top of page
327304.jpg

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.85-33.25 หลังอ่อนค่าสุดในรอบ 8 เดือน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85-33.25 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.13 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 8 เดือน สอดคล้องกับแรงเทขายสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าโลกที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3.5 พันล้านบาท และ 2.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เงินบาทอ่อนค่าราว 1.8% ขณะที่มีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ส่วนยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในตลาดพันธบัตรอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท

ส่วนดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญยกเว้นยูโรและดอลลาร์แคนาดา โดยมีการซื้อขายผันผวน หลังจีนและสหภาพยุโรปตอบโต้สหรัฐฯ ในประเด็นกีดกันทางการค้าผ่านการปรับขึ้นภาษีนำเข้า อย่างไรก็ดี เงินยูโรได้แรงหนุนท้ายสัปดาห์หลังผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงการรับผู้อพยพ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของแคนาดาที่แข็งแกร่งเกินคาดรวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นกระตุ้นแรงซื้อดอลลาร์แคนาดา

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดสนใจการเปิดเผยบันทึกการประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ โดยในภาพรวมนักลงทุนยังคงจับตาประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมัน รวมถึงค่าเงินหยวนของจีนที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าดอลลาร์อาจเข้าสู่ช่วงพักฐาน แต่คาดว่าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงค่าเงินบาทจะฟื้นตัวอย่างจำกัดในระยะนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนและท่าทีของธปท.หลังเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายของไตรมาสที่สอง ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.25% โดยเป็นการปรับขึ้นรวม 1.00% ในช่วงเวลาเพียงหกสัปดาห์ เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ ซึ่งอ่อนค่าลงกว่า 6% ในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธปท.ระบุในโอกาสครบรอบ 21 ปีของการลอยตัวค่าเงินบาทว่า เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพเข้มแข็งและทุนสำรองระหว่างประเทศสามารถเป็นกันชนรองรับความผันผวนของตลาดการเงินได้ ส่วนการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินจะประเมินปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศมากที่สุด

2 views
bottom of page