top of page
369286.jpg

ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. 61...ทำเอาร้องไห้หนักมาก


อาทิตย์ก่อนโน้น เพิ่งได้รับข่าวดีว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตดี๊ดี จีดีพี ไตรมาส 1/2561 ขยายตัวตั้ง 4.8% เป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาสหรือ 5 ปีเลยเชียวแหละ แถมยังจะปรับเป้าทั้งปีให้โตเพิ่มเป็น 4.7% อีกแน่ะ

แต่ชื่นใจได้อาทิตย์เดียวเอง หอการค้า ได้ออกมารายงาน ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2561 ระบุดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนซะแล้ว

ตามรายงานหอการค้าให้ข้อมูลประกอบว่า ผู้บริโภคชาวไทย ยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ฟื้นตัวช้า และการฟื้นตัวยังกระจุกตัวไม่กระจายตัวทั่วทุกภูมิภาค ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น และรู้สึกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงเห็นว่าค่าครองชีพทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ยังคงต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

นอกจากนี้ หอการค้ายังระบุว่า ดัชนีชี้วัดตัวอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตก็ปรับตัวลดลงทุกรายการ คือลงมาที่ระดับ 66.9 75.2 และ 98.3 ตามลำดับ (เทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน 2561 ที่อยู่ในระดับ 67.8 75.8 และ 99.1 ตามลำดับ)

คำอธิบายมีอยู่ว่า หากดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ ที่ระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต

การปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.9 มาอยู่ที่ระดับ 80.1 และการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก

ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมันและราคาสินค้าปศุสัตว์ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 54.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.9 มาอยู่ที่ระดับ 91.3 ซึ่งยังคงใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หอการค้ายังปลอบใจว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ อาจเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับจิตวิทยาคือ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งระดับราคาน้ำมันเริ่มลดลงแล้ว ประกอบกับรัฐบาลส่งสัญญาณตรึงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร จึงต้องติดตามต่อไปว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรในอนาคต เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่มาก

“หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่องทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในใกล้เคียงระดับ 4.5% ได้ในปี 2561” หอการค้ากล่าวสรุปแบบลูบหลังปลอบใจ

ยิ่งหันมาดูเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงอำนาจซื้อของเงินในมือประชาชน พบว่าเงินเฟ้อปรับขึ้น อำนาจเงินในมือของคนลดลง ซื้อของได้น้อยลง หรือซื้อของแพงขึ้น...

รายงานจาก อีไอซี ฝ่ายวิจัยแบงก์ไทยพาณิชย์ บอกว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2561

เพิ่มขึ้นไปที่ 1.49% จาก 1.07% ในเดือนเมษายน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 0.89% จาก 0.64% ในเดือนก่อน

รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 76.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 51.0%

นอกจากนี้ ราคาหมวดอาหารสด ขยายตัว 0.24% นำโดยราคาผักสดเพิ่มขึ้น 5.5% ราคาข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 2.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดอาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือน นำโดยดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ที่เพิ่มขึ้น 3.3% จาก 1.4% ในเดือนก่อน รวมถึงราคาหมวดอาหารสำเร็จรูปขยายตัว 1.3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม LPG

ทั้งนี้ ต้องจับตากำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศในระยะต่อไป หลังเริ่มเห็นสัญญาณการกระจุกตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเริ่มคลี่คลาย เห็นได้จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนเร่งตัวขึ้นในไตรมาสแรก รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มทรงตัวหลังจากหดตัวมา 9 เดือนติดต่อกัน อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. ที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จากต้นปีซึ่งอยู่ที่ 1.3% จากจำนวนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%YOY ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อีกทั้งค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรของลูกจ้างคนไทยแบบปรับฤดูกาลก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนเฉลี่ย 3.9%YOY ในไตรมาสแรก ถือเป็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม อีไอซี มองว่าการเพิ่มการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะมีกำลังเพิ่มที่ช้าๆ หรือ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางยังคงมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงกดดันการใช้จ่ายอยู่

เศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะที่ดูเหมือนจะดีแต่ไม่ดีแบบนี้มา 4-5 ปีนี่แหละ ที่ทำให้คนไทยตัวจริงเสียงจริง ต้องเป็นฝ่าย ร้องไห้หนักมาก

25 views
bottom of page