เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 กระโดดไกลเกินคาดไปที่ 4.3% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น หนุนส่งออก-ท่องเที่ยวไทย คาดไตรมาส 4 โตอีกไม่ต่ำกว่า 4% ส่งผลศูนย์วิจัย 2 แบงก์ ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นโตใกล้ 4% พร้อมประเมินปีหน้าโต 3.7-3.9%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 และคาดการณ์ในช่วงต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4.3% ต่อปี สูงกว่า consensus survey ที่ 3.8% ต่อปี โดยภาคต่างประเทศยังเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนยังคงประคองการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกยังคงส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 3/2560 ขยายตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงประคองภาพการฟื้นตัวไว้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มทยอยลดลงจากอานิสงส์การฟื้นตัวของภาคส่งออกที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะนำเข้าสินค้าทุนเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อทดแทนของเดิม
ขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนที่เติบโตดียังคงมาจากแรงหนุนของการใช้จ่ายในหมวดยานพาหนะเป็นหลัก โดย GDP ภาคเกษตรในไตรมาสที่ 3 ซึ่งแม้ว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จะขยายตัวได้ 9.9% แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ากลับหดตัวที่ -4.7% นอกจากนั้น ราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังปรับตัวลดลง เป็นแรงกดดันรายได้ภาคเกษตรอีกทอดหนึ่ง ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตที่ขยายตัวดียังไม่ได้ส่งผ่านผลบวกมายังตลาดแรงงานอย่างทั่วถึง โดยจำนวนการจ้างงานทั้งในภาพรวมและภาคการผลิตในเดือนกันยายน 2560 ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเป็นสัญญาณสะท้อนแรงกดดันการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนในระยะต่อไป
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2560 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนภาคต่างประเทศ และมาตรการภาครัฐ ส่งผลให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลัง 2560 น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.0% โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ตามปัจจัยของฐานที่สูงในไตรมาส 4/2559 สินค้าส่งออกหลักที่คาดว่าจะเติบโตดีต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 4/2560 ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่า จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าจากผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ น่าจะส่งผลให้การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสสุดท้ายอยู่ในระดับสูง
ด้านการใช้จ่ายครัวเรือนคาดว่าจะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่เน้นดูแลภาระการครองชีพของประชาชนทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม มาตรการช็อปช่วยชาติ จะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4/2560 ให้สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2560 ว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด ประกอบกับในไตรมาสที่ 4 น่าจะยังรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2560 น่าจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.0% และส่งผลให้ GDP ตลอดทั้งปี 2560 ขยับเข้าใกล้กรอบบนของการประมาณการในช่วง 3.5% ถึง 4.0%
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4.3% (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 1.0% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวได้ที่ 3.8%
GDP ที่ขยายตัวในไตรมาส 3/2560 มาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 3 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส ที่ 8.1% จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก ส่งผลให้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี เติบโตกว่า 5.3%
ทั้งนี้ การส่งออกเติบโตได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังขยายตัวในไตรมาส 3 สนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเติบโตสูงถึง 25% นอกจากนี้ ภาคการผลิตทั่วโลกที่เติบโตดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตได้กว่า 11% และ 4% ตามลำดับ
ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกแรงสนับสนุนให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกภาคบริการขยายตัวกว่า 4.9% จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาส 3 ที่เติบโตกว่า 11.0% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.1% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เริ่มมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย
ส่วนทางด้านการบริโภคภาคเอกชนเติบโตอย่างช้าๆ มีการพึ่งพาการใช้จ่ายผู้มีรายได้สูง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญยังมาจากการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่เติบโตสูงต่อเนื่องอยู่ที่ 11.6% ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม กลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน อาทิ เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มชะลอลง
สำหรับการส่งออกที่ฟื้นตัวปลุกการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐยังหดตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.9% จากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวได้ 4.3% เป็นหลัก ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกสินค้าที่เติบโต
ขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างหดตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐยังคงหดตัวที่ 2.6% โดยลดลงทั้งการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเนื่องจากไม่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มเติมและบางโครงการใกล้สิ้นสุด
EIC รายงานต่อไปว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 เป็นเติบโต 3.8% จากเดิมที่ 3.6% ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าให้เติบโตได้ต่อในช่วงที่เหลือของปี โดยเศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้ง สหรัฐ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2560 ตลอดจนปี 2561 ซึ่งจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน การบริโภค และส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยให้เติบโตได้ต่อ
อย่างไรก็ดี การเติบโตของภาคการส่งออกในระยะต่อไปอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่มีแนวโน้มหดตัว อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์
ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยลบที่คลี่คลายและการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แนวโน้มรายได้ยังติดขัด การบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว ตามบรรยากาศการใช้จ่ายที่สดใสขึ้นหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงอุทกภัย รวมถึงกิจกรรมการบริโภคต่างๆ ก็กลับมาดำเนินการได้หลังพ้นช่วงไว้อาลัย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านช่องทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและจากตลาดแรงงานที่ซบเซา เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในช่วง 9 เดือนแรกของปียังคงหดตัวลง 0.7% โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง 3.2% แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากนัก
ทั้งนี้ ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะโตต่อเนื่องไปในปี 2561 จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเติบโตได้ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเริ่มตามมาเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัว รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทขนาดใหญ่และของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนภาคเอกชนของไทยระยะต่อไป ขณะที่ในภาพรวม หลายปัจจัยในเศรษฐกิจมีแรงส่งที่ชัดเจนขึ้น ยกเว้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังคงอ่อนแอและยังไม่เห็นสัญญาณการเติบโตที่ชัดเจน โดยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2561 อยู่ในช่วง 3.7-3.9%