top of page
369286.jpg

ฟันธง! เศรษฐกิจไทยดีวันดีคืน..แม้สวนความรู้สึกคนไทย


ประธาน ส.อ.ท.แจง ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ที่คนไทยยังรู้สึกยากลำบากเพราะงบหลักคืองบภาครัฐยังกระจายไม่ทั่วถึง เร่งรัฐบาลตั้งโครงการเพื่อกระจายงบ เช่น งบซ่อมถนน งบโครงการบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ ส่วนการลงทุนภาคอุตฯติดขัดสองปัญหาหลักคือกฎหมายผังเมืองที่ไม่ทันสมัย และระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีขั้นตอนล่าช้า แต่มีข่าวดีคือรายงาน Doing Business ของเวิลด์แบงก์จัดอันดับไทยดีขึ้นในแง่ความง่ายและความสะดวกของต่างชาติที่จะมาลงทุนทำธุรกิจในไทย ส่วนกระแสข่าวปรับครม. ภาคเอกชนขอให้คนใหม่ที่เข้ามามีความรู้ถ่องแท้ มีความสามารถ ทำงานได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาเรียนรู้ เพราะตามโรดแมปมีเวลาทำงานอีกเพียงปีเดียว ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความเข้าใจภาคธุรกิจ เอกชน ไม่คอร์รัปชั่น เพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไปในประเทศไทยที่เริ่มดีขึ้น แต่สวนทางกับภาพรวมที่คนไทยยังลำบากอยู่ว่า อาจจะมีผลมาจากการติดขัดของกระจายรายได้หรืองบประมาณของรัฐบาลลงไปในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วการกระจายรายได้หรืองบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด และทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเซ็กเตอร์อื่น

“งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในตอนนี้ เท่าที่ดูก็มีหลายส่วนที่จะลงไปเหมือนกัน เช่น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พวกรถไฟฟ้า การขยายสนามบิน

คือถ้าเรามองเป็นโครงการพื้นฐานที่มันกระจายเล็กๆ รายย่อย มันน่าจะส่งผลได้มากกว่า เข้าถึงได้มากกว่า ยกตัวอย่าง การซ่อมทางหลังจากหน้าฝน ตรงนี้ก็ต้องรอฝนหมดก่อน หากไปซ่อมตอนนี้เดี๋ยวฝนตกลงมาอีก ทำให้เสียงบประมาณไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้น ตรงนี้อาจต้องรอเวลาฝนหมด จึงจะมีโครงการเข้าไป...

อีกส่วนหนึ่งที่เราคาดหวังไว้คือโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเราอยากจะเห็นเรื่องของการขุดบ่อ ขุดอ่างเก็บน้ำให้กระจายออกไป ตรงนี้สามารถทำได้โดยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่เหมือนก่อนหน้าที่มีปัญหาว่าจะไปขุดบ่อตรงไหน เพราะตัวชี้วัดมันไม่ชัดเจนว่าได้กี่พันหรือกี่หมื่นคิว บ่อกว้างเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้เราก็เสนอแนวคิดว่า ปัจจุบันนี้นอกจากจะมีภาพถ่ายทางอากาศแล้ว ยังมีดาวเทียมและยังมีโดรนอีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะลงรายละเอียด เราทำได้หมด ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องของการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือขุดบ่อ ทำเป็นแก้มลิงตามพระราชดำริก็ยังได้ ในสายน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคอีสาน ตรงนี้รัฐบาลน่าจะหยิบยกมาพิจารณา ไม่เช่นนั้นเราต้องแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยที่ทางภาคอีสานโดนเป็นประจำ พอน้ำมาเยอะๆ ไม่มีที่จะเก็บเพราะไม่รู้ว่าจะเก็บตรงไหน ขณะเดียวกัน พอพ้นหน้าฝนไปไม่กี่เดือน น้ำก็แล้งอีกแล้ว คือเกิดขึ้นซ้ำซาก และคิดว่าน่าจะมีทางแก้ไขได้แล้ว เรื่องอย่างนี้ถ้าเรามีตัวชี้วัด มีแผนที่ชัดเจน โครงการเหล่านี้สามารถกระจายรายได้สู่ชนบทหรือท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วมาก ก็อยากเสนอว่าควรจะมีโครงการลักษณะนี้ลงไป ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้หลายเรื่องทีเดียว คือแก้เรื่องเพาะปลูก น้ำท่วม เรื่องทำนาปรัง เรื่องสัตว์น้ำและการประมงน้ำจืด ตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น”

นอกจากนั้น นายเจนยังกล่าวถึงอุปสรรคของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมด้วยว่า มีปัญหาค่อนข้างมากในเรื่องของผังเมืองและพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งในเรื่องของผังเมืองตอนนี้ประกาศทุกจังหวัดแล้ว โดยข้อมูลที่จัดเก็บในการทำผังเมือง เป็นข้อมูลเก่า ดังนั้น จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน

“ยกตัวอย่าง เร็วๆ นี้ รัฐบาลออกคำสั่งมาตรา 44 ยกเลิกผังเมืองของโครงการอีอีซี เพราะว่าตอนที่ทำผังเมืองนั้น ข้อมูลโครงการอีอีซียังไม่เกิด และพอเกิดมาแล้วก็ต้องทบทวน ซึ่งถ้าผังเมืองเดิมยังอยู่ก็ทบทวนลำบาก คือจะไปสร้างรางรถไฟ สร้างสถานี สร้างเมืองอัจฉริยะแถวอู่ตะเภา คือสร้างไม่ได้หมด ไม่อย่างนั้นก็ต้องเอากฎหมายอีอีซีออกมาซึ่งก็ยังคงอีกหลายเดือน จึงเข้าใจว่ารัฐบาลอยากเร่งกระบวนการนี้จึงได้ออกมาตรา 44 ให้ยกเลิกผังเมืองในส่วนนั้นออกไป จะได้จัดทำผังเมืองใหม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีผังเมือง คือมีผังเมืองแต่ต้องเป็นข้อมูลใหม่ ตรงนี้ก็จะสอดคล้องกับแนวทางที่เราอยากเร่งรัด จริงๆ ที่อื่นก็เหมือนกัน จังหวัดอื่นก็ติดปัญหาผังเมืองพอสมควร ดังนั้น ตรงนี้ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องทำกระบวนการในการแก้ไขผังเมืองให้มันรวดเร็ว คือต้องเข้มงวด รวดเร็ว และมีความโปร่งใส...

อีกเรื่องคือพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เท่าที่ฟังดูมันเป็นอุปสรรคค่อนข้างมาก การจะใช้เงินใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ควรจะมีการเข้าไปดูบ้าง คือที่ผ่านมาจะมีหลายหน่วยงาน พอทำจัดซื้อจัดจ้างไปก็จะโดนคือมีคนตั้งคำถาม มีการตั้งสอบสวนทันที ตรงนี้ก็จะทำให้ภาครัฐเองไม่กล้าที่จะขยับตัวใช้เงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ คือยังเป็นอุปสรรคอยู่ ซึ่งถ้าแก้ไขก็จะทำให้การลงทุนและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปถึงรากหญ้าได้เร็วขึ้น”

ส่วนการจัดอันดับ Doing Business 2017 ของธนาคารโลกที่อันดับของไทยดีขึ้น สะท้อนว่าการลงทุนและทำธุรกิจของต่างชาติในไทยสะดวกและง่ายขึ้นนั้น นายเจนกล่าวว่า อันดับที่ดีขึ้นมาจาก 2 ส่วน คือส่วนแรกมาจากการแก้ไขกฎระเบียบที่มีปัญหา เช่นขั้นตอนการดำเนินการ การขออนุญาต ซึ่งล่าช้า จึงมีการออกมาตรการแก้ไขออกกฎระเบียบใหม่ และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ทำให้มีการแก้ไขในส่วนนั้นไปได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นทางกระทรวงพาณิชย์เรื่องการจดทะเบียนบริษัทต่างๆ ด้านกระทรวงแรงงานที่เดิมมีขั้นตอนข้ามกระทรวงอยู่ และตอนนี้หลายๆ กระทรวงก็มาร่วมกันปรับปรุงแก้ไขตัวนี้ ก็ทำให้ดีขึ้นมาก”

ส่วนเรื่องที่สองที่ได้แก้ปัญหาไปคือเรื่องการเก็บข้อมูล และการให้ข้อมูลแก่นักลงทุน นักธุรกิจต่างชาติ

“ของเดิมเข้าใจว่า ตอนที่เขาไปถามข้อมูล ทางเจ้าของข้อมูลเอง ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ หรือคนที่เห็นภาพรวมอาจไม่ได้ไปตอบเอง จะให้เจ้าหน้าที่ไปตอบ ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่ไปตอบโดยไม่รู้ผลกระทบของคำตอบที่ให้ไปคืออะไร เพราะฉะนั้นตอนนี้ภาครัฐลงไปดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และดูแลอย่างจริงจัง ทำให้การตอบคำถามมีเป้าหมายและมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ตรงนี้จะมีส่วนช่วยอย่างมากพอสมควรเหมือนกัน ก็ทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้คำตอบที่เราให้ไปมันสะท้อนข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ และทำให้เห็นภาพว่าเรามีการปรับปรุงจริงๆ และเป็นการปรับปรุงแบบก้าวกระโดด ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวมองว่าต้องให้เครดิตรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น คิดว่าข้อมูลตรงนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจ คนที่เล็งอยู่ว่าจะมาลงทุนตรงนี้ หรือจะไปมาเลเซียหรือเวียดนาม ก็จะทำให้เขามีความโน้มเอียงมาไทยมากขึ้น เพราะในความเป็นจริงเงื่อนไขของไทยมีความได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลเกชั่น อินฟราสตัคเจอร์ ที่ไทยมีอยู่ และขนาดของตลาดที่ถือเป็นตลาดใหญ่ ตรงนี้ก็น่าจะไปได้ดี”

นอกจากนี้ นายเจนยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลจะมีการปรับครม.ด้วยว่า ถ้ามองตามโรดแมป รัฐบาลจะมีเวลาทำงานอยู่อีก 1 ปี ซึ่งเป็นเวลาการทำงานค่อนข้างสั้น ดังนั้น ถ้ามีการปรับครม. คนใหม่ที่จะเข้ามาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานของกระทรวงที่ดูแลอย่างถ่องแท้ และมาถึงก็มาทำงานได้เลย ไม่ต้องมาเรียนรู้งานใหม่

“ที่สำคัญสิ่งที่เราอยากจะเห็นคนที่เข้ามาคือต้องมีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจของทางภาคเอกชนด้วย เพราะไม่เช่นนั้น เวลาออกมาตรการอะไรออกมาก็จะส่งผลกระทบกับธุรกิจ ก็จะมีปัญหาตามมา ตอนนี้พอเราดูตัวเลข ดูเศรษฐกิจว่ากำลังไปได้ดี ดังนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็หวังว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น มีการส่งเสริมการทำธุรกิจให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องเน้นเรื่องของความโปร่งใส ปราศจากคอรัปชั่น เรื่องของการดูแลความทันสมัยของการพัฒนาให้มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราอยากเห็นทิศทางไปทางนี้”

13 views
bottom of page