top of page
image.png

คริปโตในอากาศ แหล่งเงินก่อการร้าย ?


ในภาวะที่เงินตราดิจิทัลมีทางเลือกสายเดียว คือเป็นเงินล่องลอยในอากาศ เหตุธนาคารกลางไม่รับ การฉกฉวยเอาเป็น “มันนี่เกม”หรือ scam และเป็น “เงินก่อการร้าย” นับวันจะถี่ขึ้นเมื่อมีคอยน์สกุลใหม่ๆ เกิดขึ้น

การจับกุมบริษัทจีนที่ใช้บ้านในหมู่บ้านลลิล กรีนวิลล์ แขวงประเวศ หลังหนึ่ง เป็นสำนักงานพร้อมเครื่องมือต่างๆ เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ 10 เครื่อง สมาร์ทโฟน 15 เครื่อง เครื่องบอกรหัส token 41 ตัว โดยเป็นกิจการร่วมลงทุนซื้อลอตเตอรี่จีน เข้าข่าย scam คือการหลอกลวงชักชวนร่วมลงทุนในธุรกิจออนไลน์

หลังจากทางการจีนกวดขันกิจการธุรกรรมการเงินนอกกฎหมายเข้มงวด โดยเฉพาะธนาคารกลางจีนห้ามธนาคารในจีนรับแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลหรือคริปโตมันนี่ ธุรกิจสีเทาเหล่านี้พากันย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศ กระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นมาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

คงจะไม่มีแค่คดีลอตเตอรี่จีนคดีเดียว คดีซื้อขายเงินคริปโตหลบๆ เลี่ยงๆ ยังจะตามมาอีกมาก

การซื้อขายเงินตราดิจิทัล แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่รับเป็นเงินตราและห้ามธนาคารพาณิชย์รวมทั้งธนาคารรัฐรับแลกเปลี่ยน ก็ย่อมถือว่าไม่ได้รับรองตามกฎหมาย

ทำให้เกิดช่องว่างที่อาชญากรดิจิทัลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เกิดธุรกิจสีเทา สีดำ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายเงินคริปโตมากมาย แต่กระนั้น ก็ยังมีการลงทุนหมุนเวียนซื้อขายเงินคริปโตวันละกว่า 500 ล้านบาท

ยิ่งล่าสุด JAYMART ออก ICO (Initial Coin Offering) JFIN Coin เริ่มขายในวันวาเลนไทน์จำนวน 100 ล้านคอยน์ หน่วยละ 6.60 บาท มูลค่ารวม 660 ล้านบาท หมดภายใน 55 ชั่วโมง

บอกให้รู้ว่า นับแต่วันที่ 1 มีนาคมที่เป็นวันเข้าตลาดวันแรกของเจฟินคอยน์ที่ใช้รูปแบบคล้าย IPO ของตลาดหุ้นนั้น จะมีเงินหมุนเวียนในตลาดเงินคริปโตของไทยวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

บริษัทหรือตัวแทนนายหน้าค้า cryptocurrencies หลากหลายสกุลในไทยหลายร้อยแห่งมีการดำเนินการแฝง เช่น network, money game, scheme, ponzi scheme แชร์ลูกโซ่หรือตลาดหุ้นงูกินหาง ฯลฯ

หรืออย่างเบาๆ กองทุนเพื่อการลงทุนเถื่อน และออกมาในรูปการฟอกเงิน (Money Laundry)

มีที่เป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราดิจิทัลหรือซื้อขายโภคภัณฑ์จริงๆ ไม่ถึง 10%

มีความเป็นไปได้ว่า ตั้งแต่กลางปีนี้ไป อาชญากรรมทางการเงินรูปแบบเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีมากขึ้น

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกหลอกลวงให้ลงทุน ซึ่งอยู่ที่สำนักงาน DSI เปิดเผยว่า มีเพียงไม่ถึง 10% ของผู้ถูกหลอกลวงให้ลงทุนเท่านั้น ที่แจ้งความร้องทุกข์

ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ยอมรับสภาพ เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงหมายถึงความเสี่ยงสูง เมื่อความเสี่ยงกลายเป็นจริง จึงต่างล้วนยอมรับสภาพ

พวกลงทุนในเกมการเงินเสี่ยงเช่นนี้ ส่วนใหญ่ไม่ “เล่น” หรือลงทุนในกลุ่มเดียว บางคนจำนองบ้าน จำนำรถ เอามา “ลง” ถึง 10 วง

โดยเชื่อว่า การลงทุนในหลายวง เป็นการกระจายความเสี่ยง ได้วงนี้ ไปเสียหรือถูกวงโน้นโกง หักกลบแล้วพอจะมีกำไรบ้าง

พวกขาเก๋าเหล่านี้ จะไม่ลงแบบ “กินยาว” หากแต่จะฉวยโอกาสดีดตัวออกมาในจังหวะที่เงินกำลังเดินดี มีผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามามาก เจ้ามือสามารถนำเงินใหม่มาจ่ายเงินเก่าได้

ฝรั่งเรียกว่า Rob Jack to Pay Paul คือขโมยเงินจากแจ๊คมาจ่ายให้พอล ทำอย่างนี้เป็นทอดๆ ที่คนไทยเรียกว่างูกินหาง หางยาวเท่าใด เงินใหม่มาจ่ายตอบแทนผู้ลงทุนเก่าหรือคนก่อนหน้าก็มีต่อเนื่อง บางรายเล่นกันเป็นปีๆ

อย่าง Bit Connect ที่ถูกบอร์ดกำกับตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กสั่งปิดกิจการเป็นต้น

บริษัทนี้เข้ามาเมืองไทยให้นักลงทุนไทยเล่นกันมาถึง 3 ปี ตอนนี้ค้ากันเป็นร้อยๆ ล้าน รอซื้อ “คอยน์” ใหม่ที่บริษัทดำเนินการใหม่ทำ ICO ทดแทน

เงินแท้หรือ paper money ที่เข้าไปหมุนเวียนในระบบค้าเงินคริปโตนี้ มาร์เก็ตแคปเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ จึงเป็นที่หมายตาของอาชญากรไซเบอร์

ปีที่แล้ว Cybercriminals 14% แฮกระบบและฟันไปถึง 14% ของมาร์เก็ตแคป ทั้งนี้เป็นรายงานของ Winter Green Research

ตอนนี้บรรดาเจ้าของคอยน์และบริษัทที่จะออกคอยน์ตัวใหม่พากันแสวงหาระบบนิรภัย Super-Secure กันอย่างเร่งด่วน

อย่างโกดักที่ออก KodakCoin ก็ตั้งบริษัท KodakOne ดูแลระบบนิรภัยที่ใช้ของ blockchain security ในนามบริษัท Comae Technologies เป็นต้น

พวกอาชญากรคริปโตนั้น สร้างตลาดมืดของบิทคอยน์ขึ้นมา เรียกว่า Dark-Web มีการโอนเงินหรือแลกเปลี่ยนบิทคอยน์และเงินคริปโตสกุลอื่นๆ โดยไม่ผ่านระบบธุรกรรมของธนาคาร

กิจการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “Amazon for drugs” คือการซื้อขาย “ยา” (เสพติด) ออนไลน์ และการโอนย้ายถ่ายเทเงินตราของธุรกิจมืดหรือสีเทา

คล้ายๆ กับสมัยหนึ่งบ้านเรามีระบบโพยก๊วนที่คนจีนอพยพใช้โอนเงินที่ทำมาหากินได้ในเมืองไทยส่งไปให้ญาติพี่น้องที่เมืองจีน โดยมีบริษัทหรือ “ร้าน” ย่านเยาวราช เป็นผู้ดำเนินการ

การโอนย้ายถ่ายเทแลกเปลี่ยนเงินตราดิจิทัลซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศไม่ยอมรับ เช่นนี้ ส่วนหนึ่งใช้ระบบ “stores” คือร้านแบบโพยก๊วน คือซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราที่แฝงในธุรกิจ บริการ สินค้ารูปแบบต่างๆ

คำว่า Amazon อันเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์หรือรหัสสำหรับการค้าเงินคริปโตที่ไม่ถูกกฎหมาย ที่ล่อแหลมเป็นสแกม

แต่ที่น่ากลัวที่สุดในวงการค้าคริปโตขณะนี้ก็คือ “REAPER” ของเกาหลีเหนือ ที่นอกจากจะเป็นหน่วยจารกรรมดิจิทัลทางกองทัพของเกาหลีเหนือแล้ว มันยังทำหน้าที่ “ฉกเงิน” จากระบบซื้อ-ขาย-จ่าย-โอน ในธุรกรรมคริปโตเคอเรนซีด้วย

ทั้งนี้เพราะเกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรในทุกด้านจากสหประชาชาติ เหตุจากทุ่มเทพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จนเป็นภัยคุกคามสันติภาพโลก

เมื่อไม่มีใครในโลกเสรีค้าขายด้วย นอกจากจีนและรัสเซีย จึงขาดรายได้หลัก ซ้ำยังนำเงินไปใช้กับอาวุธอย่างหนัก หาได้เท่าไรก็ไม่พอ

ทางออกก็คือ หาเงินจากตลาดมืด ซึ่งก็ได้จากการแฮกจากพวกค้าคอยน์ทั้งหลายเหล่านี้

ปีที่แล้ว เงินที่ถูกแฮกออกไปจากระบบค้าเงินคริปโตมีกว่า 200 ล้านดอลลาร์จากระบบค้าคอยน์

เงินพวกนี้ ส่วนหนึ่งพวกอาชญากรไซเบอร์เอาไป ส่วนหนึ่งพวกก่อการร้ายในตะวันออกกลางหรือภูมิภาคอื่นๆ เอาไป และส่วนหนึ่งเกาหลีเหนือเอาไป

ฟังดูแล้วน่าตกใจ น่าประหวั่นพรั่นพรึง แต่ถามว่ากลัวไหม โดยเฉพาะนักลงทุนไทย

ไม่มีใครกลัว เห็นได้จาก มีแต่วงเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

แมงเม่าบินเข้ามามากขึ้นๆ ๆ ๆ

แมงเม่านั้น ธรรมชาติของมัน ถ้าไม่บินเข้ากองไฟ แล้วจะให้บินไปไหน ?

 
bottom of page