top of page
369286.jpg

ประกันปีจอ ล้อคลื่นเศรษฐกิจ


ผ่านพ้นปี 2560 ที่ไม่ค่อยสดใส แถมทุลักทุเลอีกต่างหากกันไปแล้ว ก้าวเข้าสู่ปี 2561 ปีที่อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบตั้งความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้นชัดเจน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกโดยรวมเริ่มฟื้นตัว เว้นแต่บางภูมิภาคเท่านั้นที่ยังมีปัญหาชะลอตัว

ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้บรรยากาศแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยโดยรวมดีขึ้นนั้น มาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนและเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม แต่อาจจะโดดเด่นเฉพาะบางเซ็กเตอร์ เช่น ภาคส่งออก ภาคก่อสร้างและการท่องเที่ยว แต่ในแง่ของธุรกิจประกันภัยนั้น ยังไม่ได้อานิสงส์โดยตรง เพราะต้องรอภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องชัดเจนเป็นแรงส่งมาให้ภายหลังการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆอย่างน้อย 4-6 เดือน

อุตสาหกรรมประกันภัยมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทในปี 2561 จะมีแนวโน้มโฉมหน้าใหม่ๆหรือการปรับเปลี่ยนตามทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างไรนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับหลายๆองค์ประกอบแวดล้อมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งกฎเกณฑ์มาตรฐานการกำกับและการควบคุมของหน่วยงานเกี่ยวข้อง

ทว่า ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งสำคัญ คือ การแข่งขันของภาคธุรกิจทุกด้าน กำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกใหม่ๆ ล้วนมีส่วนกำหนดชะตากรรมและความเป็นไปในธุรกิจทั้งองคาพยพที่เกี่ยวข้อง

วินาศภัยลดหั่นเบี้ย

ตลาดที่ประเมินว่าจะแข่งกันเหมือนเดิมคือประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทรัพย์สิน แต่ที่เพิ่มมา คือ ความระมัดระวังเพราะทั้งสองหมวดนี้ ผ่านการแข่งขันเดือดด้านราคาเบี้ยมาอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในรายที่เคยกระโดดเข้ามาแข่งกันจนเลือดสาดขาดทุนกันไปนั้น คงต้องพิจารณาถอนตัวกลับไปรักษาบาดแผลเหวอะหวะ ทำให้รายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ามาแข่ง หรืออาจเคยมาแล้ว แต่ก็ถอยไปตั้งหลักกันเป็นพักๆ เพื่อรอจังหวะจับตลาดใหม่ได้กลับเข้ามาแข่งแย่งก้อนเค้กที่ยังมีเหมือนเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจแต่อย่างใด

ดังนั้น ปี 2561 ภาพของการแข่งขันเหล่านั้น จะลดระดับลงไปเล็กน้อยตามอัตราความเสียหายของแต่ละแห่งที่เข้ามาเล่นตลาดผิดประเภท

ที่สำคัญ ราคาเบี้ยประกันถูกส่งสัญญาณ “ต้อง” เพิ่มมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จากผลของราคาที่ถูกตัดลงไปแทบจะต่ำสุดแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราค่าสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว เพราะมีการปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครอง จึงทำให้บริษัทประกันภัยรถยนต์หลายแห่งขาดทุนกันระนาว

นายอานนท์ วังวสุ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย ประเมินภาพรวมตามคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่าน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา ทั้งภาคส่งออก ท่องเที่ยว ยอดขายและยอดผลิตรถยนต์ ราคาพืชผลการเกษตรที่คาดว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกำลังซื้อต่อกลุ่มฐานราก-ระดับกลาง

ขณะที่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น ต้องยอมรับว่าย่ำแย่ติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว จากผลของภาวะเศรษฐกิจและภาวะธุรกิจด้วยกันเองที่แข่งขันรุนแรง กระทั่งขาดทุน ดังนั้น คาดว่าปี 2561 น่าจะปรับฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ธุรกิจประกันภัยที่แข่งขันกันดุเดือด ทั้งลด แลก แจก แถม เห็นชัดเจนในหมวดเบี้ยประกันภัยรถยนต์และเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน โดยเบี้ยรถยนต์นอกจากหลายแห่งแข่งหนักแล้ว ลูกค้าส่วนหนึ่งยังปรับลดระดับการซื้อจากประเภท 1 ลงมาเป็นประเภท 2, 2+ และประเภท 3 ทำให้เบี้ยหายไปจากระบบ ขณะที่มีอัตราการจ่ายค่าสินไหมเพิ่มขึ้น จากผลของการที่ภาครัฐปรับปรุงวงเงินความคุ้มครองของเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมอัตราการเคลมสินไหมรถยนต์ทั้งระบบพุ่งเกินระดับ 65% ซึ่งทำให้ขาดทุน

ผลกระทบของเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินที่แข่งขันอย่างหนัก แทบไม่ต่างกับเบี้ยรถยนต์นั้น เพราะสถานการณ์ตลาดประกันภัยโลก เผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติใหญ่ๆในหลายพื้นที่ ควบคู่กับเหตุการณ์ก่อการร้ายในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก จึงเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหนักกว่าเดิม ซึ่งกระทบมายังธุรกิจประกันภัยทั่วโลก ทำให้แนวโน้มเบี้ยต้องถูกปรับเพิ่มขึ้นตามระดับความเสี่ยงและความเสียหาย

ขณะที่ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปีนั้น ในปี 2561 จะได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น ถ้ากำลังซื้อภาพรวมไม่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประกันสุขภาพที่จะได้แรงส่งเต็มที่จากปีก่อนหน้าที่ภาครัฐสนับสนุนให้นำเบี้ยประกันภัยไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15,000 บาท ซึ่งจะทำให้เบี้ยประกันในหมวดนี้เติบโตโดดเด่นมากขึ้น

ลุ้นเศรษฐกิจฟื้นเต็มที่

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินภาพรวมธุรกิจประกันภัยในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก จากสิ้นปี 2560 ที่คาดว่าจะโตที่ประมาณ 4-4.5% เพราะต้องยอมรับว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้แต่ละปีมาก แม้จะใกล้เคียงกับจีดีพีทางเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม

การคาดการณ์แนวโน้มจะโตถึง 2 หลักนั้น เพราะมองว่าช่วงที่ผ่านมาธุรกิจมีการ “อั้น” การโตมาตลอด ซึ่งปี 2561 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเด่นชัดมากขึ้น จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐ โครงการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว ถือว่ากำลังการผลิตหลายเซ็กเตอร์เดินเครื่องเต็มที่ ส่งผลดีต่อโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ

“ภาพรวมอานิสงส์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จะตกอยู่กับคนกลุ่มระดับกลาง-บน แต่ปี 2561 รัฐจะมุ่งเน้นช่วยคนกลุ่มฐานรากมากขึ้น จากการออกมาตรการต่างๆมาช่วยเหลือและสนับสนุน”

ที่สำคัญ ภาครัฐจะเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าและพืชผลทางการเกษตรในบางประเภท เช่น ยางพารา นอกเหนือจากเน้นเพิ่มด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณผลผลิต เพื่อไม่ให้ล้นตลาดเหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ตลาดประกันภัยโดยรวมต้องขับเคลื่อนไปตามทิศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การผลิต ฯลฯ หลายปัจจัยล้วนมีผลต่อการเติบโต เว้นแต่จะมีอุบัติภัย ภัยพิบัติใหญ่ๆที่คาดไม่ถึงเข้ามากระทบ แต่โดยรวมประเมินว่าปี 2561 จะเป็นปีที่ดีอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน

“ไม่ใช่เพราะถูกอั้นเอาไว้มานาน แต่โดยรวมจะเห็นได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังซื้อของประชาชนกำลังได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ไม่ได้ฉาบฉวย ขณะที่การแข่งขันถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจอยู่แล้ว ขึ้นกับว่าจะแข่งแบบไหน เพราะตลาดค่อนข้างเสรี แต่ก็ยังมีกฎเกณฑ์กำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่”

น.ส.เดือนเด่น ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเพิ่มว่าภาพรวมของการแข่งขันในธุรกิจ ยังคงไม่ต่างจากปีก่อนมากนัก โดยจัดเป็น Sofe Market หรือตลาดที่มีราคาเบี้ยประกันภัยไม่แพง ทั้งที่เกิดโดยสาเหตุของการแข่งตัดราคาเบี้ยประกันและอัตราความเสี่ยงภัยในธุรกิจซึ่งจะพบเห็นได้ในหมวดของเบี้ยประกันภัยรถยนต์และเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน

ปี 2561 มองว่าสภาพตลาดประกันภัยจะเหมือนปีก่อน แต่จะเห็นหลายบริษัทหันมาเน้นแข่งด้านลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะรายใหญ่แข่งกันมากเกินไปแล้ว แต่ตลาดลูกค้ารายย่อยในเซ็กเตอร์ที่เป็นประกันภัยรถยนต์ ก็ไม่ได้กำไร เพราะแข่งขันกันมากเกินพิกัด

อย่างไรก็ตามภาพรวมของการแข่งขันในธุรกิจ ยังคงเป็นวัฏจักรวนเวียนเหมือนที่เคยเป็นทุกช่วงธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจ นั่นคือ เมื่อแข่งเดือดจนมีผลขาดทุน ทำให้ต้องถอยออกจากตลาดไป จากนั้นจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแทน เป็นแบบนี้อยู่เสมอๆ ซึ่งปีนี้ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้ามาแข่งใหม่ จะเป็นบริษัทระดับไหนและมีเงินทุนหน้าตักมากน้อยเพียงพอในการทุ่มตลาดหรือไม่

ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยที่มีบริษัทจำนวนมาก จะยังเป็นภาพ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เหมือนเดิม เพราะปลาใหญ่ยังคงว่ายน้ำไปได้เรื่อยๆ แต่ปลาเล็กมีแต่จะรอวันถูกกลืนไปโดยสภาพธุรกิจและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและผันผวน

ประกันชีวิตลุ้นกำลังซื้อ

ธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2561 ต้องลุ้นกำลังซื้อที่ห่างหายชะลอตัวไปจากสารบบ ไม่ให้เหมือนปีก่อนที่ถือว่าเป็นอีกขวบปีสำหรับธุรกิจประกันชีวิตที่ทำผลงานโตต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ปี 2561 หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรแย่ไปกว่าเดิมที่เคยเป็นมา

เฉพาะช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 2560) ธุรกิจมีเบี้ยรับรวม 4.87 แสนล้านบาท เติบโต 6.28% ซึ่งแน่นอนว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปีแน่นอน แถมเป็นเป้าหมายที่ถูกประมาณการลงอีกต่างหาก จึงต้องรอการปิดตัวเลขทั้งปีว่าจะถูกดึงขึ้นไปสูงกว่านั้นได้อีกกี่หมื่นล้านบาท เพราะช่วง 2 เดือนสุดท้าย เป็นไฮซีซั่นของธุรกิจทุกปีอยู่แล้ว

แม้ท่าทีของ สมาคมประกันชีวิตไทย ที่มี นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ เป็นนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวโน้มคาดการณ์ธุรกิจประกันชีวิตโดยรวมในปี 2561 อย่างชัดเจนนัก แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องคาดว่าธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 ยังเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวเหมือนปีที่ผ่านมา หรืออย่างดีสุด น่าจะมากกว่าจีดีพีเศรษฐกิจประมาณ 2 เท่า ซึ่งจีดีพีประเทศไม่ได้เติบโตเกินกว่าระดับ 5% มาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว

ก่อนหน้านั้น นางนุสรา ระบุว่าธุรกิจประกันชีวิตไทยยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เห็นได้จากอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตของประชากรทั่วประเทศยังค่อนข้างต่ำที่ค่าเฉลี่ย 38% เท่านั้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนในยุคดิจิทัลที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในองค์รวม การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์และตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิต ทั้งในแง่ของการออมและการคุ้มครองที่เป็นหลักประกันแห่งอนาคต

ประกอบกับช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แม้ว่าจะมีช่องทางหลักๆที่ค่อนข้างโดดเด่นอยู่ 2 ด้าน คือ ตัวแทนและการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ (แบงก์แอสชัวรันส์) ก็ตาม ถือเป็นส่วนสนับสนุนให้ภาพรวมธุรกิจยังเดินหน้าได้ต่อไป ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมจะต้องเผชิญอุปสรรคมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังต่ำนั้น ภาคธุรกิจซึมซับมานานหลายปีแล้ว โดยมีการปรับตัวให้เข้ากับตลาดเงิน ตลาดทุนกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลทั้งด้านบวกและลบกันบ้างพอสมควร

ทว่า อย่างน้อยผลของอัตราดอกเบี้ยในระบบ ทำให้แนวโน้มกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีความชัดเจนมากขึ้น โดยบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งทยอยออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนออกมาให้เป็นทางเลือกของประชาชน นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เพื่อการออมและการคุ้มครองที่เป็นสินค้าเรือธงหลักๆของธุรกิจมานาน

ส่วนตลาดจะเปิดกว้างมากขึ้นด้วยกระแสการลงทุนทางเลือกเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อและทัศนคติของผู้บริโภคเอง บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี เพื่อตอบโจทย์และกำลังซื้อที่เหมาะสมของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้อง

100 views
bottom of page