top of page
369286.jpg

‘สงขลาโมเดล’ แรง! ธ.ก.ส. ชู 3 มาตรการล้างหนี้เถื่อน


ธ.ก.ส.ชูสงขลาโมเดล สู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรอย่างยั่งยืน นำธงด้วย 3 มาตรการหลัก แก้หนี้, สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงิน ยืนยันธ.ก.ส.และพนักงาน 20,000 คน พร้อมเคียงข้างเกษตรกรเพื่อก้าวข้ามกับดักความยากจน

นายมรกต พิธรัตน์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในสงขลาโมเดล ว่า สืบเนื่องมาจากข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนสวัสดิการภาครัฐ ซึ่งมีเกษตรกรมาลงทะเบียนประมาณ 3.9 ล้านราย และในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส.และไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส.มีหนี้สินที่เป็นหนี้นอกระบบประมาณ 1.4 ล้านราย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนหนึ่งของภาระหนักสำหรับเกษตรกร ดังนั้น ธ.ก.ส.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรในเรื่องของทุน จึงออกมาตรการ 3 มาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้มีรายได้มั่นคงผ่านระบบธ.ก.ส.

สำหรับมาตรการแรกคือ มาตรการหนี้มีเป้าหมายในการนำหนี้นอกระบบของเกษตรกรสู่หนี้ในระบบ

“ธ.ก.ส.จะมีเงินสินเชื่อเพื่อแก้หนี้นอกระบบให้กู้ถึง 20,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปีที่จะถ่ายโอนจากหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบ และยังมีสินเชื่อฉุกเฉินหากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือนสามารถเข้ามากู้ได้ โดยทางธ.ก.ส.มีวงเงินให้กู้กว่า 10,000 ล้านเป็นระยะเวลา 3 ปี นอกจากนั้น หากเป็นลูกค้าธ.ก.ส.ที่มีหนี้เป็นภาระหนักก็จะมีมาตรการพักหนี้ให้ 2 ปีอีกด้วย”

ต่อมาคือมาตรการที่สอง มาตรการที่เรียกว่ามาตรการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

“เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้น้อย จะทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ธ.ก.ส.จึงคิดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับมามีรายได้ในการที่จะดูแลตัวเอง เพื่อเป็นกำลังผลิตในสังคม โดยเป็นการทำงานร่วมกับหลายกระทรวงฯ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกระทรวงการคลัง เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยเกษตรกร 1.4 ล้านรายนี้จะทำงานภายใต้ที่เรียกว่าตลาดนำ หมายความว่า จะดูความต้องการของสินค้าเกษตรที่เป็นทั้งตลาดและพรีเมี่ยมในระดับต่างๆ แล้วจะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าไปในศูนย์ปฎิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลกับเกษตรกร 1.4 ล้านรายให้เห็นภาพว่าจะมีเมนูให้เลือกว่าต้องการผลิตอะไรหรือการแผนในเรื่องการผลิต...

นอกจากนี้จะมีการแบ่งกลุ่มลูกค้าเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A เป็นกลุ่มที่ยังสามารถที่จะก่อหนี้ได้ โดยนอกเหนือจากแผนการผลิตแล้ว ยังมีในเรื่องของการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้ตั้งวงเงิน 20,000 ล้านบาทสำหรับกลุ่มนี้ , กลุ่ม B จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีความสามารถที่จะก่อหนี้ได้ แต่ต้องการจะสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อรับจ้างการผลิตโดยจะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของราคา และถ้าหากเป็นเจ้าของที่ดินก็จะได้ค่าเช่า หากทำงานในที่ดินของตัวเองก็จะมีค่าแรงให้ แต่หลังจากที่กระบวนการกลุ่มจัดการจนมีกำไรก็จะถูกจัดสรรกลับมาที่เกษตรกร เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเสี่ยงในเรื่องของตลาดหรือการผลิต กลุ่มนี้เรียกว่าสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาผู้มีรายได้น้อย แต่มีข้อแม้ว่าเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันและทำตามระบบที่วางไว้ให้ สินเชื่อนี้จะใช้กระบวนการทำงานที่เรียกว่าพัฒนานำโดยนำกระบวนการสินเชื่อเข้าไปเสริมแรง ก็จะเป็นเรื่องของแผนการผลิตในระบบกลุ่ม ระดับชุมชน โดยจับคู่กับตลาดที่มีความชัดเจนจากประชารัฐที่มีความต้องการสินค้า เช่น จำนวนผักต่อเดือน จำนวนเห็ดต่อเดือน หรือต้องการสินค้าเกษตรหลัก เกษตรกรกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในการผลิตเข้าไปในระบบ โดยธ.ก.ส.ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 45,000 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปี และกลุ่ม C เป็นกลุ่มที่จะพักผ่อนที่อยากจะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีสินเชื่อสนับสนุนอาชีพเกษตรกรผสมผสานทฤษฎีใหม่ และบางกิจกรรมก็อาจจะเชื่อมโยงเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน อาจเป็นการเชื่อมเรื่องการดูแลป่า การดูแลชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ก็จะมีเรื่องผลตอบแทนให้...

“ถือว่าเป็นมาตรการที่จะเป็นแผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล อย่างกลุ่ม A อาจจะให้สินเชื่อเป็นรายบุคคลคือกู้ด้วยตัวเองและรับความเสี่ยงเอง กลุ่ม B ไม่ต้องรับความเสี่ยงแต่เป็นการรับค่าจ้างและค่าเช่าที่ กำไรจากกลุ่มที่เกิดขึ้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายก็จะมีการปันผลจากระบบคืนให้ และกลุ่ม C เป็นการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ในเรื่องการดำเนินการ ก็เป็น 3 มาตรการแนวทางในเรื่องการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้”

สุดท้ายคือมาตรการที่สาม เรียกว่า มาตรการเพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกรเข้าใจในเรื่องขององค์ความรู้ทางการเงิน

“มาตรการที่ 3 นี้เป็นเรื่องของการจดบันทึกกิจกรรมที่ได้ ทำอย่างเช่นบัญชีครัวเรือน เป็นเรื่องการส่งเสริมการออม โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นค่าใช้จ่ายมาพิจารณาว่าควรจะออมจำนวนเท่าไหร่ แล้วถึงจะนำเข้าไปสู่เรื่องของการฝากเข้ากองทุนทวีสุขหรือเข้าสู่มาตรการกองทุนเงินออมแห่งชาติของกระทรวงการคลัง...

ทั้งหมดนี้เป็น 3 มาตรการหลักที่ธ.ก.ส.ทำ ไม่ใช่เป็นแค่สินเชื่อ แต่เพื่อเป็นการให้สินเชื่อแล้วสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างแท้จริง จึงมีมาตรการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และเมื่อมีรายได้ก็จะส่งเสริมการออมให้เกิดขึ้นในระบบ เป็นนโยบายสงขลาโมเดลที่ ธ.ก.ส.รับเรื่องมาจากกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย จำนวนทั้งหมดที่มาขึ้นทะเบียน 3.9 ล้าน มีภาระหนี้สิน 1.4 ล้านคน โดยทั้งหมดมีกลไกหลักมาจากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งศูนย์นี้ทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับหมู่บ้านมาถึงโครงสร้างจังหวัด รวมถึงแผนพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จะมองขนาดถึงความต้องการทำงานร่วมกันกับประชารัฐมากขึ้น สำรวจความต้องการให้ผู้ที่อยู่ในระบบของห่วงโซ่สินค้าเกษตรสะท้อนออกมาว่าต้องการสินค้าเกษตรประเภทไหนอย่างไรที่เป็นทั้งตลาดและพรีเมี่ยม เพื่อนำไปสู่การจัดการระบบการผลิตเพื่อให้สอดคล้องความต้องการอย่างเป็นระบบ”

ทั้งนี้ นายมรกต ยังยืนยันด้วยว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบสงขลาโมเดลนี้เป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เคยมีมาทั้งหมด

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ขับเคลื่อนเรื่อง SME เกษตร ซึ่งมีข้อมูลจาก SME เกษตรประมาณกว่า 2,000 ราย และจากสหกรณ์ประมาณ 500 แห่งที่จะมาเป็นหัวขบวน รวมทั้งกำลังมีการสำรวจว่าเกษตรกรทั้ง 2,000 ราย รวมกับสหกรณ์ 500 แห่ง ต้องการผลผลิตเข้าสู่ระบบจำนวนเท่าไหร่ ธ.ก.ส.ก็จะให้หัวขบวนเหล่านี้ทำงานร่วมกับระบบการผลิตในระดับชุมชน จับคู่กันเพื่อให้ตอบโจทย์ความกังวลของพี่น้องเกษตรกรคือเรื่องตลาด และถ้าเกษตรกรยังขาดเงินทุนก็จะมีสินเชื่อผ่อนปรนจากหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ หากเป็นภาระหนักก็จะพักชำระหนี้ให้ และจะสร้างขีดความสามารถใหม่ในเรื่องดอกเบี้ยผ่อนปรนทั้งหมด ถ้าไม่มั่นใจเรื่องความเสี่ยงหรือตลาดก็จะมีเรื่องของการเข้าระบบกลุ่มให้สามารถรับจ้างผลิตและได้รายได้ที่ควร”

นอกจากนี้ นายมรกตยังกล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าการแก้หนี้นอกระบบในแบบสงขลาโมเดลจะไม่ทำให้เกษตรกรกลับมาเป็นหนี้นอกระบบแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“งวดนี้ทางรัฐบาลอยากเห็นการเสริมศักยภาพชุมชนคือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบบางส่วนจะให้กองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายโอนหนี้เหล่านี้เข้าไปสู่การบริหารจัดการ โดยมองว่าคนที่ใกล้ชิดปัญหาคือคนในชุมชน คนในหมู่บ้าน จะเห็นสภาพปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้ทันเวลา...

ในการแก้ไขหนี้นอกระบบครั้งนี้มีบางส่วนที่จะถ่ายโอนหนี้จำนวนไม่มากนัก เช่นหนี้ต่ำกว่า 50,000 บาท ถ่ายโอนไปให้กองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา...

ต้องบอกว่า ธ.ก.ส.มีความตั้งใจ และพนักงานกว่า 20,000 คนที่อยู่ในพื้นที่ก็พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จะมีการร่วมสื่อสารให้ข้อมูลเรื่องการตลาด และรับข้อมูลในสิ่งที่เกษตรกรต้องการในเรื่องการปรับเปลี่ยนการผลิตและเข้ามาสู่การวางแผนอย่างเป็นระบบ”

21 views
bottom of page