการประชุมแบงก์ชาติล่าสุดก็พูดถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เขาเริ่มเห็นว่ามีการปล่อยกู้ที่อาจจะลดมาตรฐานทางด้านสินเชื่อลงหรือไม่ ก็เป็นคำถามเหมือนกันว่าดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปจะทำให้ธนาคารหรือทำให้ผู้ให้กู้มีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในครั้งหน้า ถ้าจะขึ้น...มองว่าเขาอาจจะมองว่าเศรษฐกิจดีเพียงพอ แล้วขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดปัญหาด้านเสถียรภาพอื่นๆที่แบงก์ชาติกำลังกังวลอยู่

ทิศทางของกระแสเงินทุนต่างๆ

ค่าเงินดอลลาร์ ถ้ามองยาวไปถึงปีหน้า ตอนนี้หลายสำนักยังมองเงินบาทเทียบดอลลาร์ ในทิศทางที่ว่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแข็งค่าเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ แต่สิ่งที่เรากำลังเห็นจริงๆแล้วคือ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยก็ขึ้นไป แต่ถ้าเงินบาทเทียบดอลลาร์ บาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ได้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำให้หลายๆประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่เกิดความกังวล ก็กลายเป็นว่าเงินจะไหลเข้ามาที่ตลาดไทย เลยกลายเป็นว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่ว่าเงินบาทแข็งค่า

ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก

เรามองว่า ตัวแปรสำคัญสุดคือเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเอง ถ้าถามว่าทำไมสงครามการค้า ถึงไม่ค่อยกระทบเราเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ แล้วเศรษฐกิจโลกตอนนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเท่าไหร่ ผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกายังมีการซื้อของเหมือนเดิม ถึงแม้สินค้าอาจจะแพงขึ้นบ้าง แต่เขายังซื้อเยอะเหมือนเดิม อัตราการบริโภคของสหรัฐอเมริกายังเติบโตเหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจเขาแข็งแรง อัตราการจ้างงานเขายังดี แล้วก็ล่าสุดหลังๆ ค่าจ้างแรงงานเขาก็เพิ่ม เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะมีกำแพงภาษี เราก็อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบว่าสุดท้ายส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบในมุมส่งออกได้น้อยลงหรือเปล่า

ดร.เคยพูดไว้ก่อนหน้าว่า สงครามการค้ายังไม่น่าวิตกมากเท่ากับกรณีของอินโดนีเซีย

ใช่ ตอนนี้เรามองว่า อย่างน้อยในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ประเด็นเรื่องสงครามการค้าอาจจะยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก อาจจะยังไม่เห็นอะไรชัดเจน สิ่งที่เราได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้คือปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เคยพูดไว้ว่าเขาอาจคล้ายสหรัฐอเมริกาคือต้องขึ้นกำแพงภาษีเพื่อลดการขาดดุลการค้า ล่าสุดก็เงียบไปประมาณเดือนนึง ถ้ากลับมาดำเนินนโยบายตามนั้นจริงก็จะเป็นความเสี่ยงต่อภูมิภาคเรา

ไทยจะถูกลากไปด้วยหรือไม่

คิดว่าไม่ เพราะถ้าดูตัวเลขที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เงินเฟ้อไทยสูงหรือเปล่า ก็ไม่ เงินเฟ้อเราต่ำมาก ถามว่าเราขาดดุลการค้าหรือเปล่า ก็ไม่ เราเกินดุลการค้า และก็เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาล เพราะฉะนั้นคิดว่าเราไม่ได้โดนจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับฟิลิปินส์หรืออินโดนีเซียแน่นอน จริงๆ แล้วประเทศไทยถูกจัดไปอยู่กลุ่มเดียวกับไต้หวันและเกาหลีใต้มากกว่า ซึ่ง 3 ประเทศนี้คือไทย ไต้หวัน เกาหลี ดอกเบี้ยต่ำเหมือนกัน แล้วแบงก์ชาติของแต่ละที่ไม่ได้อยู่ในหมวดที่จะรีบขึ้นดอกเบี้ยอะไรนัก

เรื่องน้ำมันน่ากลัวหรือไม่ ขึ้นมาถึง 70 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว

เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างหนักใจมากเหมือนกัน ทำไมถึงอยู่ได้ระดับสูงนานพอสมควร เรียกว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะต้องดูกันนิดนึง ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่น้ำมันราคาสูงแบบนี้ ก็ค่อนข้างดีใจกัน เพราะจะทำให้ราคายางพาราของไทยดีขึ้น แต่หลังๆมานี้ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันแล้ว ราคายางพาราเราก็ยัง 40 กว่าบาทเท่าเดิม ตอนนี้เรียกว่าราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ไม่ค่อยจะมีประโยชน์กับไทยเท่าไหร่ คือไม่ช่วยในเรื่องรายได้ของเกษตรกรไทยเท่าไหร่

กรณีมีการแซงชั่นอิหร่าน จะกระทบไทยหรือไม่

สิ่งที่จะกระทบคือเราก็จะเสียประโยชน์ตรงนี้ คือราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานของเราแพง ในขณะที่เราไม่ได้ประโยชน์เหมือนในอดีต เพราะฉะนั้นตราบใดก็ตามที่ตัวแซงชั่นนี้ยังอยู่ ราคาน้ำมันยังอยู่ที่ 70 เหรียญ เราๆท่านๆก็จะใช้เงินเยอะขึ้นในการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ ก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์ตรงนี้เท่าไหร่

ในเชิงกลยุทธ์การทำธุรกิจ มีอะไรแนะนำบ้าง

ถ้ามองไป 6 เดือนข้างหน้าจนถึงปีหน้า สิ่งที่เราจะต้องดูมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมาก็คือต้นทุนทางด้านดอกเบี้ย เพราะไม่ว่าเราจะถกเถียงกันว่าไทยควรขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างน้อยทางแบงก์ชาติเองก็ส่งสัญญาณว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้น ตรงนี้ผู้ประกอบการที่มีการกู้ยืมอยู่ก็อาจจะต้องกลับไปดูนิดนึงว่าในช่วงหลังๆ ดอกเบี้ยของเราเป็นแบบดอกเบี้ยลอยตัวหรือเปล่า มีการล็อกดอกเบี้ยไว้นานแค่ไหน สามารถที่จะเปลี่ยนดอกเบี้ยที่ยังเป็นลอยตัวมาเป็นดอกเบี้ยแบบเฟดได้หรือเปล่า ช่วงนี้เราจะเห็นบริษัทขนาดใหญ่ขยันออกหุ้นกู้กันมากเลย เพราะเขาอยากใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ระดับต่ำในช่วงท้ายๆแล้ว ในการที่จะล็อคเรทตรงนี้ยาวไปเลย ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการรายเล็กก็อาจจะออกหุ้นกู้ไม่ได้ ก็ต้องคุยกับธนาคารนิดนึงว่า จะสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างไรในภาวะที่ดอกเบี้ยในปีหน้าอาจจะมีการปรับขึ้น

30 views
bottom of page