กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.75-32.15 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.97 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาททำสถิติแตะระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 6.8 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 3.51 หมื่นล้านบาท
ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยเงินเยนได้ปัจจัยหนุนหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรญี่ปุ่น และมีแรงขายดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยรายงานการประชุมรอบล่าสุด โดยส่งสัญญาณว่าในเร็วๆ นี้ อีซีบีอาจจะปรับนโยบายเพื่อให้ตลาดการเงินเตรียมรับมือกับการยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า แม้เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนธันวาคมของสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าคาด ส่งผลให้สัญญาซื้อขายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมก็ตาม แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อเงินดอลลาร์ สิ่งนี้ตอกย้ำมุมมองของเราที่ว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนไหวต่อคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางหลายแห่งนอกสหรัฐฯ กำลังเริ่มพิจารณาปรับสมดุลนโยบาย ขณะที่เฟดเข้าใกล้ช่วงปลายของวัฎจักรคุมเข้มนโยบายแล้ว สถานการณ์เช่นนี้จะจำกัดการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ ส่วนช่วงท้ายสัปดาห์นี้ คาดว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงเพื่อเลื่อนเส้นตายการปรับเพิ่มเพดานหนี้ออกไปได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวตลาดยังกังวลต่อการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากมาตรการปฏิรูปภาษี สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะจับตาท่าทีของธปท. หลังค่าเงินบาททำสถิติแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางการระบุว่า ได้เข้าดูแลเงินบาทในบางช่วงที่แข็งค่าเร็วเกินไปและไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย อนึ่ง เราเห็นด้วยในประเด็นที่ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของไทยเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการแข็งค่าของเงินบาท และช่วงที่เงินบาทแข็งค่าอาจเป็นจังหวะในการนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ดี ผลกระทบและความท้าทายยังคงตกอยู่กับภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบต่ำ เช่น ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัว โดยนอกเหนือจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ผู้ส่งออกอาจพิจารณาการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อชำระค่าสินค้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์ที่ผันผวนสูงได้อีกทางหนึ่ง