ขณะที่ทางการโดยเฉพาะ ก.ล.ต. ยังแบ่งรับแบ่งสู้ กระแสการซื้อขายเงินดิจิตัล โดยเฉพาะการระดมทุนด้วยวิธีการระดมทุนโดยออก ICO โดยกำลังรวบรวมและออกระเบียบเพื่อกำกับดูแลคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคมนี้ และล่าสุดแบงก์ชาติส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการซื้อขายเงินดิจิทัล รวมทั้งไม่สามารถเบรกการซื้อขาย ICO ตัวแรกที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในไทยอย่าง JFin ได้ ตรงกันข้ามการซื้อขาย JFin วันแรก 14 กุมภาพันธ์ บนกระดานซื้อขาย TDAX กลับคึกคัก และมี ICO ตัวที่ 2 ชื่อ Tuk Tuk Pass จ่อคิวตามมาติดๆ
ความใหม่ของเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี่ เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ และยังอยู่ระหว่างแนวคิดที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือยอมรับไม่ได้ ขณะที่มีความกังวลจากทางการในเรื่องของความเสี่ยงที่ประชาชน/นักลงทุนจะได้รับหากเข้าไปซื้อขายด้วยความไม่เข้าใจ ตลอดจนเรื่องของความเสี่ยงการใช้ เงินดิจิตัล เป็นมันนี่เกม แชร์ลูกโซ่ จนหลายประเทศเองก็ยังไม่ยอมรับในเรื่องของเงินดิจิทัล 100% แต่ก็มีหลายประเทศยอมรับให้เงินดิจิตัลใช้ชำระราคาได้ตามกฎหมาย แต่ไม่ให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นในประเทศญี่ปุ่น และในตลาดอเมริกา ยอมรับให้เงินดิจิตัลที่เป็นทีนิยมที่สุดคือ บิทคอยน์ สามารถซื้อขายในตลาดอนุพันธุ์ได้ แต่ก็มีที่สั่งแบนด์เงินดิจิตัล เช่นเวียดนามและจีน ขณะที่เกาหลีใต้ห้ามไม่ให้มีการระดมทุนแบบ ICO ในประเทศ
ทั้งนี้ การซื้อขายเงินดิจิทัล ได้รับความนิยมมาหลายปีแล้ว แต่มาบูมมากจากเงินสกุลที่เรียกว่า บิทคอยน์ในช่วง ปีเศษที่ผ่านมา และก็มีการปรับขึ้นแรงและลงเร็วเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งในโลกนี้มีเงินดิจิทัลจำนวนมากมายหลายสกุล
ต่อมาได้มีแนวคิดในการระดมทุนที่ต่อเนื่องกันมา นั่นคือ ICO การออกเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น ...
ICO คือ Initial Coin Offering เป็น การระดมทุนและลงทุน สำหรับผู้ที่คิดจะเปิดตัวโปรเจค/โครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมีการออกเหรียญดิจิตัลมาเพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตัวโปรเจคดังกล่าว รวมทั้งบริษัท ซึ่งนักลงทุนในตลาดหุ้นจะเปรียบเทียบได้กับ IPO ที่บริษัทจดทะเบียน ออกหุ้นขึ้นมาและมีทุนประเดิมในกลุ่มผู้ถือหุ้น ต่อมาต้องการประจายขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป ก็ ออกหุ้น IPO ขาย แต่ต่างกันที่ ICO ไม่ใช่การออกโดยการระดมหุ้น ทำห้ผู้ซื้อไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ
ก.ล.ต. ได้ศึกษา และทำประชาวิจารณ์ในเรื่องของ ICO นี้ มีหลายเดือนแล้ว เพื่อที่จะดูแลกำกับและควบคุม ไม่ให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุนได้ โดยคาดว่า จะออกระเบียบได้ในเดือนมีนาคม 2561 นี้ ทั้งนี้ มีการตีความกันว่า การทำ ICO ในไทย ทำได้หรือไม่ ต้องขออนุญาต ก.ล.ต. หรือไม่ แบบไหนถูกแบบไหนผิด ยังคลุมเครืออยู่ และ ก.ล.ต.ได้ชี้แจงว่า การทำ ICO ที่ไม่มีคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับ การออกหลักทรัพย์ นั้นถือว่าทำได้ ก.ล.ต. ไม่ได้เข้าไปกำกับดูแลแต่อย่างใด ปรากฏว่าเมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัท เจมาร์ท ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และได้ดำเนินการ ออก ICO ระดมเงินจากประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในชื่อ JFin กลายเป็น บริษัทแรกของไทยที่จดทะเบียนออก ICO ซึ่งแม้ในเบื้องต้นจะถูกติงจาก ก.ล.ต. แต่เนื่องจาก การออกเหรียญ JFin ของบริษัทลูก เจมาร์ท แม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียน ภายใต้การกำกับของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. แต่ไม่ได้เป็นการออกโดยเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ได้มีความผิดที่จะถูกเบรกได้ ทั้งคนที่คอยให้คำปรึกษาไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทยมาก่อน
JFin ได้กำหนดให้มีการซื้อขาย ICO ได้บนกระดาน ที่เรียกว่า TDAX ที่เป็นกระดานซื้อขายคริปโตเคอเรนซีกระดานเดียวที่ได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อขายมากที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ นับเป็น ICO แรกที่ซื้อขายอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดให้เริ่ม ซื้อขาย 14 กุมพาพันธ์ 2561
ก่อนถึงกำหนดซื้อขายไม่กี่วัน ปรากฏรายงานข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ว่าในวันที่ 12 กุภาพันธ์ 2561 แบงก์ชาติออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน ห้ามทำธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี คุมเข้มการเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในคริปโตเคอเรนซีเพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเองหรือผลประโยชน์ของลูกค้า ห้ามให้บริการรับแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน ห้ามให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อคริปโตเคอเรนซี ทำให้เกิดข้อกังวลได้พอควรว่า ICO ของ JFin จะเป็นอย่างไร? ซื้อขายได้หรือไม่ ซึ่งนับว่า เป็นการเบรกเงินดิจิตัลที่ดูแรงที่สุดนับตั้งแต่มีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มา
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าไม่สามารถแบรก ICO JFin ได้ การซื้อขายประเดิมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ยังเดินตามแผนต่อไป
มิหนำซ้ำ ปรากฏว่า การซื้อขายระเบิดเถิดเทิง เพียงไม่ถึงครึ่งวัน มีคนเข้ามาซื้อถึง 80% ของเหรียญโทเคนที่ประกาศออกขายทั้งหมด 100 ล้านเหรียญ กำหนด 1 JFin เท่ากับ 6.6 บาท
ทั้งนี้ นอกจาก JFin ที่เป็นของเครือ เจมาร์ท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว กำลังมีอีกบริษัทหนึ่ง ที่จ่อคิวมาซื้อขาย ICO ขายบนกระดาน TDAX เป็นแห่งทื่ 2 แต่คราวนี้ เป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพพันธ์แท้ ที่ชื่อ ตุ๊กตุ๊กพาส Tuk Tuk Pass ซึ่งว่ากันว่าเป็นบริษัทไทยที่คิดทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในระดับโลก โดยจะออกเหรียญ 700 ล้านเหรียญ TTPA แต่แบ่งขาย ICO รอบแรกก่อนในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้จำนวน 70 ล้าน TTPA
นายปรมินทร์ อินโสม กรรมการผู้จัดการ TDAX เปิดเผยว่าก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเว็บไซต์ TDAX จะเปิดจำหน่าย ICO (Initial Coin Offering) คือ JFin ให้กับลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์เป็นครั้งแรก ได้ตระหนักว่าทั่วโลก รวมถึง ประเทศไทยเองให้ความสำคัญ และมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเทรดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และการจำหน่าย ICO ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน TDAX จึงร่วมมือกับสองบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้าน eKYC และ Face Recognition and Comparison ซึ่งจะนำมาใช้ยืนยันตัวตนลูกค้า อย่างเคร่งครัด เข้ามาให้บริการลูกค้าเพิ่มระบบตรวจเข้มด้านระบบยืนยันตัวตน (KYC - Know Your Customer) และการป้องกันการฟอกเงิน (AML - Anti-Money Laundering) ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันการการฟอกเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว