top of page
379208.jpg

แนะนักลงทุนยึดวินัย...Trade War แค่ขู่ ค่าเงินน่ากลัวกว่า


“อย่าให้ความโลภและความกลัวเข้ามามีอิทธิพลต่อเรา กับต้องรักษาวินัยการเงินการลงทุนเพื่อที่จะทำได้ดีในระยะยาว อย่าเทเงินลงทุนจนหมดในทีเดียว ไม่ว่าจะลงในหุ้นหมด หรือทิ้งหุ้นหมด หรือในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะ 10 เดือนที่เหลือของปี 2561 ต้องรักษาวินัยให้ดี”

นายณัฐฐะ มหัทธนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.ทหารไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ”

ช่วงนี้ความกังวลของนักลงทุนคงเป็นเรื่องของสงครามการค้า หรือ Trade War มีบางประเทศพยายามกีดกันสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น คนที่เปิดเกมคือประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการประกาศออกมาว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าโลหะทั้งเหล็กและอะลูมิเนียม โดยเก็บภาษีเหล็กกว่า 20% และอะลูมิเนียมประมาณ 10% สร้างความตื่นตระหนกให้กับประเทศที่ส่งออกสินค้าต่างๆ เพราะการเก็บภาษีในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการกีดกันการค้า ส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกมีมาตรการโต้ตอบการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกากลับบ้าง โดยการตอบโต้หากสังเกตให้ดีถือว่าเป็นการขู่กันไปมา เพราะที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกามีการออกมาขู่แบบนี้ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2016 แต่เมื่อมีการไปเจรจากันก็มีการประนีประนอมหาผลประโยชน์ร่วมกัน เปรียบเสมือนมีท่าทีท่วงทำนองเพื่อเข้าสู่โต๊ะการเจรจา

ขณะนี้มีการเจรจาที่สำคัญ อย่างเช่น NAFTA เจรจามา 7 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จเพราะมีประเด็นที่มีข้อตกลงร่วมกันยากอยู่ หรือเรื่องของ TPP ที่เป็นข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวออกไป แต่ในระยะหลังเริ่มมีการส่งสัญญาณออกมาว่าสหรัฐอเมริกายินดีที่จะกลับมาเจรจากันใหม่ เมื่อเป็นแบบนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามีอาการตกใจ 1-2 วัน แต่ก็มีการรีบาวน์ขึ้นมา แต่นักลงทุนมีอาการตกใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วทำให้ตลาดกลับเข้ามาสู่สภาพปกติ เพราะสหรัฐอเมริกามีการขู่แบบนี้มาหลายครั้งแต่เมื่อถึงเวลาก็ทำนิดหน่อยพอเป็นพิธีเพื่อให้เห็นว่ามีการทำแล้ว เพื่อให้เห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำตามสัญญากับคนที่เลือก โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อตอนหาเสียงซึ่งการทำแบบนี้เพื่อไม่ให้เสียเชิง

ขณะที่อีกหนึ่งสงครามที่ดูแล้วไม่หวือหวามากแต่ก็มีนัยยะสำคัญที่มากกว่าของ Trade War คือ สงครามค่าเงิน ซึ่งนักวิเคราะห์บางที่ได้ใช้คำว่า Currency Cold War คือ ไม่ได้ทำสงครามแบบโจ่งแจ้งแล้วถึงเวลามารวมตัวกัน โดยส่งครามค่าเงินจะมีศูนย์กลางที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเพราะต้องต่อสู้กันด้วยนโยบายการเงิน เช่น การเพิ่มหรือลดนโยบายดอกเบี้ย การเพิ่มหรือลด QE เป็นการชิงไหวชิงพริบกันทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของค่าเงิน สงครามค่าเงินเกิดขึ้นมานานแล้วในโลกตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา ยูโรโซน หรือ ญี่ปุ่น 3 ประเทศนี้บางคนเรียกประเทศยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม G3 ก็มีความพยายามเวลาที่มารวมตัวกันก็จะบอกว่าไม่ทำสงครามค่าเงิน จะไม่ใช้ค่าเงินเป็นอาวุธในการเอาเปรียบทางการค้าซึ่งกันละกัน ก็เป็นการทำให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนค่า พอค่าเงินอ่อนค่าก็จะทำให้การส่งออกดีขึ้น แต่ในทางความเป็นจริงมีการทำอย่างต่อเนื่อง จึงได้เรียกว่า Cold War เช่น การกำหนดเวลาออกมาพูดในช่วงเวลาที่ค่าเงินของตัวเองแข็งค่า เช่น เมื่อค่าเงินเยนแข็ง ทาง BOJ ก็จะออกมายืนยันการทำนโยบายผ่อนคลายการเงินหรือยังไม่ถอนนโยบายการเงิน

เป็นที่ฮือฮาในช่วงที่ผ่านมา คือ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เสนอชื่อ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นอีกสมัย และมีการแถลงต่อสภาว่าจะทำการถอนนโยบายหรือจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อนำเงินมาซื้อพันธบัตร โดยการถอนนโยบายการเงินจะเริ่มในปี 2019 ซึ่งนายฮารุฮิโกะ คุโรดะไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนแต่เมื่อมีการพูดถึงทั้งที่ได้เคยพูดกับตลาดว่าจะไม่รีบถอนนโยบายการเงิน เพราะค่าเงินเฟ้อยังมีเพียงครึ่งทางเท่านั้นที่ 2% แต่ตลาดได้มีการจับใจความเรื่องการถอนนโยบายไปแล้วแม้ว่าการพูดจะมีทำนองยังไม่มีการถอนนโยบาย ตลาดก็เริ่มมีความกังวลมากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงเวลาของการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกในเรื่องนโยบายการเงิน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นทำได้ดี และได้ดาวน์เกรดตลาดหุ้นญี่ปุ่นไปหลายเดือนแล้วที่ 23,000 - 24,000 จุด ซึ่งมีการดาวน์เกรดเป็นอันเดอร์เกรด โดยมี Correction ต่ำลงมา 10% จึงได้มีการเตือนแล้วว่าระดับราคาที่ปรับขึ้นมาแล้วนโยบายการเงินที่มีลักษณะการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก คือ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีหุ้นก็ไม่ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีหุ้นก็ควรจะดีแต่คนก็จะถามว่าเมื่อไหร่ BOJ จะยกเลิกหรือถอนนโยบายผ่อนคลาย QE เมื่อตลาดสร้างความกังวลค่าเงินเยนก็จะแข็งค่าขึ้น เป็นไปตามสูตรเมื่อค่าเงินเยนแข็งค่าเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศส่งออกและมีการบริการข้ามชาติจำนวนมากก็จะกระทบกำไรของบริษัท ส่วนถ้าเป็นบริษัทเล็กที่มีหุ้น Small Cap เน้นเศรษฐกิจในประเทศเมื่อเงินเยนแข็งค่าคงไม่ต้องกังวลมากเท่าไหร่นัก นับว่ามีความเป็นจริงส่วนหนึ่งแต่ถ้าค่าเงินแข็งค่าเป็นระยะเวลานานผลกระทบก็จะลามตั้งแต่บริษัทข้ามชาติ ความเชื่อมั่นก็จะลดลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินจะไปกดดันให้เงินเฟ้อต่ำ และเมื่อเงินเฟ้อต่ำคนญี่ปุ่นก็จะไม่ออกมาใช้จ่ายและกลับไปออมกันอีกครั้ง ความพยายามที่ทำกันมา 10 ปีก็จะสูญไป เพราะฉะนั้นค่าเงินเยนที่แข็งค่าจะลามไปถึงหุ้นทุกกลุ่มหากจะหนีก็คงจะยาก จึงอยากจะเตือนหุ้นของญี่ปุ่นขณะนี้กำลังเข้าสู่ภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

อีกเศรษฐกิจหนึ่งที่มีความคล้ายกัน คือ ยูโรโซน เพราะเศรษฐกิจดีมาหลายเดือน ซึ่งเมื่อไหร่ที่ ECB ยกเลิกนโยบายผ่อนคลายลดเหลือเป็นการซื้อพันธบัตร 30,000 ล้านยูโรต่อเดือน เมื่อถึงปลายปีนี้อาจจะมีการจะยกเลิกนโยบายการเงิน แต่ ECB ก็ยังไม่ได้กำหนดความชัดเจนว่าจะยกเลิก QE เมื่อไหร่ และยังสงวนท่าทีว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็อาจจะต่อนโยบายอีกก็เป็นได้ เมื่อมีคนตั้งคำถามว่าจะยกเลิกนโยบาย QE เมื่อไหร่ ค่าเงินยูโรก็จะแข็งค่า เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นหรือยุโรปเมื่อไหร่ที่มีเศรษฐกิจดีขึ้นจริงหุ้นก็น่าจะดี แต่ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างที่จะสร้างปัญหา แต่เมื่อเศรฐกิจดีขึ้นเพราะค่าเงินอ่อนค่าก่อนหน้านี้ เมื่อค่าเงินแข็งค่าก็จะวนกลับไปทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไป ซึ่งลักษณะแบบนี้สหรัฐอเมริกาเคยผ่านประสบการณ์มาก่อน เรียกว่า วัฎจักรเศรษฐกิจไม่เท่ากัน อย่างวัฎจักรเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นที่รู้กันว่าช่วงนี้อยู่ในช่วงปลายของการเติบโต สหรัฐอเมริกามีประสบการณ์มาหมดแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าแล้วทำให้เงินเฟ้อตกลงไป ตอนนี้ยูโรโซนกับญี่ปุ่นกำลังผ่านพ้นไปแต่ตัวค่าเงินยังเป็นอุปสรรคต่อหุ้นทั้ง 2 ตลาดนี้

หากมองภาพแบบนี้แล้วธนาคารกลางทั้งยุโรปและญี่ปุ่นก็ต้องพยายามที่จะประคับประคองไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าเร็วจนเกินไป โดยมีการส่งสัญญาณว่าจะไม่ทำการรีบร้อนถอนนโยบายการเงิน ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้เคยออกมาพูดในลักษณะแบบนี้แล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกามองว่าถ้ายุโรปและญี่ปุ่นพยายามทำการกดค่าเงินไว้ค่าเงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่าขึ้นไปอีก เพราะกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม นับว่าเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้และเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ของ Cycle นี้ และยังเชื่อมั่นกันว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2561 นี้ และมีการพูดกันมาว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง จะเห็นได้ว่าตลาดพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ ปรับขึ้นมาเกือบ 3% และยังมีแนวโน้มที่จะไปต่อ หากลองดูในช่วงเวลานี้อย่างดอกเบี้ยบ้านหรือรถยนต์ในสหรัฐอเมริกามีการปรับขึ้นมามากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งดอกเบี้ยไม่สามารถปรับขึ้นไปได้ตลอดเพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจจริง

“เราเคยมองว่าในช่วงต้นปีหุ้นดีมากบางคนบอกว่าทิ้งตลาดตราสารหนี้เลยแล้วเข้าไปซื้อหุ้นกัน แต่เมื่อผ่านพ้นปีใหม่มาทางบลจ. ทหารไทยได้อัพเกรดกองทุนตราสารหนี้ขึ้นมา 2 กองทุน คือรักษาวินัยการเงินของนักลงทุน เพราะไม่รู้ว่าวัฎจักรของเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อไปจริงหรือไม่ บางคนบอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลดภาษีทำให้วัฎจักรนี้ยาวนานขึ้น แบบนี้ต้องฟังหูไว้หูโดยกองหลังดูสภาพคล่อง กองกลางดูตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่เน้นรายได้ที่ไม่มากก็น้อย กองหน้าจะเป็นส่วนของหุ้น อย่าเทหมดในที่เดียวเพราะเวลาที่หุ้นดีคนก็จะเทไปหมด อย่างบลจ. ทหารไทยได้บอกว่าอย่าทิ้งหุ้นหมดและตลาดตราสารหนี้ก็ปรับตัวขึ้นมา และถ้ามองเศรษฐกิจผิดตลาดตราสารหนี้อาจจะปรับตัวลง เพราะว่าผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ระมัดระวังให้นักลงทุนส่วนหนึ่งอยู่แล้ว อาจจะมีการไปซื้อตราสารระยะสั้นก็ได้ หรือตลาดตราสารหนี้ระยะยาว 10 ปีไม่มีความคุ้มในการเสี่ยงก็อาจจะลดสัดส่วนการลงทุนมาได้ และอยากจะบอกกับนักลงทุนว่าในระยะเวลา 10 เดือนที่เหลืออยู่อยากให้รักษาวินัยหรือลองปรึกษากับที่ปรึกษากองทุนแต่ละค่าย เพราะแต่ละค่ายจะมีเทคนิคการจัดสินทรัพย์สัดส่วนการลงทุนที่เป็นกลยุทธ์ และในแต่ละช่วงเวลาก็อาจจะกำหนดสัดส่วนไว้ อย่าให้ความโลภและความกลัวเข้ามามีอิทธิพลต่อเราและรักษาวินัยเพื่อจะทำได้ดีในระยะยาว” นายณัฐฐะกล่าวและว่า การเลือกซื้อกองทุนหุ้นกับกองทุนตราสารหนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบอาจจะใช้หลักแอปเปิ้ลเทียบกันกับแอปเปิ้ล คงไม่เอาแอปเปิ้ลมาเทียบกับส้มเพราะคนละอย่างกัน สินทรัพย์ที่เตรียมไว้ต้องย้ำเลยว่าจะเอามาเทียบกัน 2 อย่างไม่ได้

“อย่างหุ้นที่ผ่านมาดีมากทำให้มีการเข้าไปลงทุนมากซึ่งทำไม่ได้เพราะทำหน้าที่คนละอย่างกัน เช่น หากเศรษฐกิจดีต่อไปราคาหุ้นในบางตลาดยังไม่สูงมากซึ่งยังไปต่อได้ก็อาจจะทำได้ดีกว่าตลาดตราสารหนี้ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นบางอย่างไม่เป็นอย่างที่คิด เช่น ตอนนี้คนเริ่มกังวลว่าการเริ่มทำ Trade War จากเศรษฐกิจที่ดีต้องมาปรับสมมุติฐานกันใหม่หรือไม่ อย่างตลาดพันธบัตรเริ่มนิ่งและปรับลดลงมาบ้างเพราะฉะนั้นตลาดตราสารหนี้อาจจะทำได้ดีกว่าก็เป็นได้ ทำให้การเปรียบเทียบไม่มีอะไรดีไปกว่ากันเพราะ 2 อย่างนี้ต่างกัน อย่างตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงน่าจะมีภาษีดีกว่าเพราะควรจะเลือกเกรดของตราสารหนี้หรือส่วนต่างเมื่อจะทำการเข้าไปเสี่ยงการลงทุน หากไปเสี่ยงกับตราสารหนี้ที่มีคุณภาพต่ำลงมาแล้วได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาๆ ม่มากถือว่าไม่คุ้มค่า เพราะฉะนั้นควรจะเลือกลงทุนกับตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ส่วนตลาดหุ้นควรไปดูที่ตลาดเกิดใหม่ที่เชื่อมต่อกับ Trade War อย่างสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มค่าเงินจะอ่อนแม้จะรีบาวด์ขึ้น เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ไปกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการใช้จ่าย ทำให้งบการคลังขาดดุลแล้วขาดทุนบัญชีเงินสะพัด เพราะการส่งออกเริ่มลดลง การนำเข้าเริ่มมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี ทำให้เป็นปัจจัยให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่ Trade War ทำได้ยากในเรื่องการตอบโต้แต่ถ้าทำให้ค่าเงินอ่อนสามารถทำได้ง่าย”

116 views
bottom of page