เศรษฐกิจฝืดเคืองเป็นเหตุการเงินนอกระบบเฟื่องฟู คนเงินน้อยหันไปลงทุนกับธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงแบบ Easy Money กลายเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ๆ “บิทคอยน์” ที่ระบาดไปทั่วประเทศ
ที่กำลังเป็นข่าวคึกโครมขณะนี้ก็คือ แชร์บิทคอยน์วง “บูม-จิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต” ที่มูลค่าความเสียหายของผู้ลงทุนมีถึง 797 ล้านบาท โดยรายใหญ่เป็นหนุ่มชาวฟินแลนด์ชื่อนายเออาร์ โมตารา ชาริมา ที่ถูกชักชวนให้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยเงินดิจิทัล (cryptocurrency) สกุล Bitcoin
ตำรวจตั้งข้อหา “ฟอกเงิน” ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างจะหรู แทนคำว่า “การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ที่ใช้เรียกแชร์ลูกโซ่ทั่วไป
กฎหมายด้านนี้มีอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กับ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลังเป็นผู้ร่างและใช้บังคับ
แชร์ลูกโซ่วันนี้ พัฒนาออกมาหลายรูปแบบ เช่นเชิญชวนลงทุนกับกองทุนการเงิน (จดทะเบียน) ที่ลงทุนในตลาดทุน ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา (forex) ซื้อ-ขายบิทคอยน์ โดยเฉพาะปีสองปีมานี้ คำว่า ”บิทคอยน์” ฮิตมาก ใช้อ้างอิงกันในหลายสถาน ทั้งลงทุนจริง ทั้งอ้างอิงเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
แม้ขณะนี้การลงทุนในเงินคริปโตจะมีอยู่หลายสิบสกุล แต่มักเรียกรวมๆ ว่า บิทคอยน์ เพราะบิทคอยน์เป็นรายแรกที่มีการซื้อขายกันและทำราคาพุ่งกว่า 19,000% จากวันแรกเข้าตลาด เลยติดปากกันว่าบิทคอยน์ ไม่ว่าจะไปซื้อ-ขายลงทุนกันในสกุลไหน
นอกจากนี้ยังมีการขายตรง การลงทุนในหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากจีนที่ล่าสุดกลต.เตือนให้ระวังคือบริษัทหรองฮุ่ย บริษัทจากมาเลเซีย ฯลฯ
กองทุนเถื่อน ที่อ้างว่านำเงินที่นักลงทุนซื้อรหัสดิจิทัล (digital token) ไปซื้อบิทคอยน์ จะได้กำไรหรือขาดทุนก็ตาม กองทุนก็จะจ่ายผลตอบแทนให้ในอัตราสูง ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก
ที่ ม.ล. ปนัดดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่าเงินฝากทั้งระบบนั้นพวกรายย่อยต่ำมาก ขณะที่รายใหญ่กลับเพิ่มขึ้น แสดงถึงความเหลื่อมล้ำมีสูง
แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้น เงินที่ควรจะเป็นเงินฝากเหล่านั้นหนีดอกเบี้ยราคาถูกไปหาผลตอบแทนที่แพงกว่า หรือลงทุนแล้วได้เงินง่าย เป็น Easy Money ทำนองนี้
“2 ห.” คือหวยกับหุ้น จากการทำวิจัยพบว่ามีเงินหมุนเวียนสะพัดสะพรั่งที่สุดในบรรดาการลงทุนทุกประเภททั่วประเทศ
สำหรับกองทุนเถื่อนที่มากันหลายรูปแบบนั้น ให้สังเกตคำลงท้ายชื่อบริษัท มักจะมีคำว่า “capital” หรือ “Investment” หรือ “Venture” หรือ “holdings” ฯลฯ ที่เป็นศัพท์เทคนิคในด้านการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อถือ เลี่ยงคำว่า funding ที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่เพราะ กฎหมายถือเป็นการระดมทุนนอกระบบ
ในสายของการขายตรง มีการเชิญชวนลงทุนซื้อหน่วยลงทุนผ่านสินค้า เช่นลงทุนยูนิตละ 1 หมื่นบาท จะได้สินค้า เช่นอาหารเสริม กาแฟ เครื่องประดับไปส่วนหนึ่ง อาจจะมีมูลค่า 2,000-3,000 บาท ที่เหลือเป็นเงินสดเข้าบริษัท
เมื่อมีการปันผลหรือให้ผลตอบแทน ผู้ลงทุนก็จะได้ในสัดส่วนจากเงินลงทุนทั้งหมด เช่น 1 หมื่นบาท ผลตอบแทน 15% ก็จะได้ 1,500 บาทต่อเดือนเป็นต้น เมื่อคิดรวมสินค้าแล้ว ถือว่าได้กำไรถึง 3,500-4,500 บาท หรือ 35-45%...ใครอยากรวยมาก เร็วมาก ก็ซื้อมาก
จ่ายผลตอบแทนมากขนาดนี้ บริษัทหรือเจ้ามือเอาเงินของเราไปทำอะไรถึงได้กำไรมากกว่าที่จ่ายให้เรา ?
สมัยก่อนเจ้ามือบอกว่า ได้จากการขายตรงที่มีกำไรถึง 3 เท่าตัว จึงสามารถจ่ายผลตอบแทนผู้ร่วมลงทุนได้ขนาดนั้น แต่สมัยนี้ บอกว่าเอาไป “เทรด” ฟอเร็กซ์ คือไปซื้อขายบิทคอยน์ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยช่วงเฟื่องฟูนั้น จากราคาไม่ถึงบิทละ 1 ดอลลาร์ พรวดไปถึง 19,000 ดอลลาร์
ในช่วงนั้น ความโลภทำให้คนไทยกล้าซื้อถึงบิทละ 630,000-700,000 บาท
พอราคาบิทคอยน์ตกหนัก เหลือต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ ก็ไม่ยอมขาย หวังว่ามันจะกลับขึ้นไปอีก แต่จนถึงวันนี้ มันก็ยังขึ้นๆ -ลงๆ ที่เส้น 6,000 ดอลลาร์ และเคยลงไปถึง ต่ำกว่า 5,000 ดอลลาร์ก็มี
เมื่อเที่ยงวันกลางสัปดาห์ต้นสิงหาคม อยู่ที่ 6,311 ดอลลาร์ ส่วนในไทย 210,483.44 บาท
เจ๊งกันระนาว บ้าน-รถ ถูกยึดกันเป็นแถวๆ และแม้จะออกตัวทัน ก็ยังขาดทุนอยู่ดี เพราะขาดทุนราคาแล้วยังไม่พอ ยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างคนซื้อกับคนขายอีก
โดยคนรับซื้อให้ราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐคือจะให้แค่ 30-33 บาทต่อดอลลาร์เท่านั้น แต่เวลาผู้ลงทุนซื้อจากบริษัทหรือหัวหน้าสาย จะต้องซื้อในราคา 37 บาท/ดอลลาร์ เป็นต้น
นั่นเป็นการซื้อ-ขาย กันอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมาตามตลาดเงินคริปโต
ส่วนนอกกฎหมายนั้น จะหายไปในงวดที่ 3-4-5 ขึ้นอยู่กับว่าระดมทุนรายใหม่หรือหาเหยื่อรายใหม่มาจ่ายรายเก่าได้แค่ไหน
ก่อนหน้าวง “บูม บิทคอยน์” มีวงใหญ่มากๆ ถูกจับไปคือ OD Capital มีวงเงินถึง 10,000 ล้านบาท พบว่าบริษัทนี้ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชยกิจในประเทศไทย และไม่ได้ (จึงไม่สามารถ) รับอนุญาตประกอบการจาก กลต.และ สคบ.
มีนักลงทุนไทยที่หวังได้รายได้แบบง่ายๆ “easy money” ลงทุนกับบริษัทนี้กว่า 500,000 ราย (หน่วย)
ใครที่คิดจะลงทุนเพื่อมีรายได้งอกเงยจากเงินที่ลงไปง่ายๆ มากๆ ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ไม่ต้องยืนขาแข็งชงกาแฟ ผัดกระทะ ลวกเส้น แบกหาม หอบแฟ้มขายประกัน ตั้งบูธขายเสื้อผ้า ฯลฯ
ให้ระวังคำหรูๆ ดูภูมิฐาน ทันสมัยไฮคลาส เหล่านี้ : Startups, IPO, ICO, Arbitrage เช่น Sport Arbitrage, Forex Arbitrage, FOREX, Crypto Trade,ฯลฯ
คำเหล่านี้ล่องลอยอยู่ตามสื่อออนไลน์ ในส่วนของโฆษณาย่อย เป็นบล็อกๆ แถบๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ
แชร์หรืออาชญากรรมเศรษฐกิจเหล่านี้ หากล้มหรือเบี้ยวจ่าย ผู้เสียหายจะไปแจ้งความกับตำรวจ
แต่เดี๋ยวนี้ ฝ่ายปราบปรามไม่รอให้แจ้ง มีการตรวจสอบ สืบลับ หาเบาะแส จากหน่วยปราบปรามที่ตั้งขึ้นใหม่ๆ หลายหน่วยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
มีหลายรายที่โดนจับแล้วเงียบหายหรือเป็นข่าว เป็นคดี แต่ไม่เคยมีลูกแชร์วงไหนได้เงินคืนตามจำนวนที่ลงไป อย่างเก่งก็ 30-40% ของจำนวนเต็ม ซึ่งนับว่าบุญมากแล้ว
เพราะยังมีหลายวง ที่กว่า 10 ปีแล้ว ไม่ได้เลยสักแดง อย่างเช่นแชร์ข้าวสารเป็นต้น
เงินของกลางที่บอกว่าอายัดบัญชีไว้นั้น หายไปไหน ?