เวทย์ นุชเจริญ อดีตนายแบงก์รัฐมือฉมัง แจง...แบงกิ้ง เอเจนต์ เป็นหนึ่งในต้นตอการปิดสาขาของแบงก์ แต่ยอมรับว่าเป็นกระแสที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกับฟินเทค พร้อมสวมวิญญาณนายแบงก์รุ่นเก๋าแนะว่า สาขาและพนักงานของแบงก์มีคุณค่าต่อการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารต้องคิดเป็นทำเป็น ใช้สาขาแบงก์ให้เป็นได้มากกว่าบริการธุรกรรมการเงิน เพื่อตอบโจทย์การบริการที่ครบวงจร ทิ้งท้ายฝากถึงผู้บริหารแบงก์ชาติ ควรผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคู่กับหลักการ Back to the Basic เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในวงการแบงก์
นายเวทย์ นุชเจริญ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ SME และธุรกิจรายย่อย ให้ความเห็นถึงกระแสข่าวเรื่องที่จะมีการแต่งตั้งเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นแบงกิ้ง เอเจนต์ว่า เรื่องแบงกิ้ง เอเจนต์ถือเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารต้องทยอยปิดสาขาลง สำหรับแบงกิ้ง เอเจนต์ นั้นถือเป็นตัวแทนธนาคารในการให้บริการต่างๆ โดยแบงก์ชาติอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งแบงกิ้ง เอเจนต์ มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 โดยบริการของแบงกิ้ง เอเจนต์ มีทั้งหมด 6 ประเภท คือ 1. ให้เป็นตัวแทนรับ-ฝากเงินได้ อนุญาตให้ธนาคารแต่งตั้งธนาคารอื่น หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจโดยเฉพาะไปรษณีย์ให้สามารถรับฝากเงินได้ 2. ธุรกรรมการถอนเงิน ตามกติกาทำได้เฉพาะไปรษณีย์ 3. จ่ายเงินให้แก่ลูกค้ารายย่อยต่างๆ ทำได้เฉพาะไปรษณีย์ 4. ชำระค่าบริการหรือจ่ายบิล เช่น ห้างต่างๆ ที่รับชำระค่าไฟ ถือเป็นเอ้าท์ซอสของธนาคาร 5. ตัวแทนจ่ายเงินกู้ให้กับผู้บริการรายใหญ่ๆ และ 6. บริการอื่นๆ เช่น บูธของซีพี ตู้บุญเติม
“ที่มาฮิตตอนนี้ เนื่องจากแบงก์ชาติกำลังจะปรับเกณฑ์ใหม่ เพราะเห็นว่าในปัจจุบันธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะมาก ก็เลยจะมาปรับใน 2 ส่วน คือ 1. ในแง่ของธนาคาร ซึ่งก็จะอนุญาตให้ปรับเปลี่ยนเวลาทำงานในการทำธุรกิจต่างๆ ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เรื่องไอที เรื่องฟินเทคพวกนี้ก็เป็นอีกกระแสหนึ่ง 2. แบงกิ้ง เอเจนต์ โดยแบงก์ชาติอนุญาตให้เพิ่มตัวแทนอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ที่กำลังคุยกันจะมีเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเป็นกระแสมาก จริงๆ แล้วเซเว่น อีเลฟเว่นไม่ได้เป็นแบงกิ้ง ไลเซ่น เพียงแค่ให้อนุญาตเป็นตัวแทนในการให้บริการเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยที่ทำงานที่ธนาคารกรุงไทย ตอนที่คุณวิโรจน์ นวลแข เป็นผู้จัดการใหญ่ ก็จะมีการทำมานานหลายปีแล้ว แต่ก็พับเรื่องนี้ไปก่อน”
นายเวทย์กล่าวต่อด้วยว่า การตั้งแบงกิ้ง เอเจนต์ นั้น ธนาคารจะต้องรับผิดชอบเหมือนธนาคารเป็นผู้ให้บริการด้วยตัวเอง หากเกิดความผิดพลาดทางธนาคารจะต้องรับผิดชอบเหมือนเป็นการกระทำของธนาคารเอง ซึ่งแบงกิ้ง เอเจนต์ ของไทยจะต่างกับเซเว่นแบงก์ที่ญี่ปุ่นที่ตั้งตามเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งได้ไลเซ่น แต่แบงกิ้ง เอเจนต์ ในไทยจะไม่ได้ไลเซ่น
“ในแง่ของประโยชน์ของผู้บริโภคคือ 1. มีช่องทางการใช้บริการได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ทางผู้บริโภคสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีสาขากระจายทั่วประเทศ 2. ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการน่าจะถูกลง เพราะแบงก์ไม่ต้องเปิดสาขา ใช้สาขาสถานบริการของแบงกิ้ง เอเจนต์ แทนได้เลย และ 3. ผู้ใช้บริการที่ไม่ค่อยมีเวลาสามารถเลือกเวลาในการใช้บริการได้มากขึ้น”
นอกจากนี้นายเวทย์ยังกล่าวถึงประกาศฉบับใหม่ของแบงก์ชาติที่จะประกาศใช้ในเดือนมีนาคมปี 2561 นี้ ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารพาณิชย์ เพราะสาขาของธนาคารจะมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยสมัยที่ดูแลสาขาแบงก์กรุงไทยอยู่ นอกจากธนาคารกรุงไทยจะให้บริการทางการเงินแล้ว ยังให้บริการด้านอื่นควบคู่ด้วย โดยยึดหลักว่าธนาคารพาณิชย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยเฉพาะในชนบท
“ถ้าเรานึกถึงสถานที่ที่มักจะไป ก็คือ 1. โรงเรียน 2. วัด 3. ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผูกพันกับสังคมไทยมานาน แต่เนื่องจากกระแสของฟินเทคที่ถาโถมมาอย่างรุนแรง ทำให้หลายธนาคารประกาศที่จะปิดสาขา ซึ่งจากที่เราได้ยินข่าวล่าสุด คือบางธนาคารมีการปิดสาขาจนเหลือไม่กี่ร้อยสาขา ลดคนลงตั้ง 1.2 หมื่นคน ตรงนี้คิดว่าทางแบงก์ชาติกำลังดูแลอยู่ เพราะถ้าปิดสาขาแล้วจะกระทบพนักงาน คิดว่าจะสร้างความปั่นป่วนได้มากพอสมควร โดยสมัยที่ดูแลสาขาของกรุงไทย เราก็มีการปิดสาขาเฉพาะสาขาที่ทำแล้วไม่มีกำไร หรือสาขาที่อยู่ใกล้กันมากจนเกินไป”
สำหรับแบงกิ้ง เทคโนโลยีอย่างฟินเทคนั้น นายเวทย์กล่าวว่าปฏิเสธไม่ได้ว่ามาแรงมาก แต่ในปัจจุบันนี้กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการฟินเทคจะมีเพียงประมาณ 15% หรือในบัญชี 10 ล้านบัญชี จะมี 1.5 ล้านบัญชีที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้บริการฟินเทค ขณะที่คนวัยเกษียณ อย่างไรก็ต้องไปแบงก์
“คิดว่ามีธนาคารหลายแห่งที่เขาบอกว่าจะไม่ปิดสาขา ซึ่งการเปิดปิดสาขาหากพิจารณาดีๆ แล้ว เราอาจจะมีทางเลือกอื่นมากกว่าการปิดสาขาก็ได้ การปิดสาขาไม่ใช่การตอบโจทย์เรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ธนาคารอ้าง สมัยที่ทำงานที่กรุงไทย เวลาขยายสาขาก็จะใช้เงินประมาณ 4-5 ล้านบาท โดยมีการกำหนดเลยว่ากี่ปีจะคุ้มทุน พอถึงจุดคุ้มทุนมีกำไร เราก็เปิดสาขาต่อ ซึ่งหากเราคิดถึงคนที่จำเป็นต้องพึ่งพาธนาคาร โดยเฉพาะต่างจังหวัด ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับการปิดสาขาเลย ซึ่งส่วนนี้คือข้อคิดที่พยายามพูดถึงตลอด ขณะที่สังคมไทย เวลาเขาจะฝากเงิน ความเชื่อมั่น เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
ในส่วนของแบงกิ้ง เอเจนต์ นั้น นายเวทย์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบโจทย์การทำธุรกรรมของลูกค้าได้ทั้งหมด เช่นการฝากถอนแต่ละครั้งทำได้ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง และก่อนจะใช้บริการฟินเทค ลูกค้าก็ต้องไปที่สาขา เพราะต้นตออยู่ที่สาขาของธนาคาร
“ส่วนตัวเคยคิดที่จะใช้สาขาให้บริการเหมือนที่เคอรี่ทำในเรื่องของการสั่งของออนไลน์ ซึ่งธนาคารเป็นจุดที่คนเชื่อมั่นมากที่สุด ถ้าถามคนในสังคมไทย เขาจะเชื่อพระ เชื่อกิจการแบงก์ ถือเป็นเรื่องที่ส่วนตัวพยายามขายไอเดียมาโดยตลอด ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่บางธนาคารปิดสาขา ซึ่งตอนนี้พนักงานหลายคนต้องไปหางานทำใหม่ ตั้งต้นใหม่ หลายธนาคารมีโครงการร่วมใจจาก แต่มีพนักงานยื่นเข้าร่วมโครงการน้อยมาก ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ นายเวทย์ยังกล่าวถึงการเตรียมตัวของสาขาธนาคารในต่างจังหวัดเพื่อรองรับยุคดิจิทัลว่า ตัวที่เป็นดิจิทัล แบงก์ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็จะสูญเสียโอกาส เพราะรุกเข้ามาเร็วมาก โดยต้องทำควบคู่ขนานกันไป กับบริการต่างๆ ของสาขา และธนาคารควรจะปรับรูปแบบใหม่ คือนอกจากให้บริการทางการเงินแล้วยังมีบริการอีกหลายอย่างที่ธนาคารทำได้
“สมัยที่ดูแลสาขาแบงก์กรุงไทย เราจะขายทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหมือนที่ไปรษณีย์ไทย พนักงานจะมีการขายผลิตภัณฑ์หลายอย่าง พวกนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับแบงก์ทั้งหมด แต่เสียดายที่เราไปนึกถึงฟินเทคอย่างเดียว และลืมไปว่าคนของเรายังมีกลุ่มที่ใหญ่มากและมีศักยภาพ มีเงินเยอะมาก อย่างไรลูกค้าก็ยังอยากไปที่สาขา คือยังอยากไปพบผู้จัดการแบงก์ ยังอยากไปพบพนักงานที่คุ้นเคยกัน ตรงนี้คิดว่าแบงก์ปรับตัวได้ ถ้ารู้จักทำมาหากิน...
“หลายคนแปลกใจ มองเรื่องนี้ว่าเราปิดสาขาธนาคาร คนตกงาน แต่ไปตั้งแบงกิ้ง เอเจนต์ ที่ทำงานได้ไม่เท่าธนาคาร ซึ่งเรื่องนี้ก็เปิดให้แบงก์ตัดสินใจบริหารงานเอง ตัวแบงกิ้ง เอเจนต์ยังมีขั้นตอนที่จะต้องทำอีกเยอะ จะลิงก์อย่างไรที่จะเข้ามาที่ศูนย์กลาง หรือจะทำไอทีอย่างไร ซึ่งต้องลงทุนเยอะพอสมควร สมัยที่ทำงานที่แบงก์กรุงไทยสิ่งที่อยากทำมากคือบริการของภาครัฐ เราไม่อยากให้คนไปที่อำเภอ อยากจะลิงก์ข้อมูลกัน เช่นการคัดสำเนาทะเบียนบ้าน เราจะให้บริการหมด คิดค่าธรรมเนียมในราคาที่ไม่แพง ก็เป็นการอำนวยความสะดวกแทนที่จะไปอำเภอ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถคิดค้นและหาวิธีการที่จะทำได้...
แม้แต่ผู้ประกอบการส่งออก รวมถึงเอสเอ็มอี ก็เข้ามาพูดคุยปรึกษากับทางธนาคารเหมือนธนาคารเป็นศูนย์กลาง ซึ่งธนาคารถือเป็นศูนย์ที่จะพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีได้ ซึ่งหากมาหาเรา จะมีข้อมูล มีความรู้ให้กับผู้ประกอบการได้มาก สมัยที่ทำงานอยู่ ห้องทำงานก็จะมีผู้ว่าฯ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม มานั่งคุยกันเป็นประจำ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย หัวใจสำคัญของชุมชนกำลังจะถูกทำลายลงด้วยกระแสของฝรั่งที่เราต้องซื้อเครื่องมือเขา ตรงนี้ก็เป็นข้อคิดข้อหนึ่ง ก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคต ว่าจะเป็นอย่างไร”
“นายเวทย์ยังกล่าวต่อถึงกระแสการปิดสาขาธนาคารด้วยว่า สิ่งที่น่าเสียดายคือบุคลากรที่ธนาคารสร้างขึ้นมา เพราะคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นตัวแทนธนาคารในการช่วยชุมชนหมู่บ้านได้ แม้แต่ พัชร สมะลาภา ผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย ยังกล่าวว่าพนักงานรุ่นอาวุโสของธนาคารเป็นพนักงานที่มีคุณค่ามากที่สุด เพราะมีประสบการณ์มาก
“อย่างสาขาแบงก์ในต่างจังหวัดจะอยู่ในทำเลที่ดีมาก สามารถทำประโยชน์ได้หลายอย่าง อาทิ เป็นช่องทางกระจายสินค้าให้กับลูกค้าได้ ช่วยเอสเอ็มอีได้ และตรงนี้ทำให้คิดถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สมัยที่ผมทำงานเป็นพนักงานสินเชื่อที่บ้านนอกเมื่อหลายสิบปีก่อน มีข้อกำหนดเรื่องการเปิดสาขาธนาคาร ว่าถ้าจะเปิดสาขาในเมือง จะต้องเปิดสาขาในต่างจังหวัดกี่สาขา หรือกำหนดเลยว่าจะต้องปล่อยสินเชื่อการเกษตรกี่สาขา ปล่อยเอสเอ็มอีกี่สาขา เป็นกฎเหล็กให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่เป็นการโฆษณาภาพพจน์ ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ที่มาบริหารแบงก์ชาติน่าจะคิดถึงตรงนี้ ส่วนตัวว่าแบงก์ชาติน่าจะ แบ็ค ทู เดอะ เบสิก ลงไปดูทฤษฎีของดร.ป๋วย เอามาใช้บ้าง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อไป”