top of page
358556.jpg

ติดกับสงครามการค้า 1,660 ห้ามหลุด!!!


เกาะติดสถานการณ์ สงครามการค้า/ค่าเงินยังปั่นป่วนกดดันหุ้นไปต่อลำบาก คาดเดือนกันยายนยังแกว่งตัวขาลง จ้องแนวรับ1,660 จุดหลุดเมื่อไหร่ลงลึกอีกรอบ หวังปลายเดือนกันยามี Window Dressing ปิดงบไตรมาส 3 เป็นตัวช่วย

ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญมรสุมข่าวลบ....

TMB Analytics ระบุความกังวลสงครามการค้าจะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจโลกชะงักเร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ หลังจากสหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่าห้าหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการตั้งภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯในมูลค่าที่เท่ากัน ล่าสุดสหรัฐฯกำลังจะตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่กับสินค้าจีนรวมมูลค่าถึงสองแสนล้านเหรียญ หลังการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนสิ้นสุดลงในวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา จากสงครามการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้การค้าโลกมีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

“ที่น่ากังวลก็คือ รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (JP Morgan Global Manufacturing PMI) ที่เป็นตัวชี้วัดภาคการผลิตของทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนสิงหาคมลดลงแตะระดับ 52.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน สะท้อนว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าและยอดการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า

ยิ่งไปกว่านั้นแม้สหรัฐฯจะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับประเทศอื่นๆในเอเชีย แต่จากผลสำรวจ ประเทศในเอเชีย 6 จาก 8 ประเทศรายงานว่ายอดการส่งออกลดลง

ซึ่งสัญญาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลงชัดเจนนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้เร็วและรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้”

ความกังวลดังกล่าวสะท้อนมาที่ตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังตกอยู่ใต้อิทธิพลข่าวลบดังกล่าวนี้เช่นกัน จึงยังคงมีการประเมินจากบรรดานักวิเคราะห์หลายค่ายว่า หุ้นไทยจะยังคงผันผวนต่อไป ในช่วงเวลาจากนี้

ASPSResearch บล.เอเซียพลัส ตั้งประเด็นว่า สงครามการค้าลุกลามไปทั่ว เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก กดดันเงินเฟ้อโลก กดดันเศรษฐกิจโลก ให้เติบโตชะลอตัวลง จากที่เคยคาดกันไว้ หลังจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์หรืออัตรา 25% หลังทำประชาพิจารณ์เสร็จ ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า ทำได้ทันที ถ้าเขาสั่งให้ดำเนินการ แถมยังประกาศว่า จะเก็บรอบที่ 4 วงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์

หากรวม 4 รอบ พบว่า ภาษีที่สหรัฐฯจะเก็บจากจีน คิดเป็นวงเงินรวม 5.17 แสนล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับการนำเข้าสินค้าจากจีนนั่นเอง ขณะที่จีน สามารถตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยวิธีทางภาษีแบบเดียวกัน วงเงินเพียง 3.75 แสนล้านดอลลาร์

ฝ่ายวิจัย ASP เชื่อว่า ไทยจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะไทยค้าขายทั้งกับจีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ราว 18.1%, 11.5%, 9.7% ตามลำดับ

บล.ไอร่า เกาะติดสถานการณ์นี้เช่นกัน และประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายนจะยังแกว่งตัว จากสงครามการค้าบวกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 2 รอบ

อย่างไรก็ตามสำหรับไทยเองมีประเด็นการเมือง ที่คาดว่า Sentiment ดีขึ้นตามลำดับ หลังกำหนดวันเลือกตั้งเบื้องต้น 24 กุมภาพันธ์ 2562 พร้อมใช้ ม.44 ปลดล็อคพรรคการเมือง คาดสามารถทำกิจกรรมการเมืองได้ช่วง กันยายน.–ธันวาคม.2561 หลัง กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. ประกาศใช้ รวมทั้งกรณี Thailand Future Fund มูลค่า 45,000 ล้านบาท มีแผนขายหน่วยลงทุน ตุลาคม 2561 นี้ และคาดเข้าจดทะเบียนพฤศจิกายน 2561 อีกทั้งยังคาดหวังว่าปลายเดือนกันยายนจะมีการทำ Window Dressing ปิดงบไตรมาส 3 เป็นตัวช่วยได้บ้าง

ดังนั้น บล.ไอร่า จึงประเมินกลยุทธ์การลงทุนในเดือนกันยายน ที่คาดว่ามีความผันผวนเป็น “โอกาสในการเข้าสะสม” โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งจากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง พร้อมกับการลงทุนภาครัฐฯ ที่คาดเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ 2H/61 เป็นต้นไป รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่งสัญญาณที่ดี หลังไตรมาส 2/2561 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 67.5 สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาสที่ผ่านมา

บล.เออีซี ประเมินหุ้นไทยจากนี้จะแกว่งตัวในกรอบ 1,665-1,706 จุด ทั้งนี้ให้เฝ้าติดตามการจัดประชุมสุดยอดผู้นำของสหรัฐฯ-จีน ในเดือน พฤศจิกายน ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดจะมีผลส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ กดดันให้เฟด มีโอกาสเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น โดยให้ระวังแรงขายตรงแนวต้าน EMA 200 วัน ที่ 1,706 จุด และต้องจับตาแนวรับ Previous Low ที่ 1,665 จุด หากหลุด 1,665-1,660 จุดดัชนีจะทำ Price Pattern แบบ Double Top ซึ่งจะทำให้ดัชนีมีโอกาสลงลึกอีกครั้ง

ขณะที่มีการสรุปผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกันยายน 2561 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

24 views
bottom of page