top of page
312345.jpg

ทิศทางเศรษฐกิจ หลัง FED ปรับขึ้นดอกเบี้ย


Exclusive Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์

 

ฟันธง! แนวโน้มดอกเบี้ยโลกเป็นขาขึ้น เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอเมริกา ผลตอบแทนพันธบัตรลุงแซมดีดตัวสูงขึ้น เป็นตัวดูดเงินลงทุนจากทั่วโลกรวมทั้งไทย ส่วนราคาน้ำมันยืนระดับ 60 เหรียญปลายๆ อาจแตะ 70 เหรียญปีหน้า ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทย จีดีพีกระเตื้องดีขึ้น แต่เศรษฐกิจรากหญ้าและชนชั้นกลางยังสะบักสะบอม

ล่าสุดเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ถือว่าเป็นไปตามคาด จากที่มีการคาดการณ์กัน 100% ว่าต้องปรับขึ้น

ปรับขึ้น 2 ครั้งช่วงครึ่งปีแรกสะท้อนถึงอะไร

สะท้อนว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อก็ปรับตัวมากขึ้น แต่ระยะยาวยังไม่แตกต่างมาก ซึ่งเฟดยังมองดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 3% อยู่ หมายความว่ายังมีช่องอีก 1% ที่จะขึ้น คืออีก 4 ครั้ง ต้องดูว่าปีไหน แต่ก็มีคนมองที่แตกต่างกันไป บางคนมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีการเป็นตัวของการจ้างงานแล้ว ค่าจ้างต่างๆ เงินเดือนต่างๆ ปรับขึ้นค่อนข้างจะรวดเร็วเมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าถึงจุดที่การจ้างงานมันเริ่มล้นเริ่มเต็มที่แล้ว แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อก็จะมากขึ้น แล้วการขึ้นดอกเบี้ยก็อาจจะจำเป็นต้องขึ้นเร็วขึ้นในอนาคต ตรงนี้คือการมองของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่าง เบน เบอร์นันเก้ ก็จะมองในลักษณะนี้

แต่ในส่วนของเฟดเอง ที่ฟังมายังมองว่าการปรับขึ้นคงต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความมั่นใจ ถ้ามองแบบนี้ก็หมายความว่าโอกาสที่จะปรับขึ้นเร็วก็ยังไม่มาก แต่ถ้ามองจากปัจจัยอื่นๆ คิดว่าการปรับขึ้นเร็วในอนาคตคงจะไม่เร็วเหมือนที่บางคนคิด เพราะกำลังการผลิตสินค้าของสหรัฐอเมริกายังเหลืออยู่ คือใช้ยังไม่ถึง 80% โอกาสที่จะไปลงทุนเพิ่ม โอกาสที่จะไปผลักดันให้มันเร็วๆ คงจะยาก แต่ว่าการตึงตัวในตลาดแรงงานมันเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น ภาวะเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าโดยทั่วๆ ไป โอกาสที่จะปรับขึ้นแรงๆ คงไม่มาก ถ้ามองแบบนี้ ทั้งปีคงเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง ซึ่งถ้าปรับ 4 ครั้งจะมากไปนิดนึง ตามกระแสไปนิดนึง ส่วนตัวมองว่าปีละ 3 ครั้ง ก็โอเค ในช่วงครึ่งหลังของปีอาจมีเวลาปรับขึ้นสักครั้งนึง เช่นเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนอาจจะขึ้นสักครั้ง และถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังไปได้ดีอยู่ ไตรมาส 2 นี้คาดคะเนว่าจะไปได้ดี และปีนี้ปีหน้าก็คาดว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนหุ้นก็น่าจะขยับดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีก่อนๆ สหรัฐอเมริกาก็หุ้นดีพอสมควร ปีที่แล้วที่อ่อนไปเพราะค่าเงินดอลลาร์แย่ลง ก็ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสหรัฐอเมริกาควรจะเป็นเท่าไหร่

ก็ตีประมาณ 3% แต่ถ้าขยับมากเขาก็คงระวังพอสมควร เฟดที่เขาทำคิวอี ที่เขาซื้อพันธบัตรไว้คงระบายออกมาได้ไม่เร็วมาก เพราะมีผลต่อทิศทางของค่าเงิน ตรงนี้ก็คงเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ว่าอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจไม่แรงมากนัก แต่ก็เป็นความเสี่ยงอยู่ ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป ถือว่ายังอยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างจะอ่อนตัว เงินบาทค่อนข้างติดตามค่าเงินดอลลาร์ไป เงินทุนสำรองเราค่อนข้างมากอยู่

ถ้าเราสังเกตช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าค่าเงินในหลายประเทศลงแรงมาก แม้แต่หุ้นก็ลงแรงเหมือนกัน ถ้าค่าเงินไม่ลง หุ้นก็ลง สาเหตุหนึ่งมาจากหลายๆ ประเทศเขาแตกต่างจากไทย เขาไม่เคยเจอวิกฤตปี 2540 เพราะฉะนั้นการก่อหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในรูปของดอลลาร์ค่อนข้างเยอะ ช่วงที่มีการคาดคะเนว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งขึ้น ก็ทำให้ความกังวลเรื่องค่าเงินตามมา แต่ของไทยเราไม่มีปัญหานี้มากนัก ถือว่าน้อยเลย เพราะเราแทบไม่ได้ก่อหนี้ต่างประเทศเลย ที่ผ่านมาเราโตช้ามาก แล้วค่อยๆ โต ไม่ได้มีปัญหาเรื่องก่อหนี้ต่างประเทศ ดังนั้น ค่าเงินเราเลยไม่ได้ขยับ ขณะที่ทุนสำรองเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องรอวันที่มีความรู้สึกว่าเงินมันต้องออกไปลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศแทนที่จะถือไว้ในประเทศไทย ก็คงจะใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และจะมีผลต่อค่าเงินบาท ซึ่งอันนี้ดูว่ามันจะเปลี่ยนแปลงภายในปีนี้หรือปีหน้า ก็ต้องติดตามดู

แต่ทิศทางก็คือถ้ามองยาวๆ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปีหน้ามีทิศทางที่จะแข็งค่าขึ้นพอสมควรทีเดียว ค่าเงินบาทก็ต้องอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ถ้าดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ค่อยๆ ปรับขึ้น และสุดท้ายแล้วก็จะไป 3% ดังนั้น นโยบายของไทยควรจะเป็นอย่างไร

ก็คงจะกล้าๆ กลัวๆ ไปจนกระทั่งสถานการณ์มันบีบรัดมากๆ แต่ขณะนี้มีความกังวลพอสมควร เพราะหลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะประเทศที่ค่าเงินตกมากๆ เขาก็ปรับค่า ปรับดอกเบี้ยขึ้นมา อย่างอินเดียก็ปรับขึ้น อินโดนีเซียก็ปรับขึ้น พวกนี้ค่าเงินตก ก็ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ส่วนไทยจากที่ตัวเลขล่าสุด จีดีพีไตรมาสแรกค่อนข้างจะดี อินเฟรชั่นเริ่มขยับแล้ว คนก็รู้สึกว่าจะเอาอยู่มั้ย ถ้าอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ฉะนั้น ก็จะมีคนที่วิเคราะห์อยู่ส่วนหนึ่งว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นเร็วภายในปีนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงเวลา อาจเป็นกลางปี หรือปลายปีหน้า ซึ่งภายในปีนี้โอกาสขึ้นยังไม่มากนัก คือเศรษฐกิจทั่วไปยังไม่ค่อยดี

ถ้าเราดูตัวเลขจริงๆ แม้กระทั่งตัวเลขส่งออกที่เรามองว่าดีนั้น มันดีในรูปของดอลลาร์ คือดอลลาร์มันกินไป 10% แล้ว ถ้ามองตัวเลขกันจริงๆ มันแทบจะติดลบ คือโตน้อยมาก ซึ่งถ้าเรามองสกุลที่เทียบกันได้ ภาคส่งออกเราก็ยังไม่ฟื้นจริง และมองไกลๆ ไปถึงเศรษฐกิจโลกก็ไม่ได้ฟื้นจริง ส่วนที่ฟื้นเป็นภาคบริการเป็นหลัก ของไทยเราก็ได้อานิสงส์ด้วยเพราะเรามีท่องเที่ยว ซึ่งทางยุโรปก็ไปอย่างช้าๆ จีนก็ค่อนข้างจะทรงๆ มีสหรัฐอเมริกาที่วิ่งๆ ไปใกล้ๆ 3% จาก 2% ฉะนั้น จะมีไม่กี่ประเทศที่ขยับไปอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้การฟื้นตัวก็ยังอ่อนแออยู่

ดังนั้น การประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงปีต่อๆ ไปยังถือว่ามีอุปสรรคพอสมควร การฟื้นตัวของตัวเลขการบริโภคเป็นประเด็นที่เราบ่นกันมาก ซึ่งหากเราไปดูกันจริงๆ จะเห็นว่าประชาชนเขาบ่นกันจริงๆ ประชาชนที่เป็นชนชั้นกลาง และล่างลงไป สถานการณ์เศรษฐกิจเขาแย่มากๆ ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมาอาจดูดีในไตรมาสแรก แต่ก็อย่ามองเร็วเกินไป มันอาจเป็นแค่ไตรมาสแรกนี้ อาจเป็นการแกว่งตัว เนื่องจากไม่มีเรื่องการซื้อรถยนต์ซื้ออะไรเข้ามา ตัวเลขพวกนี้อาจทำให้ตัวเลขแปรผันไปได้บ้าง ไตรมาสหน้าอาจไม่ดีกว่าไตรมาสนี้ เพราะฉะนั้นจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้โดยส่วนตัวก็ยังคิดว่าเศรษฐกิจไทยยังไปอย่างช้าๆ อยู่ แม้จะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีสองปีที่ผ่านมา แต่ว่ามันน้อยจาก 3% กว่าๆ มา 4% ถ้าเทียบแล้วก็คือว่า มาตรฐานการมองเราปัจจุบันจะเทียบกับอดีตไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนนี้ขึ้นที 5% แต่ตอนนี้เราวิ่งใกล้ 4% ก็ดีใจแล้ว ก็ต้องดูด้วยว่าขึ้น 4% จากฐานตรงไหน ซึ่งปีที่แล้วไม่ค่อยจะดีนัก ปีนี้ตัวเลขก็เลยดี อินเวสเม้นต์ก็ไม่ค่อยดี การส่งออกก็ดีในรูปของดอลลาร์ แต่ในรูปบาทถือว่าไม่ดี

การที่เราเห็นกระแสเงินทุนต่างชาติทั้งในตลาดเงินตลาดทุนไหลออกมากในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมั้ย

ใช่ เป็นเรื่องของอัตราผลตอบแทน ซึ่งทำให้ตัวเลขที่ต่างเริ่มขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างของสหรัฐอเมริกาที่มันต่ำกว่าเริ่มแคบลงเรื่อยๆ แต่กับไทยเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความได้เปรียบของพันธบัตรในไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาก็ค่อยลดลงเรื่อยๆ แล้ว ในขณะที่ความเสี่ยงในการมาลงทุนพันธบัตรไทยมันเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในตลาดของสหรัฐอเมริกา

ถือเป็นอย่างนี้ การระดมทุนของภาคเอกชนไทย ก็ยิ่งลำบากขึ้น

เขาก็ต้องกู้น้อยลง กู้แบงก์น้อยลง ให้ออกตราสารหนี้เพื่อการระดมทุนเอง ถ้าออกเองเขาจ่ายน้อยกว่า แต่ในแง่ผู้ลงทุนอย่างเช่นเราที่จะลงทุนในพันธบัตรเอกชนก็ต้องระวัง เพราะอัตราผลตอบแทนอาจจะสูงจริงเพราะเขาไม่อยากไปกู้แบงก์ มันแพง เขาก็มาออกเอง กู้เอง ออกตราสารเอง แต่ผู้ลงทุนก็ต้องระวัง เพราะความเสี่ยงอาจจะไม่คุ้ม ไม่ใช่ไปหวัง 4-5% แต่ถึงเวลาจริงๆ แล้วมีปัญหา เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในวงการการเงินเขาจะระมัดระวังพอสมควรในการที่จะเอาเงินไปลงทุนในพันธบัตรของบริษัทเอกชน เขาก็พยายามซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า เพราะผลตอบแทนต่ำกว่าไม่มากนัก ในขณะที่ความเสี่ยงน้อยมากๆ เพราะฉะนั้นจะมีคนบางส่วนที่ถืออยู่ในตลาดเงินก็คือมันนี่มาร์เก็ต

ส่วนการลงทุนในหุ้นโดยทั่วไปทั่วโลกยังถือว่าน่าสนใจ ยังไปได้อยู่ แต่ของไทยเป็นอีกเรื่อง ต้องว่ากันไป เพราะช่วงหลังเริ่มลงมาเรื่อยๆ ความเสี่ยงมันเริ่มมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเรื่องต้นทุนผลิต อย่างราคาน้ำมัน จะกระทบไทยมากน้อย แค่ไหน

เข้าใจว่าโอเปกเขาค่อนข้างจะแตกกัน เพราะทางรัสเซียเขามีความรู้สึกว่าถ้าราคาสูงอย่างนี้เขาขายดีกว่า แต่ว่าทุกวันนี้มันเป็นเรื่องข่าวสารที่ออกมาในแต่ละวัน ราคาน้ำมัน WTI ทุกวันนี้อยู่ที่ประมาณ 64 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ของ BRENT ต่างกันเกือบ 10 ดอลลาร์ ถือว่าต่างกันมาก ถ้าประเมินจากสถานการณ์ถือว่าเป็นราคาที่สูงพอสมควรแล้วเมื่อเทียบกับความเสี่ยงทางการเมืองในตะวันออกกลางที่ค่อนข้างจะโอเค ไม่มีเหตุผลที่จะไปมองว่าราคาน้ำมันจะสูงมากๆ ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ถ้าจะเห็นราคาต่ำกว่านี้คงเป็นไปได้บ้างนิดหน่อย เพราะมีปัจจัยจากการเจรจาของโอเปก เรื่องเวเนซุเอลาบ้าง เรื่องอิหร่านบ้าง แต่ราคาน้ำมันของสหรัฐอเมริกายังขยับไม่ได้แรง เนื่องจากในสหรัฐอเมริกายังไม่สามารถผลิตออกมาขายได้มากนัก เพราะมีปัญหาเรื่องท่อในการลำเลียง เลยทำให้ราคาน้ำมันของ BRENT ไม่ลงมาแรง แต่ถ้าผ่านปีนี้ไปจนถึงปีหน้า จะมีน้ำมันของสหรัฐอเมริกาเข้ามาในตลาดมากขึ้น ตอนนี้เขาระบายไม่ทัน ถ้าดูประมาณนี้ถือว่ารับได้ 60 เหรียญเศษๆ ประมาณนี้ ไม่ต่างมาก ส่วนโอกาสที่จะขึ้นไปถึง 70 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น คาดว่าน่าจะเป็นปีหน้า

สำหรับต้นทุนภาคการผลิตของไทยก็ไม่น่ากังวลมาก ส่วนราคาพลังงานอื่นๆ อาจจะสูง เพราะที่ผ่านมาการลงทุนต่างๆ มันหยุดมาหลายปีแล้ว เป็นการผลิตที่มาจากของเดิม เป็นเหมืองสำรองที่เขาทำไว้แต่เดิม ไม่ได้มีการลงทุนเพิ่ม คิดว่าปีหน้าบริษัทพลังงานจะเริ่มมาลงทุนในน้ำมันมากขึ้น เพราะว่าราคาน้ำมันที่ระดับนี้ถือว่ายังพอที่จะลงทุนได้ คิดว่าโอกาสที่จะลงมาที่ 55 เหรียญต่อบาร์เรล คงจะยากแล้ว เพราะราคาคุ้มทุนมันขึ้นมาแล้ว

กรณีอีซีบี (ธนาคารกลางยุโรป) คาดว่าจะมีนโยบายการเงินอย่างไร

อีซีบีช่วงที่ผ่านมา เขาเคาะไปแล้ว ตลาดค่อนข้างชัดเจน คือว่าอีซีบีเขาจะเริ่มลดคิวอีเริ่มกระบวนการที่จะค่อยๆ หยุดการซื้อ ฉะนั้น สภาพคล่องจะเข้ามาน้อยลง แต่ว่าเขาก็ไปเลื่อนแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเขาไปถึงไตรมาส 3 ปีหน้าประมาณเดือนกันยายน ซึ่งถือว่าเป็นการขยายเวลาไปนานพอสมควร เพราะที่ผ่านมาเขาประเมินว่าจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้าเลื่อนไปอย่างนั้นก็มีผลทำให้ค่าเงินยูโรตกลง เพราะฉะนั้นค่าเงินยูโรจะค่อนข้างตกลงในช่วงนี้ ที่ผ่านมาก็เริ่มลงแล้ว ดอลลาร์วิ่งขึ้น เยนก็เริ่มขยับลง และค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาก็ลง จะกลับมาเหมือน 2-3 ปีที่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ผันผวนแรง คือชัดแล้ว และการประชุมที่ผ่านมาเขาเคาะแน่นอนแล้วว่าจะเอาแบบนี้ สมัยก่อนยังไม่ชัดก็คาดคะเนกันไปต่างๆ นานา

ส่วนญี่ปุ่น

เขาก็ยังทำอะไรไม่ได้ นอกจากปล่อยสภาพคล่องไปเรื่อยๆ คิวอีก็ทำไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านั้นธนาคารกลางญี่ปุ่นพูดทำนองว่าเขาจะเริ่มเลิกปล่อยสภาพคล่องแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ทำไม่ได้ การลงทุน การผลิตต่างๆ ไม่ได้กระเตื้องมากนัก คือเป็นบวก ไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้ถึงขั้นต้องไปปรับเปลี่ยนนโยบาย ทิศทางนโยบายการเงินของญี่ปุ่นจะคล้ายคลึงกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แล้วเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โอกาสที่ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินก็คงจะยากมาก เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นค่อนข้างขึ้นกับต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศไม่ได้ฟื้นตัวแรง โอกาสที่ญี่ปุ่นจะโตแรงก็คงจะยาก ปีหน้าเป็นปีที่เราต้องอดทนดูต่อไปเหมือนหลายปีที่ผ่านมา บางประเทศเป็น 10 ปี แม้แต่จีนเองตอนนี้เขาระวังตัวมาก ต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหญ่มาก คือว่าหันมาผลิตสินค้าทางด้านเทคโนโลยี และหันมาด้านสินค้าบริการมากขึ้น

เรื่องสงครามการค้าของโลก ยังเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

ยังต้องระวังอยู่ เพราะจีนเป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐอเมริกาแน่นอน คงไม่หยุดแค่นี้ เขาก็กลัวจีน เขาพยายามบีบจีนให้ซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น และลดทอนสินค้าจากจีนที่ส่งไปสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น เรื่องการเจรจาในจีนไม่ง่าย และจีนเองก็รู้ดีว่าถ้ายอมง่าย ระยะยาวก็จะเป็นเบี้ยล่างให้กับสหรัฐอเมริกาเหมือนญี่ปุ่น และต้องยอมไปเรื่อยๆ จนเศรษฐกิจแย่ไปเลย เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของการต่อรองจะมีความสำคัญมาก ถ้าเขาทำใจดีเหมือนไทยและญี่ปุ่น จีนเขาจะตายแน่ เขารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนตามสหรัฐอเมริกาได้ เพียงแต่ว่าจะยอมเฉือนเนื้อตัวเองในระยะสั้นมากน้อยแค่ไหน

แต่ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยทั่วไปเขามองปัญหาระยะยาวอยู่แล้ว เขาไม่ได้มองระยะสั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการเก็บภาษีตอบโต้กันในช่วงนี้ เขาคงยินดี และเขาคงคิดว่าอันนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว ยอมเสียผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาวไว้ ฉะนั้น ก็อาจเริ่มตอบโต้สินค้าการเกษตรของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะแรง ต้องได้เห็น 2 ประเทศนี้ซัดกันแรงทีเดียว ไม่ใช่แค่ขู่กันไปขู่กันมา แต่เป็นระดับปฏิบัติ เพราะ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐที่สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีนำเข้า ก็เก็บเลย แสดงว่าเขาเก็บเริ่มต้น ส่วนที่เหลือค่อยมาเจรจากันใหม่ ค่อยมาว่ากัน เป็นการชี้แนวทางว่าเขาต้องการเอาจีนเป็นเป้าหมายที่จะตอบโต้ที่มากทีเดียว แต่ว่าจีนเขาก็ทราบดี คือต่างฝ่ายต่างทราบ สหรัฐอเมริกาก็ทราบว่าจีนซื้อเวลา เหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

57 views
bottom of page