top of page
358556.jpg

ปลูกไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด ลงทุนแบบกินยาวๆ


Interview: คุณอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดใหม่...ทำใหม่ รัฐเริ่มโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจ แจกกล้าไม้มีค่า 58 ชนิด พยุง มะค่า ประดู่ ชิงชัน สัก ยาง ฯลฯ ให้ปลูกทั้งในที่ดินกรรมสิทธิ์และที่ดินของรัฐ หวังส่งเสริมการปลูกป่าและนำไม้มาใช้อย่างถูกกฎหมาย พร้อมจัดทำระบบควบคุม-บริการโดยแอปฯ ทั้งลงทะเบียนผู้ปลูก บันทึกจำนวนไม้ที่ปลูก ตำแหน่งการปลูกไปถึงการขออนุญาตตัดไม้เมื่อโตเต็มที่ เพื่อนำไปใช้งาน ขาย หรือส่งออกไปขาย ตปท.อย่างถูกกฎหมาย และได้ราคาดี

การสนับสนุนโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจของรัฐมีความเป็นมาอย่างไร

ในอดีตที่ผ่านมา เข้าใจว่าเราต้องการรักษาป่า ก็เลยพยายามออกกฎหมาย ออกระเบียบต่างๆมาควบคุมคนไม่ดี ก็เลยกลายเป็นว่าคนที่อยากปลูกต้นไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์และที่รับรองสิทธิ์ไม่สามารถปลูกได้ เพราะเวลาจะตัดต้องขออนุญาต ถ้าไม่ขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย เลยกลายเป็นว่าไม่ก่อให้เกิดการปลูกต้นไม้ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องเพิ่มพื้นที่ป่าตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของเนื้อที่ประเทศภายใน 20 ปี เราก็มามองว่าปัจจุบันไม้มีค่าหลายๆชนิดมีมูลค่าที่สูงมาก ถ้าเราส่งเสริมพี่น้องประชาชนให้ปลูก ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้ประโยชน์ที่ดิน นอกจากการปลูกพืชเกษตรหรือทำอุตสาหกรรมใดก็แล้วแต่ ถ้ามีพื้นที่ที่เหลือหรือมีพื้นที่ที่ว่างก็น่าจะสามารถปลูกไม้มีค่าได้ เลยเป็นที่มาที่ไปของนโยบายรัฐบาลให้มีการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ

ไม้อะไรบ้าง ที่ทางการต้องการส่งเสริม และพื้นที่ใดบ้างที่ส่งเสริม

เรามี 2 พื้นที่ด้วยกัน พื้นที่แรกที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนที่ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดิน ส่วนอีกพื้นที่คือพื้นที่ที่ราษฎรเข้าไปทำกิน เป็นพื้นที่ของรัฐ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า เป็นที่ที่รัฐรับรองให้ทำกิน พื้นที่ทั้ง 2 ส่วนคือพื้นที่เป้าหมายที่เราจะไปส่งเสริม ซึ่งเราจะคัดเลือกพันธุ์ไม้ มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นอาจจะปลูกไม้ที่ใช้สอย ไม้พลังงาน หรือไม้ที่ใช้สอยในครอบครัว ซึ่งมีไม้ที่ต้องใช้ระยะเวลา เช่นไม้มะค่าที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้พยุง ไม้สัก ไม้ยาง เป็นต้น เหล่านี้ให้พี่น้องประชาชนได้ปลูก และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือเป็นทรัพย์สินที่มีดอกเบี้ยเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

เปลี่ยนจากควบคุมเป็นส่งเสริม

ใช่ ซึ่งการหาพันธุ์ไม้เหล่านี้มาปลูกนั้น ทางกรมป่าไม้มีศูนย์เพาะชำกล้าไม้ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดสามารถไปขอรับได้ เป็นการให้ฟรีรวม 58 ชนิด หลังจากพี่น้องประชาชนไปปลูกแล้ว ทางกรมป่าไม้ได้ออกแบบระบบแอปพลิเคชันเป็นระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์ หลังจากปลูกแล้วสามารถไปลงทะเบียนไว้ได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกนั้นชนิดอะไร มีการกรอกบัตรเลขประจำตัว 13 หลัก และตำแหน่งที่ดิน ทุกอย่างก็จะประมวลผลไว้ในระบบของกรมป่าไม้ เราก็จะรู้สต็อกไม้ทั่วประเทศ เมื่อพี่น้องประชาชนจะตัดหรือเคลื่อนที่ไม้ ก็สามารถแจ้งผ่านระบบออนไลน์ได้ เราก็จะส่งรหัสไป ท่านก็ปริ้นท์เอกสารมาประกอบการนำเคลื่อนที่

หรือแม้แต่การส่งออกเราก็มีมาตรการการรับรองให้ เพราะต่อไปการที่จะส่งออกไม้ หรือผลิตภัณฑ์ไม้ ต่างประเทศจะไม่รับเลยถ้าเป็นไม้ที่มาจากแหล่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงมีมาตรการรับรอง ต่อไปอนาคตไม้ที่ผิดกฎหมายจะไม่สามารถมาอยู่ในวงจรไม้ที่ถูกกฎหมายได้เลย

ทางการให้เงินช่วยเหลือ หรือให้การสนับสนุนอย่างไรกับโครงการนี้

ในช่วงแรกจะเป็นการจัดที่ดินให้ทำกินก่อน แล้วมาตกลงร่วมกันว่าถ้าเป็นที่ดินของรัฐจะต้องปลูกอย่างไร คือเราก็ไม่อยากส่งเสริมให้ทุกคนปลูกไม้มีค่าทั้งหมด เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าความต้องการของตลาดมันจะไม่สมดุลกัน เราก็ต้องมาโซนนิ่งกันดู แต่สำหรับที่ดินกรรมสิทธิ์ พี่น้องประชาชนสามารถปลูกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นที่ นส.3 ก โฉนดที่ดินอะไรก็แล้วแต่ ประชาชนที่มีฐานะมากหน่อย มีที่ดินหลายๆแปลง ไม่รู้จะทำอะไร ก็ปลูกไม้มีค่าทิ้งไว้ ซึ่งเราจะสนับสนุนกลไกของการตลาดและค่าไม้พันธุ์ดี ซึ่งตรงนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้สั่งการให้พยายามคัดสายพันธุ์ไม้มีค่าที่มีคุณภาพ เพราะเมื่อมันโตขึ้น ก็จะได้ราคาที่ดี

แอปพลิเคชั่นที่ว่าคือ...

แอปพลิเคชั่น e-tree คือจะมีอยู่ 2 ส่วน ถ้าเป็นที่ดินของรัฐจะมีพ.ร.บ.สวนป่ารองรับ เวลาไปลงทะเบียนก็จะเข้าไปอยู่ในระบบสวนป่า แต่ถ้าเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์จะแยกคัดกรองไปเลย

โครงการนี้ คนสนใจมากมั้ย

หลังจากเริ่มแนวคิดเรื่องนี้มา ทางรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรา 7 เมื่อประมาณเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้มีประชาชนไปขอกล้าไม้จำนวนมาก ก็มีการปลูกกันเยอะแยะ ซึ่งระบบการขอกล้าไม้จากเราจะต้องมีการลงทะเบียนว่าเอาไปกี่ต้น เมื่อรับไปแล้ว ต้องแจ้งกลับมาว่าปลูกที่ไหน จะต้องถ่ายรูปส่งกลับมาให้ ผู้ที่ได้กล้าไม้ไป ไม่สามารถนำกล้าไม้ไปปล่อยขายต่อกับคนอื่นได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดธุรกิจเล็กๆขึ้นมา ประชาชนบางคนเขามีกล้าไม้ที่ดีๆอยู่แล้ว เขาก็ปลูกให้ต้นมันโตใหญ่ แล้วเขาก็ขายที่มันต้นใหญ่หน่อย ซึ่งหลายคนชอบพันธุ์ดีๆ ต้นใหญ่ๆเขาก็จะไปซื้อต่อจากประชาชนที่เขาเพาะปลูกขึ้น

ที่ปลูกอยู่เดิมก่อนหน้านี้ ถ้าตัดมาขายจะผิดมั้ย

รออีกนิดเดียว รอยกเลิกมาตรา 7 ตอนนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา เตรียมเข้าสู่ สนช. เมื่อผ่าน สนช.ก็จะออกมาเป็นกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการได้เลย ในระหว่างนี้ให้ปลูกกันไปก่อน ไม่ต้องกลัว

318 views
bottom of page