top of page
image.png

ถอยไม่ต่ำกว่า 1,761 จุด = ไม่น่ากลัว


ก่อนอื่นต้องเรียนว่าการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลก และไทยในช่วงต้นปี 2561 นี้ ถือว่าเป็นไปตามที่เราได้วางแผนกันไว้จริงๆ และเหมาะสมกับการที่จะเป็นคลื่นลูกที่ 5 ของตลาดหุ้นโลก และไทยด้วย โดยตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือ Emerging Market พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีในสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2561 ด้วยแรงหนุนหลักๆจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน รวมทั้งความเชื่อมั่นบนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นถือว่าเป็นปัจจัยหนุนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ 2560 แล้ว ทั้งนี้การอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่มีหนี้สกุลดอลลาร์จำนวนมาก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยกลับมาทำสถิติปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในรอบ 24 ปี

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ “นายหมูบิน” ได้เรียนให้ทราบไปในครั้งที่แล้ว ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองกันว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นเอเชียจะปรับตัวขึ้นต่อไปในปีนี้ แม้ว่าในระยะสั้นอาจมีความกังวลเข้ามากดดันตลาดหุ้นโลก และเอเชียบ้าง จากการที่มีการมองกันว่าแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี อาจกระทบธนาคารยุโรปบางราย เนื่องจากบริษัทสหรัฐบางส่วนมีการฝากรายได้ในต่างประเทศไว้กับธนาคารในยุโรปประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ และการที่ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.7 ในเดือนธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน อย่างไรก็ตาม “นายหมูบิน” มองว่าจะกระทบ Sentiment ในระยะสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากการที่ดัชนี PMI ของสหรัฐที่ปรับตัวลงมายังคงอยู่เหนือระดับ 50 ได้ ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมในภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว และเศรษฐกิจสหรัฐยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่

รวมทั้งผลกระทบด้านบวกจากการที่ นายแพทริค ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย ออกมาระบุเป็นคนแรกของปี 2561 ว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่านายฮาร์เกอร์จะไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่มีสิทธิลงมติในปีนี้ แต่ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ธ.ค. 2560 เขาได้ลงมติเห็นชอบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ดังนั้นจึงสามารถสะท้อนมุมมองที่อ่อนลงของเฟดต่อการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไปได้บ้าง

ขณะที่ประเด็นงบประมาณของสหรัฐที่ค้างมาจากในช่วงปลายปีที่แล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่าสภาคองเกรสจะสามารถหาข้อสรุปกฎหมายงบประมาณได้ก่อนวันที่ 19 ม.ค. 2561 เพื่อหลีกเลี่ยงการ "ชัตดาวน์" ของหน่วยงานรัฐบาล

ดังนั้นในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของตลาดหุ้นไทย แม้ว่า SET ในระยะสั้นจะถอยตัวลงมาบ้างหลังจากขึ้นไปทดสอบบริเวณ 1,810 จุด...ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นระดับ Fib Node 1.618 ของกรอบการยืดตัวที่ผ่านมา แต่ตราบใดที่กรอบการย่อตัวจาก 1,810 จุด ในรอบนี้ SET ยังคงไม่ถอยตัวลงไปต่ำกว่าบริเวณ Fib Node .618 ที่ 1,761 จุด “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าการย่อตัวลงของ SET ในรอบนี้ จะเป็นเพียงแค่การพักตัวในระยะสั้น ก่อนกลับขึ้นไปแกว่งตัวเหนือ 1,810 จุดอีกครั้ง

ยังมีโอกาสไปต่อได้อีกพอสมควร : ทั้งนี้ในส่วนของเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2561 แม้ว่าจะมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่ากำไรของ SET ในปี 2561 จะขยายตัวราว 9% YoY ซึ่งถ้าเป็นตัวเลขดังกล่าวจริง “นายหมูบิน” มองว่าระดับที่มีความเหมาะสมของ SET จะอยู่ที่ 1,800 จุดเท่านั้น ซึ่งจะแสดงว่าระดับของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันไม่มี Potential Upside Gain แล้ว

อย่างไรก็ดีในส่วนตัวของ “นายหมูบิน” เองมองว่ากำไรของ SET ในปี 2561 น่าจะกลับมาขยายตัวที่ระดับ 20% YoY ได้ ซึ่งถ้าเป็นตัวเลข 20% “นายหมูบิน” มองว่าระดับที่มีความเหมาะสมของ SET จะอยู่ที่ 1,900 จุดในปี 2561

ดังนั้นตลาดหุ้นไทยในปี 2561 ยังคงมี Potential Upside Gain เหลืออยู่พอสมควร โดยที่ “นายหมูบิน” มองว่าปัจจัยหนุนจากทิศทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือ Developed Market ที่ยังคงอยู่ใน Momentum ที่ดีจะยังคงสนับสนุนตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นๆ ต่อไปได้ โดยเฉพาะสหรัฐหลังจากที่สถาบันนโยบายเศรษฐกิจในกรุงวอชิงตันระบุว่ารัฐต่างๆประมาณ 18 รัฐในสหรัฐจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 ซึ่งจะส่งผลดีต่อแรงงานกว่า 4.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยจะทำให้แรงงานเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ โดยที่ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางสหรัฐกำหนดไว้เมื่อปี 2552 อยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมง ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐเดือนล่าสุดทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี และตัวเลขรายได้ หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 2.5% YoY ในเดือน ธ.ค. 2560

ในส่วนของญี่ปุ่น การที่ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รายงานว่า ฐานเงินของญี่ปุ่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2560 เป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน โดยทำสถิติแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงิน ขณะที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นได้มีมติในการประชุมนโยบายเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 เพื่อเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายต่อไป โดย นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ให้คำมั่นในการเดินหน้าผ่อนคลายนโยบาย จนกว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวแตะ 2% ตามเป้าหมาย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหลักประกันให้กับตลาดหุ้นเอเชียว่าจะยังคงมีสภาพคล่องจากญี่ปุ่นหมุนเวียนอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะหลังจากที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แสดงความเชื่อมั่นขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังอยู่ในทิศทางการเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 20 ปีในท้ายที่สุด

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ไม่ถอยตัวลงไปปิดต่ำกว่า 1,761 (+/-5) จุดอีกครั้ง การถอยตัวลงระหว่างวันให้ใช้เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

47 views
bottom of page