top of page
369286.jpg

น้ำมันแพงกระทบหนัก...เตือนรัฐอย่าเอาเงินคนอื่นมาอุ้ม


นักเศรษฐศาสตร์ ’ดร.ตีรณ’ เตือนรัฐใช้นโยบายราคาพลังงานที่เหมาะสมกับเมืองไทย ชาติต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องยึดหลักให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดโลก การเข้าไปแทรกแซงอุ้มราคาเหมือนกับเอาเงินคนอื่นมาแก้ปัญหา

เอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาอุ้ม ราคาขายปลีกน้ำมัน-พลังงานอีกแล้ว

เดิมกองทุนดังกล่าวนี้มีการตั้งเป้าว่าถ้าน้ำมันแพง ก็จะเอามาอุ้มหน่อยนึง ถ้าน้ำมันถูกก็เก็บแพงหน่อย กองทุนนี้ก็น่าจะมีการเก็บเงินเข้าไปเยอะพอสมควร คือตอนนี้มีประมาณ 30,000 ล้านบาท และก็จะมีกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่เก็บไว้ทำหลายอย่าง ซึ่งขณะนี้มีแรงกดดันเยอะ และขยายประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องปตท. มีปัญหาต่อต้านตั้งแต่เรื่องท่อแก๊ส และอีกหลายๆ เรื่อง ก็อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องกลับไปดูเรื่องค่าการตลาด และเมื่อดูแล้ว จะเห็นภาษีค่อนข้างจะสูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ตรงนี้อาจจะทำให้รัฐบาลหรือผู้ที่ดูแลเริ่มหวั่นไหว แก้ปัญหาไม่ถูก เมื่อภาษีมันสูงไปก็ต้องไปดูเรื่องภาษี แต่กลายเป็นว่าไปดูเรื่องอื่น คือไปเอาอันอื่นมาแก้

ก็ต้องมาดูรายละเอียดว่ารัฐบาล ดำเนินการเพื่อลดกระแสการต่อต้านจากผู้ใช้หรือเปล่า เพราะขณะนี้มีการเคลื่อนไหวทางด้านโซเชียลมีเดียเยอะมาก รวมถึงมีเรื่องว่ารัฐบาลเองก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนไปเป็นบอร์ดของบริษัทพวกนี้บ้างอะไรต่างๆ ก็มีคนพูดถึงเยอะ รวมทั้งอดีตผู้บริหารที่มาเป็นรัฐมนตรี ก็เคยเป็นผู้บริหารที่ได้ผลประโยชน์ ค่าตอบแทนอะไรต่างๆ เป็นเงินเดือนมหาศาล ซึ่งจริงเท็จอย่างไรเราก็ไม่ทราบ เพราะเราไม่ได้เป็นฝ่ายตรวจสอบ

แต่ว่ากระทรวงการคลังคงจะต้องดูให้ละเอียดว่า ธุรกิจปตท.เป็นธุรกิจที่แปรรูปออกมาจากรัฐวิสาหกิจเดิม และส่วนใหญ่ประชาชนก็ไม่ได้มองภาพยาว ไม่ได้มองว่ามันเกี่ยวกันแปรรูปหรือไม่ จัดเก็บอย่างไร เกี่ยวกับการกำกับดูแลมั้ย หรือว่าเรามีความอ่อนแอในเรื่องปัญหาการป้องกันการผูกขาด เรายังดูภาพรวมไม่ออก และรัฐบาลต้องให้ความรู้กับประชาชน หรือว่าไปตรวจสอบว่านโยบายต่างๆ ที่ทำไว้ดำเนินการถูกต้องจริงหรือไม่ ก็ถูกโจมตี เลยแก้ปัญหาด้วยปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง

แล้วนโยบายราคาพลังงานที่เหมาะสมกับไทย ควรเป็นอย่างไร

ถ้าพูดถึงว่านโยบายราคาพลังงานที่เหมาะสมของไทยเป็นอย่างไร เนื่องจากว่าเราไม่ใช่เป็นประเทศผู้ผลิตจริง และที่ผลิตอยู่คงจะน้อย หลักใหญ่ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดมากขึ้น ส่วนเรื่องราคาที่อิงสิงคโปร์ ส่วนตัวมองว่าเป็นความเข้าใจดี อยากให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามการแข่งขัน

อาจารย์ยังเชื่อมั่นเรื่องกลไกตลาดจะดีที่สุด

ต้องเป็นอย่างนั้น

ถ้าไม่เป็นไปตามกลไกราคาตลาด เราก็ต้องเอาเงินของคนอื่นมาแก้ปัญหา ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องราคาน้ำมันต้องแพง และเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นอีกเรื่อง ก็ต้องไปว่ากันว่าส่วนไหนที่กระทบสิ่งแวดล้อม มองว่าขณะนี้ สกรีนของรัฐบาลที่ทำมา 10-20 ปี ก็เข้าร่องเข้ารอยพอสมควร ส่วนใหญ่ก็เน้นการแข่งขันพอสมควร ภาษีที่สูงส่วนหนึ่งก็คือความห่วงใยเรื่องปัญหาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เพราะเราไม่ได้ผลิตพลังงานเอง ก็ไม่อยากจะให้ใช้กันมาก

สมัยก่อนเราตั้งภาษีค่อนข้างจะสูง และอีกส่วนก็มองว่ามันสร้างปัญหารถติดบ้าง สิ่งแวดล้อม และอะไรอีกหลายอย่าง ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาษีของไทยสูง แต่ประเด็นปัญหาว่ามันสูงเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ตรงนี้อาจจะเป็นประเด็นที่ในอดีตรัฐบาลไม่เคยดู คือพูดง่ายๆ ก็คือว่า สำนักนโยบายพลังงานในอดีตที่เป็นคนกำหนดราคา แข่งขัน และเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็อาจจะไม่ได้คำนึงถึงภาพรวมประเทศ อาจจะดูเฉพาะภาคย่อยของประเทศตัวเอง ตรงนี้ก็ต้องกลับไปดูใหม่ว่าเป็นอย่างไร แต่มันไม่ควรจะเป็นระบบที่อาศัย การแทรกแซง เพราะเป็นการเอาเงินคนอื่นมา

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติออกมาหวั่นไหวเรื่องของราคาน้ำมันที่แพง จะกระทบการบริโภค เพราะต้นทุนธุรกิจ และแนวโน้มน้ำมันมีทีท่าว่าจะสูงขึ้นไปอีก

ราคาน้ำมันปัจจุบันถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยยังถือว่าถูก แต่ถ้ามองว่าแพงเกินไปหรือไม่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะต้องไปดู แต่ถ้ามองว่าแพงขนาดกระทบค่าครองชีพ ก็คงยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นอินเดียใช่ เพราะอินเดียต้องบริโภคน้ำมันมาก และเศรษฐกิจก็ยังไม่ปรับเท่าไหร่ แต่ของไทยปรับไปเยอะแล้ว การใช้พลังงานจากน้ำมัน เราใช้ไม่มากเหมือนในอดีต ตัวนี้จึงยังไม่ใช่หลักสำคัญในการทำให้เงินเฟ้อสูง

ถ้าพูดถึงความรู้สึกของประชาชนขณะนี้จะผสมปนเประหว่างความยากลำบากทางเศรษฐกิจกับเรื่องราคาน้ำมัน คือรู้สึกว่าตัวเองรายได้น้อย แต่ต้องมาจ่ายราคาน้ำมันขึ้นอย่างกะทันหัน ได้ข่าวว่าผู้ผลิตต่างๆ เอาเปรียบประชาชน เอาน้ำมันดีส่งออกต่างประเทศ เอาน้ำมันไม่ดีมาขายในประเทศราคาแพงๆ ต่างประเทศบริโภคกันถูก ก็ต้องอธิบายกันพอสมควรแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ มันต้องหาจุดลงตัว ถ้าไม่หาจุดลงตัว ก็จะกลายเป็นความไม่เข้าใจกัน และไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลและผู้บริหารบริษัทน้ำมันดำเนินการเอาเปรียบประชาชนหรือไม่

มองทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างไร

ขณะนี้มันจะมีภาพสั้นกับภาพยาว

ภาพสั้นก็คือมีความเสี่ยงเยอะแยะจากตะวันออกกลาง และหลายปัญหามาถาโถมกันจนกระทั่งราคาน้ำมันโลกมันจะขึ้นไปสัก 60 เหรียญต่อบาร์เรลก็โอเคแล้ว ปรากฏว่าขึ้นไปถึง 70 เหรียญต่อบาร์เรล และก่อนหน้าขึ้นไป 70 เศษ และตอนนี้ก็ลงมา 67-68 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาลงแรงมาก 4-5% ที่ลงแรงมากก็เพราะว่ารัสเซียกับซาอุดีอาระเบียเริ่มมีความรู้สึกว่าปรับการผลิตไม่เป็นไปตามที่ทำไว้เยอะๆ แต่ภาพใหญ่ของมันก็คือว่ามันมีปัญหาในอิหร่านปัญหาหนึ่ง เวเนซุเอลาเรื่องใหญ่มาก 2 ปัจจัยนี้ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปสูงในระยะสั้นประมาณ 6 เดือนหรือ 1 ปี

ทีนี้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาออกมาไม่ทัน ทำให้การคาดคะเนก่อนหน้านี้ มองว่าจะสูงมากจนกระทั่งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเริ่มพูดถึงท่าทีใหม่ แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างนั้น

ส่วนภาพยาว ราคาน้ำมันโลกมันจะแบ่งประเภท คือ คุณภาพดี และคุณภาพต่ำ และจะถูกกระทบโดยความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคุณภาพดีจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น และเป็นที่นิยม ถ้าซัลเฟอร์หรือกำมะถันน้อย ก็จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันที่มีซัลเฟอร์มากที่มาจากตะวันออกกลาง น้ำมันที่มีซัลเฟอร์น้อยจะมาจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นความต้องการน้ำมันจากสหรัฐอเมริกายังมีมาก และอาจจะผลิตไม่ทัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนไว้น้อย ส่วนทางตะวันออกกลาง เขาก็ลงทุนน้อยอยู่แล้ว ตรงนี้ถ้ามีการปรับเปลี่ยนนโยบาย มาตรฐานต่างๆ มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

เพราะฉะนั้นราคาน้ำมัน น่าจะยืนอยู่ได้ในระดับ 60-70 เหรียญต่อบาร์เรลถึงแม้ว่าจะมีเชลล์ออยล์ออกมาบ้างในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า มีท่อต่างๆ พอเพียงมากขึ้น ก็น่าจะอยู่ได้สบายๆ เพราะฉะนั้นราคาถ้ามีปัญหาทางการเมืองในตะวันออกลางก็อาจจะวิ่งเกิน 70 เหรียญต่อบาร์เรลได้เหมือนกัน ตรงนี้หมายความว่า ราคาน้ำมันในอนาคตอาจะไม่ถูกเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควรในเรื่องค่าครองชีพที่ประชาชนต้องแบกรับ

สำหรับไทยชนชั้นกลางเป็นแหล่งสำคัญในการบริโภคน้ำมัน และชนชั้นกลางสัดส่วนในเศรษฐกิจของไทยมันลดลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มที่มีปัญหามาก และมีภาระต่างๆ มากมาย แต่ยังต้องบริโภคสินค้าต่างๆ ในราคาแพง ภาษีก็เสียสูงกว่าคนทั่วๆ ไป ตรงนี้จะเป็นแรงที่กดดันในอนาคตจะมีปัญหากับรัฐบาลเยอะ รัฐบาลก็ควรเตรียมตัวนโยบายเรื่องพลังงานให้เรียบร้อย ต้องกระจายการใช้น้ำมัน การวางแผนพลังงานต้องดีมากๆ ขณะนี้ก็จะมีแรงกระเพื่อมว่าอยากจะทำให้เป็นโซลาร์ทั้งประเทศเลย ก็คงจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ต้องสังคายนาโดยเฉพาะราคาน้ำมันว่าภาษีเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น และการสร้างทางอะไรต่างๆ ใช้เงินลงทุนค่อนข้างมหาศาล เหล่านี้จะทำให้การจราจรติดขัดเหมือนเดิมหรือไม่ และเหตุผลในการที่จะต้องเก็บภาษีอะไรต่างๆ มันจะเป็นอย่างไร

คิดว่ารัฐบาลจะต้องดูให้ครบขึ้น และต้องดูปัญหาระหว่างประเทศด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเหตุผลให้ประชาชนไม่พอใจ และรู้สึกว่าตัวเองต้องแบกรับภาษีทุกชนิดเลย

เป็นห่วงฐานะทางการเงินการคลังของประเทศมั้ย

ของไทยไม่น่าจะมีปัญหา เพราะด้านภาษีเรามีพลังงานที่ต้องลดโดยตามสภาวะทางเศรษฐกิจ และบางอย่างต้องปฏิรูป อย่างเช่นภาษีนิติบุคคล เพราะถ้าสูงมากๆ เราก็ไปไม่รอด ภาษีแวต เราพยายามที่จะปรับขึ้น แต่ก็ปรับไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ภาษีทรัพย์สินก็ไม่กล้าเก็บคนที่มีทรัพย์สินสูงมาก เหล่านี้สร้างปัญหาเยอะมาก แต่ภาคการใช้จ่าย เป็นภาคใหญ่ที่สุด คือรัฐปล่อยให้ระบบการคลังของรัฐที่เป็นรายจ่ายบานปลายมาก มีการใช้เงินมหาศาล และก็ที่ใช้ไปแล้วมีผลจริงหรือเปล่า เหล่านี้ถ้ารัฐบาลจริงจังกับมันและพยายามแก้ไขตรงนี้ จะช่วยได้ ถ้าหากไม่แก้ไขอย่างนี้ แรงกดดันจากภาษีต้องลดลง

ขณะนี้ทั่วโลกเจอภาวะฝืดเคืองมาก ภาษีทุกประเทศมีการปรับตัวลง และรายจ่ายของประเทศ อันไหนรายจ่ายที่ไม่มีการปรับตัว ประเทศนั้นเจอปัญหาวิกฤติการคลังง่ายมาก

ส่วนของไทยขณะนี้ เรายังดูเหมือนกับว่านิ่งนอนใจได้ เพราะเราคิดว่าหนี้สาธารณะยังไม่ถึงกับว่าน่ากลัวมาก แต่ว่าเราก็ยังไม่ได้ไปดูหนี้สาธารณะที่เราผูกไว้ข้างนอกบัญชีว่ามีมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ยังไม่ดูให้ครบ และก็ด้านรายจ่ายส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่คิดว่าส่วนใหญ่ไปอยู่ในค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเยอะมาก และเราก็แก้ปัญหายากด้วย เพราะว่าอัตรากำลังพลต่างๆ ที่ผูกกับเงินเดือนมันแก้ยากมาก ถ้าอย่างน้อยๆ รัฐบาลจริงจังเกี่ยวกับเอาเงินไปเที่ยวต่างประเทศ คิดว่าน่าจะประหยัดได้พอสมควร ถ้าเราดูหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐบาล หน่วยงานที่เป็นท้องถิ่น องค์กรอิสระ ขณะนี้เขาไปต่างประเทศกันมาก ค่าใช้จ่ายจ่ายกันอย่างสนุกสนาน

คงก็ต้องส่งสัญญาณว่าข้าราชการต้องประหยัดมากขึ้น ไม่ใช่ให้ประชาชนประหยัดเพียงฝ่ายเดียว

4 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งกองทุนอะไรต่างๆ มากมาย ดึงเงินจากภาษีไปโดยตรง ไม่ต้องผ่านงบประมาณรายจ่าย

ตรงนี้น่ากลัวมาก

คือหารายได้โดยไม่ต้องผ่านงบประมาณ ไปล้วงเงินจากภาษีโดยตรง เช่นล้วงจากแวต แล้วก็อ้างเหตุผลความเสมอภาคทางการศึกษาบ้างหละ แต่จริงๆ มันก็คือขุมทรัพย์ที่คนกลุ่มหนึ่งแยกออกมาจากองค์กรของรัฐไปเล่นเอง ซึ่งเป็นเม็ดเงินเป็นหมื่นล้านบาท ถ้าเราไปคุยกับคนข้างใน เขาจะบอกเลยว่าองค์กรของเราได้เงินเยอะมาก ทำให้ภาพมันตรงกันข้ามกับความรู้สึกของประชาชน ที่เขาจะต้องถูกเก็บภาษีมากมาย

เรื่องปฏิกิริยาของประชาชนต่อเรื่องน้ำมัน ส่วนตัวเห็นใจนะ ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง และก็ที่สำคัญรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเชื่อถือว่ารัฐบาลไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่นเอาคนของตัวเองไปเป็นบอร์ด คือคุณต้องออกมา อย่าเอาข้าราชการที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายไปอยู่ในบอร์ดของเอกชน และเอาคนที่อิสระ มีความรู้จริงๆ ในด้านต่างๆ ไปเป็นแทน ไม่ใช่เป็นเองขณะนี้ก็เห็นเป็นกันเองทั้งนั้น อยู่ในกระบวนการทั้งทหาร ตำรวจ กระทรวงพลังงานก็มี กระทรวงการคลังก็มีเข้าไปอยู่ในบอร์ดพวกนี้ที่ออกจากรัฐวิสาหกิจไป

ขณะนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นประชาชนอย่าให้มีความรู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบ และก็มีการทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล เพราะรัฐบาลนี้ เป็นจุดสำคัญที่เริ่มต้นได้ดี ไม่ใช่รอให้ประชาชนเข้าใจรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องเข้าใจความรู้สึกของประชาชนก่อน ถ้าเริ่มต้นจากนี้ ความต่อต้านต่างๆ ก็จะเบาบางลง

28 views
bottom of page