หุ้นกลุ่มแบงก์ได้แรงส่ง หลัง กกบ. เลื่อนใช้ IFRS9 จากเดิม 1 ปี ด้าน บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง ฟันธง ปลายปีดอกเบี้ยขาขึ้น กบง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ช่วยหนุนรายได้กลุ่มแบงก์
ก่อนประกาศงบครึ่งปีและไตรมาส 2/2561 ที่กำลังเป็นข้อกังวลของนักลงทุนที่นิยมชมชอบหุ้นในกลุ่มแบงก์ว่าจะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร หลังจากที่แบงก์น้อยใหญ่ต่างพากันเปิดสงครามลดค่าธรรมเนียมเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าหุ้นแบงก์พาณิชย์ดี๊ด๊ารับข่าวดีกันไปล่วงหน้า สามารถปรับบวกขึ้นมาได้อีกครั้งในรอบ 1 เดือน จากกรณีที่ กกบ.ได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานการตั้งสำรองในงบการเงินตามเกณฑ์ใหม่ IFRS9 ที่เข้มข้นมากสำหรับนิติบุคคลทุกประเภท และจะสงผลกระทบมากที่สุดกับธุรกิจกลุ่มแบงก์พาณิชย์ จากเดิมที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็น 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กกบ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา การใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS 9 โดยมีมติให้บังคับใช้ 1 มกราคม 2563 โดยใช้บังคับกับสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ยกเว้นธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถาบันการเงินที่ต้องใช้บัญชี IFRS 9 จำนวน 700-800 ราย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีสถาบันการเงินบางแห่งได้เริ่มเตรียมการมาพอสมควรเพื่อให้ทันกำหนดเดิมคือต้นปี 2562 หากมีความพร้อมก็สามารถใช้ก่อนได้เลยตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 ซึ่ง กกบ.เห็นว่าหากใช้ก่อนก็จะสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจมากขึ้นกับนักลงทุน
“อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ IFRS 9 นำเสนอต่อคณะกรรมการภายใน 1 เดือน เมื่อถึงต้นปีหน้าก็สามารถที่จะทดลองใช้ได้ทันที”
บล.เมย์แบงก์ชี้
หุ้นกลุ่มแบงก์เริ่มรอบใหม่
นอกจากข่าวดีเรื่องการเลื่อนใช้ IFRS9 ออกไป 1 ปี ตลอดจนรอลุ้นผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2561และงวดครึ่งปีที่จะประกาศออกมา ทางด้านของ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง ได้ทำรายงานให้ความเห็นว่า หุ้นกลุ่มแบงก์กำลังปรับเข้าสู่รอบใหม่อีกครั้ง หลังปรับตัวลดลงมาพอสมควร โดยระบุปัจจัยบวกที่หนุนส่งคือ กรณีของโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ย
“จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น เราคาดว่าแบงก์ชาติ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ก็คือในรอบการประชุมวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 แทนที่จะเป็นไตรมาส 1/2562
คาดการปรับดอกเบี้ยขึ้น 25bps จะช่วยให้กำไรของธนาคารเพิ่มขึ้น 2-5% โดยมีผลกระทบน้อยมากต่อแบงก์เล็ก เราจึงปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น และราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผลประกอบการในไตรมาส 2/2561 ไม่ดีนัก เรามองว่าไม่มีความเสี่ยงในแง่รายได้หลักในไตรมาส 3/2561 เราปรับประมาณการกลุ่มแบงก์ขึ้นเป็น “บวก” จากคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังเพิ่ม KBANKเป็นหุ้นเด่นน่าซื้ออีกตัว เพิ่มเติมจาก BBL และ TISCO”
บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง คาดว่า โอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ กบง. น่าจะเกดขึ้นในรอบการประชุมวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น กนง.ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีขึ้นแน่นอน แบงก์ชาติเข้มงวดในเรื่องนโยบายการเงินขึ้นโดยเพิ่มปริมาณพันธบัตร จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิมคือไตรมาส 1/2562
“เมื่อตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2561 ออกมา น่าจะตอกย้ำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย เราคาดว่า กนง.อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่างการประชุมในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561
ดอกเบี้ยขึ้น 25bps ช่วยหนุนรายได้แบงก์ใหญ่เพิ่มขึ้น 2-5% จากการวิเคราะห์ค่าความอ่อนไหวระหว่างสินทรัพย์/หนี้สินต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ พบว่ากำไรสุทธิของ KTB, BBL, SCB, KBANKและ TMBจะเพิ่มขึ้น 2-5% หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น 25bps จาก NIMs ที่สูงขึ้น
เราปรับประมาณการ EPSปี 2561-2562 เพิ่มขึ้น 1-4% ส่วนแบงก์เล็กยังคงประมาณการเดิมไว้ก่อน โดยกำไรสุทธิของ TISCO และ KKP อาจลดลง <1% จากการมีสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่นอกจากนี้เรายังเลื่อนไปใช้การประเมินมูลค่าในปีหน้าอีกด้วย
โดยรวมแล้วราคาเป้าหมายหุ้นแบงก์ปรับเพิ่มขึ้น 5% โดยเฉลี่ยเพิ่ม KBANK เข้าทำเนียบหุ้นเด่นน่าซื้อ เราเชื่อว่าบรรยากาศการลงทุนในกลุ่มธนาคารจะกลับมาเป็นบวกในครึ่งปีหลัง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทุกธนาคารน่าจะได้รับประโยชน์ แม้จะมองว่า SCBและ KTB จะมีผลการดำเนินงานที่แย่กว่า KBANKและ BBL เนื่องจากประเด็นที่เฉพาะเจาะจง เราเพิ่ม KBANKเป็นหุ้นเด่นน่าซื้ออีกตัว เพิ่มเติมจาก BBLและ TISCO”
FETCO ไม่อยากให้เลื่อน
เกรงไทยไร้ความน่าเชื่อถือ
อนึ่ง ก่อนหน้า ที่กกบ.จะประชุม 1 วัน เพื่อตัดสินใจว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนใช้ IFRS9 ทางด้านของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นว่า ไม่ควรเลื่อนการบังคับใช้ IFRS9
ทั้งนี้จากการประชุม FETCO เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่า ไม่ควรเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS9 ออกไปอีก เนื่องจากอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอาจกระทบถึงผลการประเมินภาพรวมการกำกับสถาบันการเงินของประเทศไทย ขณะที่ภาคธุรกิจได้มีการเตรียมการและทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว
FETCO มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการกำหนดแนวปฏิบัติของแต่ละอุตสาหกรรมร่วมกันเพื่อให้สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้อย่างราบรื่น
“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรในตลาดทุนไทย 7 องค์กร ได้แก่ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดทำและผู้ใช้รายงานทางการเงินของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีดังกล่าวตามกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อให้รายงานทางการเงินของธุรกิจมีการรับรู้และวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงินสะท้อนความเสี่ยงของกิจการตามความเป็นจริง มีความถูกต้องและโปร่งใสในเชิงเศรษฐกิจ และงบการเงินของกิจการในประเทศไทยสามารถเปรียบเทียบกันได้กับในระดับนานาชาติ อันจะช่วยทำให้ผู้ใช้งบการเงินและนักลงทุนสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
FETCO มีความเห็นว่า หากมีการเลื่อนการบังคับใช้การปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS9 ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอาจกระทบถึงผลการประเมินภาพรวมการกำกับสถาบันการเงินของประเทศไทย โดยปัจจุบันภาคธุรกิจได้มีการเตรียมการและทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และหากมีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถดำเนินการถือปฏิบัติผ่านปีแรกได้ ในปีต่อไปปัญหาในทางปฏิบัติน่าจะลดลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม FETCO เห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติในหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ กรณีที่ไม่มีมาตรฐานกำหนดเป็นการเฉพาะในแต่ละเรื่อง การคำนวณการกันสำรองด้อยค่าในสินทรัพย์ทางการเงินและการกำหนดมาตรฐานในการวัดมูลค่ายุติธรรม การใช้ดุลพินิจในการจัดประเภทรายการต่าง ๆ ในงบการเงิน เป็นต้น”
ทั้งนี้ FETCO มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้อย่างราบรื่น ดังนี้
1) พิจารณากำหนดแนวปฏิบัติ (Guideline) ในแต่ละอุตสาหกรรม ให้มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติในการบันทึกบัญชีเหมือนกัน โดยอาจให้สมาคมที่เกี่ยวข้องเป็นตัวกลาง
2) พิจารณากำหนดวิธีปฏิบัติให้ง่ายขึ้นสำหรับการนำมาปฏิบัติใช้ในช่วงแรก เช่น ลดการเปิดเผยข้อมูลบางอย่างในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น
3) เร่งทำความเข้าใจร่วมกับผู้สอบบัญชีและหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้เห็นพ้องกันถึงวิธีการบันทึกบัญชี รูปแบบงบการเงิน และระบบที่เกี่ยวข้อง
“FETCO และสมาชิก พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตรฐานการรายงานการเงินของธุรกิจในประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกันกับมาตรฐานสากล มีความถูกต้องและโปร่งใสในเชิงเศรษฐกิจ พร้อมทั้งผู้ใช้งบการเงินและนักลงทุนสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รายงานจาก FETCO ระบุ