top of page
312345.jpg

‘ระยอง’ คาใจ ทำไมต้อง 330/วัน


ผู้ประกอบการระยองคาใจ ทำไมค่าแรงขั้นต่ำระยองต้องติดโผท็อปทรี แพงที่สุด ถามภาครัฐใช้อะไรคิด ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ แจงงานนี้เหมือนลงดาบสองซ้ำเติม ต้องเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแรงงานในภาวะที่แรงงานไร้สกิลขาดแคลนหนักจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของภาครัฐ พร้อมสะท้อนความจริง...อุตฯและธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ถูกกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีฝีมือ ค่าจ้างสูงกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว แต่ภาคเกษตร ประมง ท่องเที่ยว เอสเอ็มอี อ่วม มีสิทธิ์ตายหยั่งเขียด

นายวิโรจน์ รมเยศ รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาทของจังหวัดระยองล่าสุดนี้ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะช็อกพอสมควรสำหรับธุรกิจทั่วไปในจังหวัดระยอง ซึ่งประเด็นที่สงสัยคือ ทำไมต้องเป็น 3 จังหวัดนี้ คือภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

“เอากฎเกณฑ์อะไรมาคิดในการขึ้นค่าแรงเพิ่มเกือบ 10% เรากังวลใจและคาใจ หรือเป็นเพราะมองว่าระยองเป็นจังหวัดใหญ่ มีความเจริญก้าวหน้า ค่าครองชีพสูง การปรับขึ้นค่าแรงอาจจะไม่กระทบ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นมุมมองด้านเดียว ข้อเท็จจริงคือระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ก็จริง เรายังมีเกษตรกรรม ยังมีธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากในธุรกิจระดับล่าง หรือเอสเอ็มอีชาวบ้านที่ใช้แรงงานสูงมาก คือถ้าเรามองทางด้านอุตสาหกรรมอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะภาคอุตสาหกรรมใช้แรงงานน้อยมากจนคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย แต่ในขณะเดียวกันกับธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไปขนาดย่อม ขนาดกลาง ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เรายังมองไม่เห็นว่า เขาจะมีวิธี หรือรัฐจะมีวิธีเยียวยาอย่างไรให้กับพวกเขา”

นายวิโรจน์ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมานานพอสมควร ซึ่งขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็เห็นใจแรงงาน แต่รัฐเองเอาอะไรมาคิดในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และรัฐเองจะมีนโยบายเยียวยาผู้ประกอบการบ้างหรือไม่

“เรื่องจะช่วยลดหย่อนภาษีให้กับนายจ้างผู้ประกอบการ และลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปี ตรงนี้ยังไม่ทราบถึงความชัดเจนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่เราต้องยอมรับว่าด้วยธุรกิจเกษตรและการท่องเที่ยวของจังหวัดระยอง จะใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงธุรกิจบริการ แล้วอยู่ๆมาปรับขึ้นค่าแรงขนาดนี้ ถามว่าจะช็อกหรือไม่ ถ้าเทียบเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด อย่างกรุงเทพฯมีอะไรดีหรือไม่ดีเท่ากับระยอง คนกรุงเทพฯมีต้นทุนที่ต่ำกว่าระยองจริงหรือไม่ อย่างน้อยรัฐต้องทบทวน ซึ่งสิ่งที่เราคาใจที่สุดคือรัฐเอาอะไรมาเป็นฐานในการคิด ตรงนี้ยังสงสัยอยู่”

นายวิโรจน์กล่าวต่อด้วยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่เคยถามผู้ประกอบการ จนมีประกาศออกมามา ซึ่งทั้งแปลกใจและกังวลใจว่าแนวคิดนี้มาจากที่ไหน ฐานค่าแรงแต่ละจังหวัดคิดมาจากอะไร แล้วทำไม 3 จังหวัดคือชลบุรี ภูเก็ต ระยอง ต้องเพิ่มค่าแรงมากกว่าจังหวัดอื่น

“3 จังหวัดนี้รวยกว่าคนอื่นหรือ มีความจำเป็นใช้แรงงาน แล้วค้าขายได้แพงกว่าคนอื่นจริงหรือไม่ ซึ่งราคาขายสินค้าทั่วประเทศก็มีความใกล้เคียงกัน ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆก็ขายสินค้าราคาใกล้เคียงกัน แต่ทำไมจังหวัดระยองจึงจะต้องใช้แรงงานที่จ้างแพงกว่าเขา ตรงนี้อยากให้มีการทบทวน แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ฝากเป็นแนวคิดในครั้งต่อๆไป ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้าน เพราะเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีแรงงาน แต่ถามว่าถูกต้องหรือไม่…

“ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านค้า การเกษตร ของจังหวัดระยองขาดแรงงานตลอด ขณะเดียวกัน เราใช้แรงงานต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งผลประโยชน์ไปตกกับแรงงานต่างชาติเกิน 50% เราขาดแคลนแรงงานระดับนี้มาก และยังมีการตัดราคากัน ถามว่ากระบวนการที่แรงงานต่างชาติเข้ามามันก็ยากเย็นมาก แล้วจะขึ้นราคาเท่าไหร่ แต่คนไม่มีให้ทำ เป็นกระบวนการที่เราเพิ่มทั้งต้นทุนและขาดทุนแรงงาน มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

ส่วนประเด็นที่ว่า เมื่อระยองขาดแคลนแรงงาน จึงต้องเพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงานหรือไม่นั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า แรงงานที่ขาดแคลนเป็นแรงงานภาคบริการระดับล่าง และแรงงานคนไทยก็ไม่ทำอยู่แล้ว เช่นทางด้านประมง บริการ หรือการค้าระดับล่าง เมื่อคนไทยไม่ทำ จึงต้องใช้แรงงานต่างชาติ ซึ่งกระบวนการในการคัดแรงงานต่างชาติให้เข้าระบบที่ถูกต้องก็เป็นรายละเอียดที่ยุ่งยากและต้นทุนสูงมากอยู่แล้ว

“ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาคิดกันว่าเอาอะไรมาคิดกับการเพิ่มราคาและผลกระทบกับจำนวนแรงงาน และถ้าเพิ่มแล้วก็จะยังไม่มีแรงงานตอนนี้ราคาสินค้าบางกลุ่มขึ้นไปแล้ว ตรงนี้เป็นเรื่องที่เรากังวลใจ ขณะเดียวกัน ในหลายๆจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต นครราชสีมา เชียงใหม่ ค่าใช้จ่ายถูกกว่าระยองมาก เราก็เห็นใจแรงงาน แต่ถามว่าเอาอะไรมาเป็นมาตรฐานว่าค่าแรงระยองต้องสูงกว่า และอะไรเป็นตัววัดค่าใช้จ่าย เพราะมันจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก ส่วนระดับใหญ่เขาไม่มีปัญหา เพราะใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ใช้แรงงานน้อยมาก และใช้งานที่มีสกิลสูงอยู่แล้ว ซึ่งราคาจะโดดไปไกลกว่าที่เขากำหนด แต่แรงงานระดับล่าง ด้านเกษตรกร ด้านบริการ ด้านการท่องเที่ยว จะกระทบมาก”

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ยังกล่าวด้วยว่าการที่ระยองเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อีอีซี ไม่น่าจะเป็นประเด็นให้ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้เพราะโดยข้อเท็จจริงตามนโยบายของรัฐบาลประกาศไว้ว่า 3 จังหวัดที่จะเป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศคือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่แนวโน้มในการผลิตจะเป็นนวัตกรรมใหม่เกือบทั้งหมดซึ่งไม่ได้ใช้แรงงานมากมายนัก โดยจะมีการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งใช้แรงงานคนน้อยมาก และถ้าใช้แรงงานคนก็ต้องเป็นคนที่มีสกิลการทำงานสูง ซึ่งได้ค่าแรงมากกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว

“อย่างที่บอกคือภาคเกษตร บริการ ท่องเที่ยว จะถูกกระทบ โดยปัจจุบันเราถูกบีบในเรื่องของกฎหมายซึ่งถูกมองว่าการจ้างงานกลุ่มนี้เป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งมันไม่ใช่เลย เราจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำ เราก็ให้ค่าจ้างแรงงานระดับสูงอยู่แล้ว เราไม่ได้จ้างเขาในราคาที่ต่ำ ขณะที่จังหวัดระยองขาดคน แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องไปเพิ่มค่าแรงขึ้น ถามว่าแรงจูงใจอาจจะมี แต่กระบวนการในการคัดสรรแรงงานเข้ามาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก ใช้เวลาพอสมควร ซึ่งไม่สามารถกระทำการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนได้ ในขณะที่การผลิตต้องเดินไปทุกวัน ตรงนี้คืออะไร...

ที่จังหวัดระยองปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่จบ ขณะนี้ธุรกิจประมงที่ระยอง 50% ยังออกเรือไม่ได้ พูดง่ายๆคือสินค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้ำปลาเริ่มถูกกระทบ ส่วนตัวเชื่อว่าภายใน 4-5 ปี การผลิตน้ำปลาของเราจะเป็นปัญหา เพราะน้ำปลาต้องใช้กระบวนการผลิตเป็นปี ซึ่งแม้เราจะมีวัตถุดิบสะสมไว้ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาคือเรือไม่สามารถออกได้ และจับปลาที่กำหนดไม่ได้ ตอนนั้นอาหารประเภทกะปิ น้ำปลา ที่เป็นฐานทั่วไปของการผลิตอาหารทั้งประเทศ จะมีกระบวนการที่ราคาสูงขึ้นมาก และก็จะกระทบกับชีวิตประจำวัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้เลย เชื่อว่ากระบวนการที่ยังใช้คนที่ผิดประเภทหรือไม่ถูกต้องยังมีอยู่ระดับหนึ่ง สาเหตุที่เขาต้องทำก็เพราะว่ามันไม่มีทางเลือกให้เขาทำดีได้มากกว่านั้น”

สำหรับกรณีของการขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้แรงงานต่างชาติมีข้อต่อรองกับนายจ้างได้มากขึ้นนั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า ผู้ประกอบการมองว่าไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะถ้าจ้างคนได้ มีคนมาทำงาน ผู้ประกอบการก็สามารถฝึกให้แรงงานมีสกิลขึ้นได้

“แต่การที่ไม่มีคน หาคนไม่ได้ ต้องลักลอบจ้าง ก็จะเป็นอันตรายต่อเรา และถ้าปรับราคาค่าแรงสูง มันเป็นเรื่องที่ไม่ชวนให้มีการลงทุนอะไรเลยในอนาคต ตรงนี้คือประเด็นที่กังวลที่สุด ส่วนตัวเชื่อว่าวิธีการที่ทำให้ถูกต้องเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่กระบวนการภายในของเราหรือขั้นตอนในการบูรณาการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มองว่ายังเป็นสิ่งบกพร่องที่ต้องรีบแก้ไข...

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนหรือกกร.จังหวัดระยองก็ได้มีการประชุมร่วมกับทางหน่วยงานของรัฐที่ระยอง ทางหอการค้าระยองก็มีข้อเสนอ 4-5 ข้อ อาทิ เรื่องฐานของการคิดค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องกระบวนการของการจัดการเรื่องแรงงานต่างด้าวควรจะมีวิธีคิดที่ดีกว่านี้ ก็คงจะมีการเสนอผ่านทางจังหวัดอีกครั้ง เพราะในเรื่องฐานการคิดค่าแรง เชื่อว่ายังมีข้อบกพร่องอีกหลายจุด ซึ่งก็ต้องหาวิธีคิดที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้ ในเรื่องค่าแรงเราก็เห็นใจแรงงาน คือค่าใช้จ่ายของแต่ละจังหวัดไม่แตกต่างกัน แต่ทำไมค่าแรงถึงได้แตกต่างกัน ก็ถือเป็นประเด็นที่เราต้องคิดกัน ดังนั้น ยังมีเวลาถึง 1 เมษายน 2561 ที่จะต้องปรับขึ้นค่าแรง และเรื่องนี้ยังต้องเข้าครม.ก่อน ซึ่งก็อยากให้มีการทบทวนอีกครั้ง”

205 views
bottom of page