top of page
327304.jpg

ไทยเผชิญหม้อข้าวแตก...ผวา Trade War กระทบชิ้นส่วนรถ


ยอดส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ติดโผอันดับ 1 ของการส่งออกไทยทั้งหมด ลูกค้ารายใหญ่คือออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ แต่หวั่นสงครามการค้า อเมริกา VS จีน-ยุโรป จะกระทบอุตฯ ยานยนต์ไทย โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นรายได้หลักของภาคอุตฯ และของประเทศ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ว่ายังเติบโตดีทั้งจำนวนคันและมูลค่าการส่งออก โดยตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่ายอดการส่งออกของยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ในอันดับ 1 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด

สำหรับยอดการส่งออกยานยนต์หากนับเป็นจำนวนคันนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่าส่งออกไปที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มากที่สุดคือมากถึง 34% ของจำนวนคันที่ส่งออกไปทั้งหมด รองลงมาเป็นการส่งออกในเอเชีย ขณะที่การส่งออกไปที่ตลาดอเมริกาเหนือมีสัดส่วนประมาณ 8% ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก และอีกหลายๆประเทศ

ส่วนการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นายสุรพงษ์ กล่าวว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ไทยไปอเมริกาบ้าง ซึ่งตัวเลขด้านมูลค่าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนประมาณ 2.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้ารถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ โดยสัดส่วนใน 2.2% เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ถึง 1.7%

“เพราะฉะนั้นชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบมากกว่ารถยนต์ที่มีสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปอเมริกาเพียง 0.5% ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะมีการปรับขึ้นภาษีจาก 2.5% ของรถยนต์นั่งมาเป็น 25% จะเทียบเท่ากับอัตราภาษีนำเข้ารถบรรทุกหรือรถเชิงพาณิชย์…

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่ส่งไปจีน กลัวว่าถ้าหากจีนส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง เกรงว่าเศรษฐกิจของจีนจะลดลงหรือไม่ แทนที่จะเติบโต 6.9% เหมือนในไตรมาสที่ผ่านมา อาจจะเหลือ 6.2-6.5% หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้กระทบถึงการที่จีนจะนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศต่างๆในอาเซียนหรือเอเชียทั้งหลายถ้าประเทศในอาเซียนหรือเอเชียมีการส่งออกไปจีนน้อยลง ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆลดลงตามเช่นกัน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโตจากกว่า 7% เหลือ 6.9% ลงมาที่ 6.5% ก็ส่งผลถึงยอดการส่งออกรถยนต์ของไทย เพราะไทยส่งออกไปอาเซียนหรือเอเชียลดลงตาม ก็เป็นห่วงว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามผลว่าจะขยายเป็นวงกว้างขนาดไหน”

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึงญี่ปุ่นที่เป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ไปสหรัฐอเมริกาด้วยว่า ในแต่ละปีญี่ปุ่นส่งสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปไปสหรัฐอเมริกาประมาณ 1 ล้านคัน และมีโรงงานผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 2 ล้านคัน ซึ่งทางสหรัฐอเมริกามียอดขายประมาณปีละ 17 ล้านคัน แต่ผลิตในประเทศได้เพียงกว่า 10 ล้านคัน ส่วนที่เหลือ 6-7 ล้านคันเป็นการนำเข้า ซึ่งประเทศที่ผลิตรถเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาจะไปตั้งโรงงานในเม็กซิโกและแคนนาดาหรือประเทศอื่นๆ เพื่อใช้สิทธิภาษี NAFTA ในการส่งรถยนต์ไปขายในสหรัฐอเมริกา

ส่วนค่ายรถยุโรปที่ออกมาขู่ว่าจะไม่ผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นการตอบโต้นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า มีค่ายรถยนต์หลายรายที่มีฐานการผลิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการส่งออกรถยนต์จากยุโรปไปขายในสหรัฐอเมริกาในบางรุ่น ซึ่งยุโรปมองว่าไม่เป็นธรรม ถ้าสหรัฐอเมริกาจะตั้งอัตราภาษีรถจากยุโรปสูงถึง 25% ซึ่งเหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมให้ค่ายรถยนต์ยุโรป หรือผู้ผลิตที่อยู่ในเม็กซิโกหรือแคนาดาไปตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งค่ายรถจากยุโรปจะเสียเปรียบในแง่ต้นทุน เนื่องจากค่าแรงต่างกัน โดยค่าแรงเม็กซิโกหรือแคนาดาถูกกว่ามาก

“ส่วนค่ายรถยนต์สหรัฐอเมริกาที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยไม่น่ามีผล คิดดูว่าถ้าผลิตในสหรัฐอเมริกาแล้ว ขายรถปิกอัพในเมืองไทยในราคานี้หรือไม่ ซึ่งทำไม่ได้แน่นอน การมาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้วยังส่งออกไปประเทศอื่นๆ ทำให้เหมือนว่าสหรัฐอเมริกาส่งออกได้มากขึ้น หรืออย่าง GM ที่ตั้งอยู่ในจีนขายได้หลายล้านคัน มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาตลอดก็เหมือนกับเป็นการส่งออก ถ้าผลิตรถในสหรัฐอเมริกาแล้วส่งมาขายในจีน ถามว่าจะขายได้หรือไม่ ก็คงจะสู้กับรถยนต์ที่ผลิตในจีนไม่ได้เพราะราคาสูงกว่าอย่างแน่นอน แต่จีนก็มีการนำเข้าในบางรุ่นที่เป็นรถยนต์ขนาดใหญ่...

“ค่ายรถของสหรัฐฯที่ผลิตในไทยมี GM และ ฟอร์ด ซึ่งฟอร์ดผลิตรถออกมาขายแทบไม่ทัน ส่วนถ้าเกิดสงครามการค้าขึ้นมาทุกคนแอนตี้สหรัฐฯ คงไม่น่าเป็นไปได้ที่รถยนต์จากค่ายสหรัฐอเมริกาจะได้รับผลกระทบ เพราะค่ายรถสหรัฐฯไปตั้งฐานการผลิตที่ไหนก็พยายามทำ CSR อย่างตอนนี้สินค้าเหล่านี้พยายามปรับปรุงสู้กับแบรนด์อื่น สมัยก่อนอาจจะด้อยแต่ปัจจุบันสู้ได้แล้ว”

108 views
bottom of page