top of page
312345.jpg

ทุนจิงโจ้ตัดทิ้งประกันไทย ส่งสัญญาณตลาดไม่เวิร์ก


ท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยที่ยังคงไม่สดใสนัก เห็นได้จากทิศทางอัตราการเติบโตค่อนข้างชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ หนึ่งในข้อจำกัดที่บั่นทอนการเติบโตของธุรกิจ คือ จำนวนบริษัท หรือจำนวนผู้เล่นที่มีมากล้นจนเกินไป เรียกได้ว่าในท้องตลาดมีผู้เล่นเกือบ 60 ราย แม้ว่าจะมีดีมานด์ในตลาดจากผู้บริโภคอยู่พอสมควรก็ตาม แต่เมื่อซัพลายที่มากเกินและมีความเหลื่อมล้ำกันทางขนาด ทำให้เป็นอุปสรรคในการแข่งขันและเสียเปรียบในเชิงความสามารถการทำกำไรระยะยาว

ดังนั้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเห็นบริษัทประกันภัยที่มีฐานะการเงินและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือไม่มั่นคงให้เห็นเป็นประจำ บางรายไม่สามารถแก้ไขฐานะกิจการได้ ต้องเปิดทางให้มีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา หรือบางรายแก้ปัญหาทุกวิถีทางไม่ได้ จำต้องปล่อยให้ธุรกิจล้มหายตายจากไป เฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ของโลกธุรกิจในปัจจุบันได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจประกันภัยไทยมานานนับสิบๆปี ท้ายสุด เมื่อประเมินศักยภาพการแข่งขันแล้ว ต้องถอนตัวออกจากตลาดนี้ไป

เช่นเดียวกับกลุ่มคิวบีอี ประกันภัย ยักษ์ประกันภัยระดับท็อป 3 ของออสเตรเลีย ที่ตัดสินใจเลิกธุรกิจในไทยไปเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยทยอยปิดสาขา ลดพนักงานลงเกินกว่าครึ่งและตัดพอร์ตงานรับประกันภัยออกไป ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการหั่นทิ้งธุรกิจในประเทศ หรือภูมิภาคที่มีการแข่งขันสูง ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

ก่อนหน้านั้น คิวบีอีไทย จดทะเบียนในชื่อบริษัทสหสินประกันภัยในปี 2532 จากนั้น จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เจเนอรัล คิวบีอี ประกันภัย ในปี 2540 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คิวบีอี ประกันภัย (ประเทศไทย) ในปี 2541 และปี 2556 คิวบีอีไทยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎเกณฑ์ของ คปภ.

คิวบีอีไทยประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภทเน้นรับประกันภัยวิศวกรรม รับประกันภัยทางทะเล รับประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก รับประกันภัยความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพและรับประกันภัยทรัพย์สินเรียกได้ว่าเป็นบริษัทประกันภัยที่มีความสามารถเฉพาะทาง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มพาณิชยกรรม (commercial line)

จากนั้น ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา บมจ.คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) (KWG) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้เข้าซื้อหุ้นสามัญใน คิวบีอี ประกันภัย (ประเทศไทย) จาก QBE Asia Pacific Holdings Limited (คิวบีอีเอเชีย) และบริษัทสินก้าวหน้ามหาศาล ในสัดส่วนประมาณ 98.24% ที่ราคาซื้อขายเบื้องต้นเป็นเงิน 815 ล้านบาท

เม็ดเงินจำนวน 815 ล้านบาทนั้น คนในแวดวงประกันภัยยังประเมินไม่ออกว่าเป็นรายการซื้อขายที่สมเหตุสมผลหรือไม่

KWG ระบุว่าการเข้าซื้อหุ้นในคิวบีอีไทยจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาว เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทและธุรกิจการรับประกันวินาศภัยสามารถช่วยส่งเสริมกันในด้านต่างๆ เช่น ฐานลูกค้า โดยจะทำให้บริษัทสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยแก่ลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท หรือบริษัทสามารถแนะนำฐานลูกค้าใหม่ให้กับบริษัทประกันภัยจากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัท

เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจประกันวินาศภัยจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอยิ่งขึ้นในระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขเกี่ยวกับการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเทียบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งนับตั้งแต่มีการลงทุนจึงจะสามารถสร้างกระแสรายได้ขึ้นมาได้

KWG มีแนวคิดที่จะนำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจประกันภัยมาเชื่อมโยง เพื่อต่อยอดกันทางธุรกิจ ซึ่งคงเป็นเรื่องไม่ผิด แต่อาจคาดไม่ถึงว่าธุรกิจประกันภัยในปัจจุบัน ไม่ใช่ธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง เห็นได้จากการแข่งขันที่รุนแรงมาก บริษัทในกลุ่มท็อป 10-15 เท่านั้นที่มีโอกาสจะอยู่รอดปลอดภัยได้สูดโอโซนในชั้นบรรยากาศ เพราะกุมส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเกินกว่า 75% แล้ว

เช่นเดียวกับบริษัท ฟินิกซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) ที่ขายหุ้น 55% มูลค่า 390 ล้านบาท ให้กับบริษัทเจเอ็มที เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มเจมาร์ท จากนั้นจดทะเบียนในชื่อใหม่เป็นบริษัทเจพี ประกันภัย เพื่อนำบริษัทเข้าไปสู่ธุรกิจอินชัวร์เทค นัยว่าต้องการเป็นผู้เล่นด้านประกันภัยที่เน้นความไฮเทค

ดีลนี้แม้ไม่ได้ใหญ่โตมาก สำหรับบริษัทไซส์มินิ แต่มูลค่าซื้อขายก็น่าแปลกใจพอสมควร เมื่อเทียบระดับรายได้เบี้ยประกันภัยของฟินิกซ์ประกันภัยในแต่ละปีแค่หลัก 100 ล้านบาทเศษๆ ที่สำคัญ ไม่เคยโชว์กำไร นับจากเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นมาตลอดทาง กระทั่งซื้อขายกันในที่สุด ต้องรอดูกันว่าเจพี ประกันภัย จะเดินถูกทางหรือไม่

ล่าสุดหมาดๆ ยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งของวงการประกันภัยในออสเตรเลีย นั่นคือ กลุ่ม IAG (Insurance Australia Group Limited) ประกาศขายธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งในไทย IAG ลงทุนอยู่ในบริษัท NZI ประกันภัยและประกันคุ้มภัย โดยเข้ามาใน NZI ก่อนเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว จากนั้นช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เข้ามาถือหุ้นในประกันคุ้มภัย เพื่อนำมาควบรวมกิจการกัน จากนั้นใช้ชื่อประกันคุ้มภัยในการทำตลาด เพราะเป็นแบรนด์ใหญ่ มีฐานลูกค้าและเบี้ยประกันภัยรับรวมติดอยู่ในกลุ่มท็อป 10 ของระบบ

นายชูชัย วชิรบรรจง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประกันคุ้มภัย กล่าวว่ากรณีบริษัท IAG ในออสเตรเลียประกาศขายหุ้นที่ถืออยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องของทางกลุ่มผู้ถือหุ้นที่จะไปดำเนินการกัน ซึ่งจะไม่กระทบต่อแผนงานโดยรวมของบริษัทในปัจจุบันและไม่สามารถตอบได้ว่าผู้ถือหุ้นใหม่จะเป็นกลุ่มไหน อาจเป็นไปได้หมด ทั้งไทยและเทศ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการตกลงเจรจา

“ในออสเตรเลีย ธุรกิจของ IAG ที่ประกอบด้วยแบรนด์ประกันภัยย่อยๆจำนวนมาก มีขนาดธุรกิจใหญ่มากกว่าอุตสาหกรรมประกันไทยรวมกันทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาถอน หรือเลิกลงทุนในบางประเทศ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวมของ IAG”

กลุ่ม IAG ระบุว่าตัดสินใจประกาศขายธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย รวมมูลค่าราคาขายที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดกระบวนการจะเสร็จสิ้นราวไตรมาส 3 ปีนี้ โดยโฆษกของ IAG ระบุว่าเป็นการปรับแผนธุรกิจโดยรวม

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่าพร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยควบรวมกิจการกัน โดยจะพิจารณาให้เป็นรายกรณีและไม่ได้มีมาตรการที่จะออกมาเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด เพื่อต้องการให้บริษัทประกันภัยในไทยมีความเข้มแข็งและมั่นคง สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าในย่านอาเซียน บริษัทประกันภัยไทยยังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย.

209 views
bottom of page