top of page
312345.jpg

TRUMP...ผู้นำทำโลกมึน


นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีสหรัฐอเมริกาถล่มซีเรียในช่วงที่ผ่านมา จนหลายคนมองว่าจะบานปลายจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 นั้น ส่วนตัวคาดว่าคงไม่น่าจะถึงขั้นบานปลายเป็นสงครามใหญ่ และน่าจะเป็นเพียงเบื้องต้นในเรื่องของผลประโยชน์แค่นั้นก่อน การเกิดสู้รบกันแบบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีหลากหลายประเทศมาร่วมรบกัน มองว่าน่าจะยาก เพราะหากเกิดจริง แค่ทีเดียวจบ! ไม่ต้องนาน คงเกิดไม่กี่วันก็จบและรู้ผลเลย ทุกคนก็รู้ คือไม่มีใครอยากให้มันเกิด แต่เรื่องล่าสุดที่เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน

“จู่ๆ รัสเซียจะไปเข้าข้างซีเรียก็คงไม่มีเหตุผล คงเป็นไปไม่ได้ ก็มีการวิเคราะห์กันว่าน่าจะมาจากเรื่องของท่อน้ำมัน ท่อแก๊สด้วย อาจจะไปเริ่มต้น โดยที่กาตาร์ก็มี ซาอุก็มี และซีเรียเองก็มีน้ำมันพอสมควรหากเทียบกับเลบานอน อิสราเอล ตรงนั้นก็น่าจะเป็นปัญหาต้นเหตุ เพราะรัสเซียไม่ชอบให้มีคือแก๊สที่ขึ้นไปทางยุโรป มันก็จะทำให้การค้าในส่วนพลังงานเปลี่ยนไป เพราะรัสเซียเป็นเจ้าตลาดทางยุโรปอยู่ และเยอรมันก็พึ่งรัสเซียเยอะ จะเห็นว่าพึ่งพากัน และเยอรมันก็ไม่มาเข้าร่วม”

ในส่วนศึกการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นายพรศิลป์กล่าวว่า จะมี 2 ยกที่ชัดเจน คือ เรื่องเหล็กและอะลูมิเนียม ตรงนี้คงจะไม่กระทบมากๆ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาก็จำกัดประเทศ คือเวลาประกาศจะประกาศไปทั่วโลก แต่สุดท้ายกระทบจริงกับประเทศที่ไม่ได้ไปเจรจา เพราะฉะนั้นจะมี จีน ไทย ซึ่งไทยมีการเจรจา แต่ไม่รู้จะเจรจาได้หรือไม่ ตรงนี้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนยกที่ 2 เกี่ยวกับเงินเก็บภาษีจำนวน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตรงนี้จริงเลย เพราะมันใหญ่มากซึ่งจะกระทบจีนโดยตรง และแน่นอนจีนก็มีรายการสินค้าออกมาตอบโต้ ก็จะกระทบสหรัฐอเมริกาแน่ แต่ว่ายังไม่บังคับใช้

“TRADE WAR เรียกว่าเกิดแล้วในความหมาย ซึ่งไม่ต้องรอให้ทำจริงหรอก ตลาดก็ปั่นป่วนไปหมดแล้ว สุดท้ายเรื่องนี้คิดว่าในที่สุดส่วนตัวแล้วจะไม่สำเร็จอะไร เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาสำหรับประธานาธิบดีของจีนก็ประกาศชัดเจนว่านโยบายของจีนจะเปิดตลาดเหมือนเดิม และจะเปิดมากขึ้นด้วย และเรื่องภาษีจะไม่กระทำ ซึ่งคนที่แปลความก็บอกว่าคงไม่มีเรื่องการตอบโต้ชุดที่สอง ก็เป็นการคาดเดา แต่เขาก็ไม่ได้พูดชัดว่าสหรัฐอเมริกาจะเก็บภาษี 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแล้วจะยกเลิกให้ไม่มี คือเป็นการพูดทั่วไป แล้วก็อ้างว่าเป็นนโยบายเดิม แต่คนก็ไปตีความกันเอง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ยังอยู่ไม่ได้ไปไหน เป็นนโยบายธรรมดา แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไป”

อย่างไรก็ตาม นายพรศิลป์กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจ คือระยะหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มาแปลก คือไปประกาศว่า TPP ก็ต้องกลับมาคิดกันใหม่ ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าไปร่วมหรือไม่ เพราะมีข่าวว่าในสหรัฐอเมริกาเอง มีการกดดันจากฝั่งตรงข้ามทรัมป์ที่คิดไม่ปกป้องตลาด ต้องเปิดตลาดมากขึ้น เพราะเห็นภาพว่าเริ่มเสียเปรียบแล้ว เพราะการต่อสู้ในเรื่องภาษี มันไม่เกิดประโยชน์ อย่างน้อยมีต้นทุนที่แพงขึ้น และพอกดดันออกไป ทางทรัมป์เริ่มเปลี่ยน และประกาศว่าในเรื่องทีพีพีให้พิจารณาเข้ามาใหม่ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าสหรัฐอเมริกาต้องได้ประโยชน์ ส่วนตัวก็งงอยู่ว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะถ้า 11 ประเทศ TPP ใหม่เขาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์ แต่สหรัฐอเมริกาก็ได้ออกไปแล้ว

“สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งจานอาหารที่ตัวเองปรุงแต่งอย่างดี และทุกคนเข้ามารับเมนูนี้แล้ว ถึงแม้จะลำบาก แต่ทุกคนคิดว่าการค้าจะขยายได้เพราะว่ามีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตัวนำ ปรากฏว่าคนผลิตเมนูก็กลัวหนีไปเลย พอหนีไปเลย เมนูนั้นก็ถูกตัดทอนไป ดังนั้น 11 ประเทศก็จะทานเฉพาะเมนูที่ตัวเองสร้างมาใหม่ และพอสหรัฐอเมริกาจะกลับมา แล้วจะนำเมนูที่ตัวเองสร้างไว้กลับมาอีก และจะมีเหตุผลอะไรมาอธิบาย เพราะตอนที่ออกไปให้เหตุผลเมนูที่มีอยู่ไม่ดี แล้วพอจะกลับมาใหม่ บอกเมนูที่มีมันดี ก็น่าแปลก และจะให้เข้มข้นกว่าเก่า 11 ประเทศก็คงรับไม่ได้” นายพรศิลป์ตั้งข้อสังเกตและยกตัวอย่างในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จากที่ บารัก โอบามา เป็นคนคิดว่าเราสู้จีนไม่ได้ เนื่องจากปัญหาจีนที่ถูกทำโทษ ถูกขึ้นภาษีเพราะไปลักลอบทรัพย์สินทางปัญญา จะไปบังคับว่าจีนต้องไม่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญานั้น ก็คงพูดไม่ได้ ก็เลยสร้างเวทีขึ้นใหม่ เพื่อมาปะทะกับจีน เพราะถ้ามีการรวมตัวกันดังกล่าว ถือเป็นสัดส่วนการค้าถึง 40% ของโลกทีเดียว

“เวที TPP เดิม สหรัฐอเมริกาเป็นคนเขียนเมนูเอง และหากรวมกันติดก็จะต่อรองกับจีนได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมเห็นด้วย แต่ก็ไม่ทราบว่าทรัมป์คิดอะไรไปอีกเลิศเลอเลย และหากจะกลับมาใหม่ ก็คงยาก และหากมาร่วมใหม่ จะเอาเมนูเดิม ก็คงยาก เพราะ 11 ประเทศ TPP ใหม่ไม่เอาตรงที่สหรัฐอเมริกาต้องการเยอะไม่ใช่เฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เอกชนฟ้องได้จากที่ไปลงทุนแล้วมีปัญหา แต่เรื่องที่รักษาอยู่คือเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นสำคัญถูกตัดออกไป และเป็นประเด็นที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์ ก็ต้องดูต่อว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไปสำหรับเรื่อง TPP”

24 views
bottom of page