ราคาหมูหน้าเล้าตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผู้เลี้ยงขาดทุน 43% โบกมือลาเลิกเลี้ยงไปแล้ว 20% แจง...ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงหมูดิ้นรนช่วยตัวเองมาตลอดแทบไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ อีกทั้งพยายามบาลานซ์ราคาทั้งขาขึ้นและขาลง ไม่ให้ผู้บริโภคซื้อหมูในราคาแพง แต่ความเป็นจริงคือไม่ว่าราคาหมูหน้าเล้าจะถูกหรือแพง แต่ราคาขายปลีกจะแพงกว่าความเป็นจริงเสมอมา ส่วนราคาหน้าเล้าที่ตกต่ำมาจากปริมาณหมูล้นตลาด จากเหตุรัฐไม่สนับสนุนการส่งออก แถมยังถูกอเมริกาตอด ให้ไทยนำเข้าหมูจากอเมริกา เตือน...หมูอเมริกาใช้สารเร่งเนื้อแดง มีสารตกค้าง 100-400% พร้อมเรียกร้องภาครัฐใส่ใจภาคเกษตรกรรม รากเหง้าที่แท้จริงของไทย เพื่อต้านพลังประเทศมหาอำนาจที่จ้องเอาเปรียบ
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ราคาหมูในประเทศไทยที่อยู่ในช่วงตกต่ำว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์ของการเลี้ยงหมูบ้านเรา ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงขาดทุนถึง 43% โดยต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 64 บาท แต่ในช่วงที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสามารถขายได้เพียงกิโลกรัมละ 36 บาท ทำให้นำมาซึ่งความเดือดร้อนจากราคาที่ตกต่ำอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
“เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของเรามีประมาณ 1.95 แสนราย คาดว่าน่าจะเลิกกิจการไปแล้ว 20% ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เราพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด โดยใช้มาตรการที่ผู้เลี้ยงสามารถทำได้ก่อน และขอความร่วมมือจากภาครัฐ กรมการค้าภายใน และทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่างส่วนตัวอยู่ที่จังหวัดราชบุรีก็มีทางผู้ว่าราชการจังหวัดเดินทางไปกระทรวงพาณิชย์ด้วยตัวท่านเอง ไปที่ด่านเชียงแสน ดูเรื่องการส่งออก แต่สิ่งที่สำคัญคือ การผลิตหมูของเรามันล้นเกินความต้องการของตลาด เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกไปค่อนข้างเยอะ แต่ต่อมาการส่งออกกลับมีนโยบายระงับลง ทำให้การส่งออกน้อยมาก ทำให้ของเราเหลือ ขณะที่การผลิตกลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมปริมาณการผลิต ซึ่งพอของเหลือเยอะ ทุกคนเหมือนเขื่อนแตก ซัปพลายก็เอามาลงเยอะมาก ทำให้ของเหลือจำนวนมาก”
สำหรับวิธีการแก้ไขในช่วงที่ผ่านมานั้น นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าวว่า พยายามกระตุ้นการบริโภคให้มากขึ้น ด้วยการพยายามไม่ให้ราคาขายปลีกแพงมาก ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า ถ้าราคาขายปลีก 130-140 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม การบริโภคจะน้อยลง
“แต่สิ่งที่สำคัญคือแม้ราคาหมูหน้าเล้าจะถูกลง แต่ผู้บริโภคยังทานเนื้อหมูในราคาแพง ซึ่งหากทำให้ราคาปลีกไม่แพงนักและผู้บริโภคทานหมูมากขึ้น จากที่ทาน 1 กิโลกรัมมาเป็น 2 กิโลกรัม ปริมาณหมูจะลดลง 1 เท่าตัวเลย เพราะฉะนั้นนโยบายที่เราทำไปก็คือโครงการขายหมูประชารัฐไปทั่วประเทศ ก็ทำให้ราคาขายปลีกลดลงมา ทำให้ปริมาณหมูที่ล้นตลาดในเบื้องต้นที่ไม่รู้จะไปไหนก็ต้องให้คนทาน เพื่อระบายส่วนเกินออกไป…
ส่วนมาตรการป้อนไปทำหมูหันมากนั้น ตรงนี้ก็เป็นการตัดวงจร เรื่องนี้เราเคยทำมาแล้วเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ถือเป็นมาตรการที่ช่วยได้ ซึ่งงวดนี้ก็ทำไป 1 แสนตัว ต้องทยอยทำไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีเรื่องแม่พันธุ์ที่เกินจำนวนมาว่า ต้องจัดการอย่างไร ก็คือมีมาตรการต่อเนื่อง แต่ผลกระทบมันอยู่ที่ถ้าเกษตรกรเลิกเลี้ยงไปมากๆ หมูก็จะมีราคาแพงอีก และพอแพงก็โดนควบคุมราคา โดยทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสหกรณ์ต่างๆที่คุยกัน มีความพยายามรักษาสมดุลให้เพียงพอ ให้มีปริมาณที่พอดี คือให้ผู้บริโภคได้บริโภคในราคาที่ไม่แพง และอย่าให้ผู้เลี้ยงขาดทุนมาก ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงกำไรเลยนะ”
ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าวถึงราคาหมูในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงไม่ได้กำไร แม้แต่ผู้ที่เลี้ยงหมูมา 30-40 ปี ยังต้องนำเงินสะสมมาใช้ โดยที่ผ่านมาผู้เลี้ยงหมูแทบไม่ค่อยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐอยู่แล้ว ต้องสู้ด้วยตัวเอง
“แต่คราวนี้นอกจากตัวเราที่เลี้ยงหมูแล้วเราก็เห็นใจภาคเกษตรกรรมอื่นๆ เพราะในเรื่องราคาก็แย่เหมือนกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบภาวะการค้าเสรี จากที่ไทยเป็นประเทศเล็กๆ อย่างการเลี้ยงหมูที่สหรัฐอเมริกา ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาพยายามให้เรานำเข้าหมู ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพราะบ้านเราไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง แต่สหรัฐอเมริกามีการใช้ โดยเขาคิดว่าปลอดภัย ซึ่งปกติเขาทานแต่เนื้อและจะส่งเครื่องในมาให้เรา ตรงนี้จะมีสารตกค้าง 100-400% แต่จะทำให้หมูเขาโตเร็ว ซึ่งไทยสู้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ เพราะรัฐบาลไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงมากว่า 15 ปี แต่เขาให้ใช้มา 5 ปี ถือว่าสหรัฐอเมริกาได้เปรียบ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีการผลิตสารตัวนี้ขึ้นมาเอง และยังใช้พวกจีเอ็มโอ ขณะที่ยุโรป จีน จะไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง วันนี้สหรัฐอเมริกาไปทะเลาะกับจีนเรื่องภาษี เพราะจีนไปขึ้นภาษีกับสหรัฐอเมริกา 25% ทำให้สหรัฐอเมริกาไปจีนลำบาก ทั้งนี้ หากเทียบประเทศไทย ถือว่ามีเนื้อที่เป็นแค่รัฐเดียวของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมามีการผลิตหมูแค่ 5% ของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ไทยเป็นประเทศเดียวที่ยืนหยัดไม่นำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกา ก็ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกรไทยที่รวมตัวกันคัดค้านเรื่องนี้ เพราะหากนำเข้าหมูมา ปัญหาจะลามเป็นห่วงลูกโซ่ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์การเลี้ยงหมูในไทยก็แย่อยู่แล้วและล้นด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะเอาหมูของสหรัฐอเมริกาเข้ามาทำไม”
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์กล่าวต่อด้วยว่า กรณีสหรัฐอเมริกากดดันให้ไทยนำเข้าเครื่องในหมูนั้น เชื่อว่าถ้าผู้เลี้ยงของไทยรวมตัวกันเหนียวแน่น และมีการทำความเข้าใจกับผู้บริโภคที่อาจเข้าใจผิดที่เชื่อว่าการนำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกามาจะทำให้ซื้อหมูในราคาที่ถูกขึ้นนั้น จะต้องดูตัวอย่างจากเวียดนามซึ่งนำเข้าหมูจากสหรัฐอเมริกา ที่ปรากฏว่า เกษตรกรในประเทศเวียดนามอยู่ไม่ได้ และที่สำคัญ คือราคาขายหมูในเวียดนามก็ไม่ได้ถูกลงคืออยู่ที่ 180 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าไทยมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว
“ทางโดนัลด์ ทรัมป์ พูดกับเกษตรกรของเขาในที่ประชุม ซึ่งมีผู้เลี้ยงกว่า 7 พันคน ว่าการเกษตรคือรากฐานของคนสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นรัฐบาลจะปกป้องการเกษตรของเขาจนถึงที่สุด ซึ่งหากดูนโยบายส่งออกหมูของสหรัฐอเมริกา เขามีความได้เปรียบจากที่ใช้จีเอ็มโอ ใช้สารเร่งเนื้อแดง ทำให้สามารถกอบโกยนำเอาเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก พร้อมกับลดดุลการค้าเพื่อการส่งออก ส่วนตัวจึงอยากให้คำพูดนี้มาถึงผู้นำรัฐบาลของไทย เพราะเกษตรกรรมก็คือรากฐานของคนไทยมาแต่ยาวนานเช่นกัน เมื่อสหรัฐอเมริกากล้าพูดว่า เกษตรกรรมคือรากฐานของประเทศ ขณะที่ไทยก็ของจริง นับตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไทยมีพื้นที่การเกษตรอย่างเดียว คือจะไปทำรองเท้าแลกกับหมูอย่างเวียดนามคงยาก เพราะเกษตรกรรมผูกพันกับคนไทยมาช้านาน ดังนั้น ก็อยากวิงวอนผู้ที่มีอำนาจว่าจะยืนยันในเรื่องนี้ได้หรือไม่ คือถ้าโดนบีบมากๆก็คงมีอาการ เพราะสหรัฐอเมริกาเขาใหญ่มาก วันนี้ก็ถล่มซีเรียไปแล้ว ขณะที่ปัจจุบันหมูไทยก็ก้าวหน้าไปมาก ถือเป็นธุรกิจเกษตรตัวหนึ่งที่มีคุณค่ากับสังคมไทย เพราะตอนนี้ธุรกิจตัวอื่นการแข่งขันจะรุนแรงถือเป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว แต่ในธุรกิจการเลี้ยงหมู ยังมีผู้เลี้ยงเกือบ 2 แสนราย และยังสามารถรักษาสังคมครอบครัวเกษตรกรเอาไว้ได้ และยังรักษาให้ผู้บริโภคได้บริโภคหมูคุณภาพในราคาที่ยอมรับได้ ซึ่งก็จะมีการดูแลราคาทั้งขาขึ้นและขาลง ตอนนี้เราคุยกับกรมการค้าภายในว่า ขาลงก็อยากให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ส่วนช่วงขาขึ้นก็อย่าขายแพงนัก ซึ่งทางกรมการค้าภายในก็ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนแนวความคิดนี้มาด้วยดี”