Interview: ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย
อินโดฯจุดชนวนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 900 รายการ กระทบการค้าภูมิภาคอาเซียน นักลงทุนจากนอกอาเซียนอาจเริ่มระแวงความไม่เป็นเอกภาพของเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคนี้ ส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าอาเซียนอาจชะลอตัวลง และถ้าประเทศในอาเซียนตอบโต้อินโดฯด้วยการขึ้นกำแพงภาษี จะทำให้สถานการณ์ปั่นป่วนยิ่งขึ้น ส่วนไทยมีประเด็นน่าเป็นห่วงกว่าการขึ้นภาษีของอินโดฯ นั่นคือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในไทยจะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทุกธุรกิจเพิ่มขึ้นทันที รวมถึงสงครามการค้าโลกที่จะทำให้ปริมาณและราคาสินค้าส่งออกของไทยถึงขั้นไม่คุ้มทุน
- สถานการณ์เศรษฐกิจ-การเงินอินโดนีเซียขณะนี้เป็นอย่างไร
เหมือนเพื่อนบ้านไฟไหม้ก็ต้องออกมาดูหน่อย ช่วงนี้มีข่าวอินโดนีเซียหลายเรื่องนับตั้งแต่แผ่นดินไหวเป็นต้นมา ข่าวเศรษฐกิจก็เริ่มจะเยอะขึ้น ที่ผมเขียนบทความไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ ณ ตอนนี้ขณะที่ทุกคนกำลังตกใจกับตุรกีที่ค่าเงินอ่อนไป 40% ปรากฏว่าค่าเงินอินโดนีเซียในช่วงปีนี้อ่อนไป 8% ถือว่าไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับตุรกี อยู่ๆ เขาบอกว่าอยากจะลดการนำเข้าของประเทศอินโดนีเซียโดยจะขึ้นภาษีนำเข้าโหมดสินค้า 500 รายการ แต่ประเด็นที่เขียน คือทำได้หรือไม่ และประเทศอื่นๆ ในอาเซียนหรือไทยคิดอย่างไร เพราะอยู่ในเขตการค้าเสรีอาเซียนด้วยกัน แต่มีประเทศหนึ่งบอกว่าจะลดการนำเข้าโดยการขึ้นภาษี
1. อย่างประเทศไทยที่เคยผลิตสินค้าแล้วส่งไปอินโดนีเซียโดยใช้เขตการค้าเสรี ธุรกิจเหล่านี้จะต้องคิดใหม่อย่างไรบ้าง ประเทศและธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอาจจะไปขอรัฐบาลของชาติเขาไปขึ้นภาษีกับอินโดนีเซียหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นว่าถ้าประเทศในอาเซียนมีการถกกันเรื่องภาษีนำเข้าระหว่างกัน จุดที่น่ากังวลคือ นักลงทุนจากภายนอกอย่างญี่ปุ่น ยุโรป หรือสหรัฐ มองว่าจะเข้ามาในประเทศไหนในอาเซียนก็ได้ถ้าเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปในอาเซียนประเทศอื่นเขาทำได้แน่นอน แต่ถ้าในอนาคตประเทศในอาเซียนด้วยกันเองยังไม่ชัวร์เลยว่าจะตั้งกำแพงภาษีซึ่งกันหรือไม่ อาจจะทำให้การนำเงินมาลงทุนในภูมิภาคเราชะลอลงไปได้ เป็นสาเหตุหลักที่มองว่าเรื่องค่าเงินอาจเป็นเรื่องรองด้วยซ้ำไป เรื่องหลักอยู่ที่ประเด็นการค้าเสรีในอาเซียนจะยังเป็นจุดขายอยู่หรือไม่ หรือจะโดนลดความสำคัญลงจากประเด็นที่อินโดนีเซียขึ้นภาษี
- ขณะนี้อินโดนีเซียห้ามผลไม้ไทยหลายชนิดเข้าประเทศเขา เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่เรื่องภาษีอย่างเดียวแล้ว
ตอนแรกมีข่าวออกมาล่าสุดว่าอินโดนีเซียพิจารณาภาษีบนสินค้าประมาณ 500 รายการ แต่วันที่ 24 ส.ค. มีข่าวเพิ่มเติมออกมาจะเปลี่ยนเป็น 900 รายการ ก็เป็นอะไรที่ต้องติดตามอย่างชัดเจน
- กรณีค่าเงินอินโดนีเซียที่อาจจะลดลงอีก จะกระทบการส่งเสริมการค้าขายโดยการใช้เงินสกุลเดียวกันโดยไม่ต้องผ่านค่าเงินดอลลาร์หรือไม่
ถ้ามองในอาเซียนด้วยกันเรียกว่าค่าเงินเมื่อเทียบด้วยกันเอง เช่น ไทยบาทเทียบอินโดนีเซีย ไทยบาทเทียบมาเลเซีย ความเสถียรภาพหรือความนิ่งดีกว่าการเทียบบาทกับดอลลาร์หรือบาทกับยูโร เพราะฉะนั้นเห็นด้วยกับรัฐบาลและแบงก์ชาติที่ส่งเสริมการใช้เงินสกุลเดียวกันในอาเซียนด้วยกันเอง จริงๆ อินโดนีเซียไม่ได้มีปัญหาค่าเงินมากมาย ค่าเงินในปีนี้อ่อนค่าแค่ 8% ก็ไม่ได้เยอะอะไร การค้าในอาเซียนด้วยกันเองเรื่องกำลังซื้อไม่ได้มีปัญหา เพราะขณะนี้เศรษฐกิจอินโดนีเซียโต 6-7% เรียกว่ากำลังซื้อไม่ได้เป็นประเด็น แต่รัฐบาลระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะช่วงนี้เวลาที่นักลงทุนต่างประเทศพูดถึงตุรกี แอฟริกาใต้ รวมอินโดนีเซียและอินเดียไปในชื่อที่น่ากังวลด้วย ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรมากมาย แต่เขาโดนรวมชื่อไป ก็เลยต้องมีมาตรการตรงนี้ออกมาให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าเขารู้ว่าโดนเพ่งเล็งและก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ
- การที่อินโดนีเซียกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพิ่มในเรื่องของภาษีเป็น 7.5% หรือขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 900 รายการ สมมุติถ้าทำได้หรือสำเร็จจะมีผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกอินโดนีเซียอย่างไร และจะไปกระทบในกลุ่ม TIP อย่างไร
ถ้าสมมุติว่าอินโดนีเซียประกาศอย่างนั้นจริง ส่วนที่เรามองว่านักลงทุนที่เคยให้น้ำหนักกับกลุ่มประเทศในอาเซียนว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุนเพราะเป็นเขตการค้าเสรี นักลงทุนกลุ่มพวกนี้จะไม่ชอบแน่ๆ เพราะเขามอง Long Term แล้วว่าอาเซียนอาจจะไม่เหมือนที่เขาคาดไว้ เพราะเมื่อก่อนนักลงทุนกลุ่มนี้มองอาเซียนเป็นกลุ่มก้อนใหญ่และมีไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน ซึ่งสามารถเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในไทยเพื่อผลิตสินค้าออกไปขายที่ไหนก็ได้ในอาเซียนโดยเสรี
เพราะฉะนั้นเงินทุนที่เคยไหลเข้ามาไม่ว่าจะลงทุนจริงหรือเงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นก็น่าจะลดลง ถามว่าจะลดลงชั่วคราวหรือลดลงระยะยาว คิดว่าขึ้นอยู่กับระลอก 2 ว่าประเทศอาเซียนอื่นมีแนวโน้มในการตอบโต้อินโดนีเซียอย่างไร เพราะถ้าดูอย่างไทยถามว่าสมมุติอินโดนีเซียขึ้นภาษีนำเข้าแล้วไทยจะตอบโต้หรือไม่ คือถ้าดูความจำเป็นทางเศรษฐกิจน่าจะตอบว่าไม่จำเป็นต้องตอบโต้ เพราะไทยในปัจจุบันเกินดุลการค้าอินโดนีเซีย เราไม่มีปัญหาขาดดุลการค้า หลายๆ ประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรือมาเลเซียก็เกินดุลการค้าอินโดนีเซียเช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีในการตอบโต้
ถ้าไม่มีการตอบโต้มองว่าผลกระทบอาจจะไม่รุนแรงนัก เพราะนักลงทุนจะมองว่าอาเซียนยังไปได้อยู่ ไม่ได้มีการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมา แต่ถ้าในกรณีแย่ คืออาจมีประเทศที่ตอบโต้ ไทยหรือมาเลเซียอาจมีการพิจารณาขึ้นภาษี ตรงนั้นเป็นจุดที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ชอบอย่างมาก เพราะนักลงทุนในประเทศที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยไปลงทุนในหลายประเทศในอาเซียน ถ้าเกิดประเด็นเหล่านั้นจริงนักลงทุนในประเทศก็ไม่ชอบเช่นกัน
- ในส่วนของไทย เราต้องมีความระมัดระวังหรือดูปัจจัยอะไรมากเป็นพิเศษในเรื่องค่าเงิน เรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ประธานเฟดออกมาแถลง
ตอนนี้ไทยไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ ประเด็นเฟดถ้าเขาขึ้นดอกเบี้ย และสมมุติจะมีการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปบ้างอาจจะเป็นผลดีต่อไทยด้วยซ้ำไป ปัจจุบันยังบ่นกันว่าค่าเงินบาทยังแข็งไป เพราะฉะนั้นปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ย หรือเรื่องประเด็นการขึ้นภาษีของอินโดนีเซียก็ดี ถ้าในมุมเศรษฐกิจผลกระทบต่อเราอาจไม่ได้เยอะมากนัก ประเด็นในประเทศมองว่าสำหรับนักธุรกิจอาจจะต้องเตรียมตัวมากขึ้นคือเรื่องของดอกเบี้ยในประเทศ เพราะล่าสุดท่านผู้ว่าฯแบงก์ชาติ วิรไท สันติประภพ ออกมาส่งสัญญาณค่อนข้างชัดว่าทางแบงก์ชาติกำลังพิจารณาเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ซึ่งก่อนที่ท่านผู้ว่าฯจะพูดเรามองว่าไม่น่าจะขึ้นปีนี้ แต่พอท่านออกมาพูดแบบนี้เลยเริ่มมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้คือในเดือนธันวาคมมีความเป็นไปได้พอสมควร คราวนี้ผลกระทบกับขนาดใหญ่เราเริ่มเห็นแล้ว คือ ถ้าดูตลาดพันธบัตรของไทย พันธบัตรอายุช่วง 3-5 ปี ถ้าบริษัทไหนจะออกหุ้นกู้ช่วง 3-5 ปี ตอนนี้แพงขึ้นกว่า 2 สัปดาห์ก่อนพอสมควร ต้นทุนทางการเงินก็จะเพิ่มแล้ว ถ้าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้แปลว่าดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ MLR/MRR ก็จะเริ่มปรับตัวขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นฝั่งธุรกิจที่อาจจะไม่คุ้นชินกับดอกเบี้ยที่แพงขึ้นอาจจะต้องระวังและวางแผนตรงนี้ด้วย จะต่างจากหลายปีที่ดอกเบี้ยลงอย่างเดียว
- เรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่จะลุกลามไปอีกหลายประเทศ มองว่าไทยต้องทำอย่างไรและอาเซียนต้องทำอย่างไรบ้าง
ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวที่สุดคือสินค้าที่เราผลิตโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กของเรา เราผลิตอะไรที่ซ้ำกับที่จีน เกาหลี หรือ ไต้หวัน เขาต้องหาตลาดใหม่แทนสหรัฐ เพราะหลังๆ เราเริ่มได้ยินข่าวจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย ตอนนี้กังวลมากกับสินค้าพวกเหล็กที่ทะลักไปประเทศเขา เขาบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะจีนแล้วที่เอาเหล็กไปขายในอินเดียด้วยราคาต่ำ มีทั้งมาจากไต้หวัน เกาหลี เพราะทุกประเทศส่งไปสหรัฐไม่ได้ ก็ต้องหาที่ลง หากตลาดลดราคาเพื่อส่งออกให้ได้ ของเราก็เหมือนกัน สถิติการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเหล็ก หลังๆ เราเริ่มเห็นว่าเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจเรากำลังเติบโต มันตอบไม่ได้ว่าการนำเข้าเหล็กเป็นที่ราคาต่างประเทศลดลงมาหรือเศรษฐกิจเราดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่อาจจะมีสินค้าซ้ำๆ กับสินค้าที่สหรัฐขึ้นภาษีไม่ว่าจะเป็นสินค้าเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า อาจจะต้องเตรียมตัวนิดนึงว่าถ้าราคาสินค้าเหล่านี้ปรับตัวลดลง Margin ท่านเหลือพอหรือไม่ เพราะถ้าเหลือไม่พอแปลว่าต่อไปจะเจอการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้กำไรของบริษัทท่านลดลงได้ ตอนนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นคือค่าเงินหยวนของจีน ก่อนหน้านี้อยู่ประมาณ 6 หยวน ตอนนี้ไปแล้ว 7 อ่อนค่าลง เพราะฉะนั้นยิ่งหยวนอ่อนค่าจะทำให้สินค้าจากจีนยิ่งถูกลง
- ดูแนวโน้มจีนจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงต่อไปอีกใช่ไหม
ผมว่าถ้าเขายังตกลงกับสหรัฐไม่ได้ เขาก็ต้องให้ค่าเงินอ่อนต่อไป