top of page
369286.jpg

ไทยได้อะไรจาก...แจ็ค หม่า?


โดย ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์

การเข้ามาของ แจ็ค หม่า จะมีผลดี-ร้ายต่อประเทศไทยอย่างไร

กรณี แจ็ค หม่า มาไทยครั้งนี้ ต้องมอง 2 แบบคือ มองจากข้างในออกไปข้างนอก และจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

มองจากข้างในไปข้างนอก ก็ฮือฮากันยกใหญ่ว่า แจ็ค หม่า มาแล้วทำให้ขายทุเรียนได้เยอะ แต่ว่าอย่างอื่นจะขายดีขึ้นหรือไม่ ตัวเลขจะดีมั้ย ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งคนที่อยู่ในวง 4.0 จะมองทางบวกมากว่าจะค้าขายสินค้าไทยออกไปได้เยอะแยะเลย....

แต่เรื่องมันไม่ง่ายเหมือนส่งไลน์ พอถ่ายรูปแล้วส่งไลน์เลย ซึ่งการค้าในโลกออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ อย่าคิดว่ามันจะเร็ว คือจะเร็วตอนที่เราสั่งของ แต่ตอนเตรียมของ จัดมาตรฐาน จะใช้เวลานานมาก การเข้าไปสู่แพลตฟอร์มของเขาไม่ได้ง่าย จึงไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจกันเหมือนที่พยายามจะสื่อกันออกมาว่าดีเหลือเกิน

หากมองข้างนอกเข้ามาข้างใน...จะเห็นภาพชัดขึ้น และเป็นส่วนที่ส่วนตัวผมมองว่าเรามีการละเลยกันมาก ... ซึ่งถ้ามองจะเห็นว่าจีน ต้องการขยายมาทางเอเชียตะวันออกมากขึ้น ก็คือ อาเซียน

มีการส่งเสริมวันเบลท์วันโร้ด ซึ่งแรกๆ เราเห็นภาพลางๆ แต่วันนี้เห็นเป็นรูปธรรม จากการที่ แจ็ค หม่า มา จับมือ เซ็นเอ็มโอยูกับไทย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือจะเห็นว่าทุนจีนได้ขยายออกมานอกจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จุดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์การลงทุนของจีนคือฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ไทย เนื่องจากไทยมีเศรษฐกิจที่โตช้า วันนี้ไทยไม่ใช่ดาราแล้ว เพราะมีการโตแค่ 4% ทั้งที่รัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จีน จึงมองไทยว่าไม่ใช่ประเทศที่น่าสนใจเหมือนประเทศอื่น เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ ขณะที่เกาหลีใต้ก็สนใจเวียดนามจนเอาเป็นฐานการผลิตไปแล้ว ของไทยเป็นรุ่นเก่าสมัยญี่ปุ่นรุ่งเรืองมายึดพื้นที่ไป

เวลานี้จีนจะมองฟิลิปปินส์มาก และฟิลิปปินส์เองมีการเปลี่ยนท่าทีเข้าหาจีน 100% และบอกว่าเขาไม่เอาสหรัฐอเมริกาแล้ว และไปพบกับประธานาธิบดีของจีน ชัดเจน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีการเซ็นเอ็มโอยูหลายชุด เหมือนที่เราทำตอนนี้กับ แจ็ค หม่า.. เลียนแบบกันเลย แต่เลียนแบบไม่หมด ก็คือว่าครั้งนั้นที่ฟิลิปปินส์ไปหาจีน ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูเยอะมากเลย แต่เป็นการ เซ็นเอ็มโอยูระหว่างธุรกิจฟิลิปปินส์และธุรกิจจีน และต่อไปนี้เขาหวังว่าฟิลิปปินส์จะเป็นแหล่งลงทุนใหญ่ของจีน และอาลีบาบา ก็ตามไปด้วย ตรงนี้เราจะเห็นภาพชัดเจนว่า ไทยเราเป็นตัวสำรอง คือเมื่อเข้าไปฟิลิปปินส์แล้วจะไม่มาไทยเลยมันก็อาจจะทิ้งโอกาส ดังนั้น จะเห็นว่าอาลีบาบา เขาแน่นหนามากที่ฟิลิปปินส์

ถ้ามองจากข้างนอกเข้ามา จะเห็นว่าเขาพยายามจะขยายธุรกิจกระจายออกมาไม่ให้เสี่ยงเฉพาะที่จีนเท่านั้น แต่ที่มาช้าหน่อยคือเจดีดอทคอม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใหญ่ในด้านอีคอมเมิร์ซของจีนเหมือนกัน จะเห็นว่าขณะนี้อาลีบาบาแอคทีฟที่สุดในไทย และรัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลือกอาลีบาบา...ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเลือกเลย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า มีความพยายามที่จะสร้างภาพออกมาว่า จะมีอะไรที่น่าตื่นเต้น แล้วก็มีการเซ็นเอ็มโอยูกัน ซึ่งเป็นเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับธุรกิจจีนคืออาลีบาบา ... ไม่ใช่เอ็มโอยู ธุรกิจกับธุรกิจ ...ถ้ามองในแง่นี้ก็จะเหมือนกับว่ารัฐบาลไทยรับรองอาลีบาบา ในขณะที่อาลีบาบาก็ได้หน้าไป และรับรองโดยรัฐบาล คสช.ด้วย แต่ว่าสิ่งที่จะนำมาในอนาคตคืออะไร ส่วนตัวคิดว่าอีกนาน เพราะไทยจะต้องมีการปรับตัวเข้ากับแพลทฟอร์มของเขา ซึ่งไม่ใช่ง่ายๆ

ถ้าเกิดเราฟังเฉพาะที่พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจว่า แจ็ค หม่า อยากจะส่งเสริมเอสเอ็มอี ส่งเสริมเกษตรไทย แต่ความจริงนั่นคือแค่ภาพลักษณ์ที่ แจ็ค หม่า ใช้พูดทุกที่ที่เขาไปลงทุน ไม่เฉพาะที่ไทยที่เดียวที่พูดแบบนี้

ชื่อ แจ็ค หม่า ไม่สามารถทำให้จีดีพีไทยจะดีขึ้นทันตาเห็นหรือ

ใช่ ... ตรงนั้นมันเป็นแค่ความรู้สึก ... ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เหมือนจีน และการที่อาลีบาบามาเขาไม่ได้ถ่ายเทคโนโลยีให้เรา แต่เขามาเอาไทยเป็นลูกค้า และที่เป็นลูกค้าก็ไม่ใช่เกษตรกรทั่วไป หรือเอสเอ็มอีทั่วไป คือต้องเป็นคนที่มีมาตรฐานระดับหนึ่งที่ขึ้นมาแล้ว

ส่วนที่จะไปค้าขายกับเขาคนไทยยังไม่มีพื้นฐานหรือมีวิทยาการทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิศวกรรมที่เข้มแข็งจริง ส่วนใหญ่ธุรกิจที่เข้มแข็ง จะเป็นธุรกิจที่ได้สัมปทาน แต่หากเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เราจะเป็นรายเล็กรายน้อยมากกว่า ดังนั้น โอกาสที่จะเข้าไปตรงนี้ยากมาก นอกจากถูกแข่งขันแล้วแพ้ไป

อีคอมเมิร์ซรายเล็กรายน้อยของไทยที่ทำกันก็จะได้รับผลกระทบจากอาลีบาบาในระยะยาว

แต่ที่น่าสนใจตั้งคำถามก็คือว่า ทำไมรัฐบาลจึงเลือกอาลีบาบา ทำไมไม่คิดว่าจะไม่เลือกอะไรเลย

... ซึ่งการไม่เลือกน่าจะดีกว่า นี่กลายเป็นรัฐบาลไทยไปรับรองอาลีบาบา ทำไมไม่ให้เอกชนคุยกับเอกชน แสดงว่าอาจจะอ่อนแอมาก ทำให้เอกชนไม่สามารถคุยกับเอกชนได้ และที่สังเกตการณ์มาของแจ็ค หม่าครั้งนี้ รัฐบาลรับรอง แจ็ค หม่า ขณะที่ แจ็ค หม่าก็รับรองรัฐบาลไทย แต่จีนไม่ได้รับรองด้วยนะ จีนเขาไม่ได้สนใจ .... ตรงนี้น่าสนใจ ก็คือจีนเขาฉลาด วางตัวนิ่ง นี่เป็นเรื่องของคุณ ผมไม่ได้รับรู้ ผมไม่ยุ่ง เป็นเรื่องของเอกชนผมกับรัฐบาลไทยคุยกันเองไปก็แล้วกัน

รับรองแจ็ค หม่า?

มันเหมือนการเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้เขามากขึ้น ตรงนี้คือระดับของการจำหน่าย ไม่ใช่การผลิต ถ้าเราจะมองให้ชัด ก็ขอเสนอว่า เราก็รู้ว่าเราต้องการ 4.0 ซึ่ง เรา ในที่นี้หมายถึง รัฐบาล ที่รู้ว่าอยากได้อะไร แต่ไม่รู้ว่าอยากได้ไปทำอะไร และจะทำอย่างไรถึงจะได้สิ่งนั้น คือ 3 ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราไปได้แค่อันเดียวคืออยากได้ 4.0 แต่หนทางเรายังไม่รู้ว่าได้ 4.0 แล้วจะเอาไปทำอะไร การไปดึงอาลีบาบา แจ็ค หม่ามาก็เหมือนไปขอเกาะเขา แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะได้สิ่งนั้น ซึ่งวิธีการพัฒนามาตรฐานการผลิตของเรามันต้องถึงระดับไหนถึงจะไปสู่จุดนั้นได้ โดยเราก็ยังไปไม่ถึง ขณะที่เราเห็นภาพเป้นเพียง 10% ของภาพใหญ่ซัพพลายเชนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หากจะมองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน จะเห็นว่า ฟิลิปปินส์ ล้ำหน้าไทยไปหลายช่วงตัว ซึ่งเขาโตปีละประมาณ 7% แต่ของไทยไม่ใช่ เราโตเพียง 4% ส่วนปีข้างหน้าจะได้ 4% หรือไม่?

เพราะฉะนั้น ในแง่ความสนใจเศรษฐกิจของประเทศไทยจะด้อยกว่าฟิลิปปินส์พอสมควร แต่ว่าเราต้องคิดเยอะๆ ว่าเราจะหันมาพัฒนาเราอย่างไรมากกว่า

ทำไมเอกชนไทย ถึงจับมือกับแจ็ค หม่าไม่ได้

ตรงนี้น่าสนใจ คือน่าจะมีอะไรอีกหรือไม่ ไม่แค่เรื่องซื้อขายของ เรื่องระบบชำระเงิน เรื่องฐานข้อมูลลูกค้า แล้วอาลีบาบา ก็จะมีอาลีเพย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนมาไทย ก็ใช้อาลีเพย์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเซ็นเอ็มโอยูจะให้คนไทยไปใช้อาลีเพย์ด้วย คือยังมีคำถามอีกเยอะ

ชาติคู่แข่งอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จะมองหมั่นไส้ไทย ได้ไหม

เขาก็มองว่าไทยคล้ายๆกับ..ดิ้นรน..มากกว่า เพราะเหมือนกับเป็นประเทศที่ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจ แล้วพยายามทำอะไรให้น่าสนใจ คือเรียกร้องความสนใจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลไทยขายญี่ปุ่นและจีนก็คืออีอีซี แต่เราก็ไม่รู้ว่าอีอีซีในท้ายที่สุดมันคืออะไร ซึ่งเรื่องขายอีอีซีนั้นนักลงทุนญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับที่สนใจ แต่เรื่องการที่จะเข้ามาลงทุน เขาก็ต้องคิดพอสมควร

ทั้งนี้การเข้าลงทุนของอาลีบาบากับทางไทยกับฟิลิปปินส์ ยังห่างกันมาก ทางนั้นเขาเซ็นเอ็มโอยูกับทางเอกชนเกือบแสนล้านบาท ในส่วนนี้ก็จะมีข่าวให้ติดตามกันอีกนาน และเราก็ต้องคอยติดตามกันว่ารัฐบาลไทยจะไปเอื้ออาลีบาบามากน้อยแค่ไหน และเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเราไม่ควรจับมือกับอาลีบาบารายเดียว ควรกระจายกับรายอื่นด้วย เนื่องจากระดับการพัฒนาของเราใช่ว่าจะไปเทียบเข้ากับเครือข่ายของอาลีบาบาแบบง่ายๆ เราอาจจะเข้าไปในลักษณะเป็นลูกค้าเขามากกว่า แต่ถ้าระดับประเทศกำลังพัฒนา เราต้องจับมือกับรายอื่นหรือไม่ อันนี้ต้องมองด้วย

ขอเปลี่ยนเรื่องจากกรณี แจ็ค หม่า เพราะตอนนี้กำลังจะประชุมเฟดรอบ 1-2 พฤษภาคม 2561

มองเฟดรอบนี้อย่างไร

ตอนนี้ความปั่นปวนของสหรัฐอเมริกามีค่อนข้างมาก และตัวอัตราพันธบัตรก็เริ่มกลับมาสูงขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้น เฟดก็ต้องคิดหนักพอสมควรว่าจะคงดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ในรอบนี้ หลังจากที่ขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ผมคิดว่าโอกาสที่จะขึ้นรอบนี้คงจะยาก และทั้งปีเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้แค่ 3 ครั้ง แต่ถ้าขึ้น 4 ครั้งคงจะยาก เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกยังไปไม่ได้ และหนี้สินต่างๆทั่วโลกรวมถึงสหรัฐอเมริกายังสูง ตัวนี้ทำให้ทางไอเอ็มเอฟเพิ่งออกประมาณการณ์มาว่าเป็นห่วงเหมือนกันว่าจะมีแค่ไม่กี่ปี หลังจากนั้นอาจชะลอลง เรื่องภาระหนี้สินที่จะเกิดในระยะยาวมันสูงมาก ตรงนี้อาจจะทำให้ถึงเวลาจริงๆ เฟดอาจจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากเหมือนที่เคยคาดคะเนไว้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ดอลลาร์เป็นใจ เพราะดอลลาร์ลงแต่ก็ลงแบบผิดปกติ เพราะตามหลักถ้าเรามีหนี้ระหว่างประเทศ คือหนี้ของรัฐบาล และอัตราพันธบัตรสูงขึ้นมากขนาดนี้ ค่าเงินดอลลาร์จะต้องแข็งค่ากว่านี้ ซึ่งตามทฤษฎีก็เป็นไปได้ว่าเกิดจากปัญหาการเมืองในสหรัฐอเมริกา และปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งสถานการณ์ตรงนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาสอดคล้องกับทฤษฎีเมื่อไหร่ ถ้ามันรีบาวด์สอดคล้องกับทฤษฎีต้องใช้เวลาหรือไม่ ภายในปีนี้หรือปีหน้า ถือเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ยาก ตรงนี้ก็สบายใจได้ว่า ถ้าจะขึ้นดอกเบี้ยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าเงินดอลลาร์ แต่ปัญหาอินเฟลชั่น เงินเฟ้อ กับอัตราดอกเบี้ยมันอาจจะไม่แรงจริง อาจจะแรงเฉพาะช่วงนี้เท่านั้นเอง

สรุปก็คือโอกาสขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ยาก

29 views
bottom of page