top of page
image.png

ราคาน้ำมันไม่น่ากลัว...‘สุรงค์’ แนะรัฐปลุกผีเศรษฐกิจ พึ่งธุรกิจ-ประชาสังคม


ฟันธง! ราคาน้ำมันยังมีเสถียรภาพไปอีกนาน ตามความต้องการของซาอุฯ-รัสเซีย ส่งผลกด “เงินเฟ้อ” ต่อ “สุรางค์ บูลกุล” เปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนเครื่องบินจัมโบ้ 4 เครื่องยนต์ ทำงานได้ดีแค่ 2 เครื่อง คือส่งออกกับการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนอีก 2 เครื่อง มีการลงทุนของต่างชาติกับภาคอสังหาฯไม่มีกำลังซื้อเพราะภาคครัวเรือน มีปัญหา ส่งผลให้เงินไม่สะพัด/ความรู้สึกประชาชนไม่ดี แนะรัฐต้องกระตุ้นภาคธุรกิจ/ประชาชนกับภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยรอบนี้

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ยังสถานการณ์ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับค่อนข้างปกติ ระดับราคาซื้อขายน้ำมันที่ดูไบอยู่ในระดับ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ยังไม่ได้มีการปรับราคา ที่สำคัญความต้องการน้ำมันและการผลิตน้ำมันยังอยู่ในระดับค่อนข้างสมดุลกัน แม้ว่าตอนนี้ความต้องการน้ำมันจะสูงเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่มีประเด็นอะไรมาก คาดว่าราคาน้ำมันคงมีแนวโน้มค่อนข้างปกติ

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความเคลื่อนไหวดังกล่าวมา น่าจะมาจากเรื่องของภายในสหรัฐอเมริกาหรือทวีปอเมริกา ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับซาอุดิอาระเบีย โดยด้านสหรัฐอเมริกามีเรื่องผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วได้ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันหายไปประมาณ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 20% ของการผลิตน้ำมันสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องนำเอาน้ำมันสำรองมาใช้ครั้งแรกในรอบ 5 ปี และทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน เนื่องจากในตอนนี้เป็นช่วงฤดูกาลของน้ำมันเบนซินสูงขึ้นเป็นปกติ

“เรื่องอุปสงค์เกิดจากพายุที่ทำให้เกิดซัพพลายแถวเท็กซัสหรือหลุยส์เซียน่า ความเสียหายของพายุยังส่งผลที่แคริเบียนจำนวนมาก ถ้าเราดูแล้วว่าปัจจัยเรื่องฤดูกาลและปัจจัยกำลังการผลิตก็มีผล ส่วนสำคัญ คือ เวเนซุเอลา มีน้ำมันสำรองมากเนื่องจากการใช้ประชานิยมทำให้เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้เพราะเงินกำลังหมดคลัง ประกอบกับตอนนี้ท่าทีที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา ทำให้มีแนวโน้มว่าห้ามไม่ให้น้ำมันเวเนซุเอลาเข้ามาในประเทศ เวเนซุเอลาจึงต้องขายน้ำมันไปที่อื่นก็เป็นปัญหามาก เพราะน้ำมันของเวเนซุเอลาเป็นน้ำมันหนักที่ใช้กันไม่มาก มีเพียงเฉพาะจีนกับอินเดีย ปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นในช่วงสั้น” นายสุรงค์กล่าว

“ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากในตอนนี้ คือ โรงกลั่น ค่าการกลั่นเฉลี่ยสูงขึ้นมาก จะเห็นได้ชัดว่าหุ้นหลายตัวอย่างหุ้นไทยออยล์ขึ้นไปแตะ 90 บาท นับเป็นส่วนสำคัญเพราะตอนนี้กำลังการผลิตของโลกไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ความต้องการน้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันจากปัจจัยของสหรัฐอเมริกาส่งผลทำให้ราคาปรับขึ้นตามฤดูกาล อีกส่วนที่ต้องจับตามอง คือ การที่กษัตริย์ซาอุดิอาระเบียไปเยือนรัสเซีย เพื่อหาแนวทางร่วมกันเพราะทั้ง 2 ประเทศผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกประมาณ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถ้าทั้ง 2 ประเทศตกลงกันได้เรื่องการควบคุมการผลิตและราคาน้ำมันยังคงเสถียร"

นายสุรงค์อ่านนโยบายของซาอุดิอาระเบียว่าต้องการให้ราคาน้ำมันนิ่ง การรักษาระดับการผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันให้เกิดความเสถียรภาพในโลก นับเป็นประเด็นที่ทั้ง 2 ประเทศคือซาอุดิฯ-รัสเซีย มีข้อตกลงคล้ายกัน ส่วนหลังจากเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป น่าจะมีเรื่องที่น่ายินดีเพราะราคาน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มต่ำลงตามฤดูกาล และกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวที่มีเรื่องของน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเข้ามาแทน ทำให้เรื่องของราคาน้ำมันไม่น่าเป็นที่วิตกกังวลเพราะน้ำมันทำให้ค่าเงินเฟ้อต่ำลง และยังเห็นได้ชัดว่าตัวที่กดเงินเฟ้อลงคือ น้ำมัน ส่วนพลังงานทดแทน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ก็ยังไม่มีความสมบูรณ์ที่จะเข้ามทดแทนน้ำมันได้ ทำให้น้ำมันของโลกยังเป็นที่สบายใจยังไม่ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจโลก

“เศรษฐกิจโลกในวันนี้ต้องบอกว่าให้ความรู้สึกฟื้นตัว ปัจจุบันค่าเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.5% โดยแนวโน้มจึงเห็นได้ว่าธุรกิจหลักใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาดีขึ้น จีนดีขึ้นถึงแม้จะมีข่าวเกาหลีเหนือมากวนใจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษบกิจทรุดตัวลง” นายสุรงค์กล่าวและว่าเศรษฐกิจไทยน่าจับตามองเพราะว่าตัวเลขขัดแย้งกับความรู้สึก คงเข้าใจว่าการประกาศของตัวเลขออกมาดีแต่ให้ความรู้สึกว่าเงินไม่ค่อยอยู่ในกระเป๋า ทำให้พอสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนเครื่องบินจัมโบ้ที่มี 4 เครื่องยนต์ โดยเครื่องยนต์หลัก 2 เครื่องยนต์ยังทำงานได้ดี แต่อีก 2 เครื่องยนต์ทำงานยังไม่ดี โดยเครื่องยนต์ที่ทำได้ดีมาก คือ เรื่องการส่งออกที่โตถึง 7% จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยที่โตถึง 37% ที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้มาจากการส่งออกที่เติบโต เพราะการเติบโตของจีนและสหรัฐอเมริกาจะเห็นนัยยะสำคัญทำให้การส่งออกของไทยนับว่าเป็นตัวชูโรง แต่ก็ยังไม่เป็นตัวสะท้อนต่อความรู้สึกของประชาชน สำหรับเครื่องยนต์ดีตัวที่ 2 คือ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล มีผลทำให้การกระจายของตัวเงินออกไปตามฤดูกาล ไม่ใช่กระจุกตัวใน Q4 ในอดีตที่ผ่านมาการเร่งจ่ายเงินจะไปกระจุกตัวในไตรมาสสุดท้าย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่าตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งการจ่ายเงินตามทุกไตรมาส นับว่าเป็นอีกตัวที่ยังค่อนข้างดีอยู่

“ขณะที่อีก 2 เครื่องยนต์ที่ยังไม่ค่อยดี คือ ต่างชาติเข้ามาลงทุน เห็นได้ชัดว่าตัวเลขยังไม่กระตุ้นเพราะไทยยังไม่มีตัวดึงดูด ดังนั้นเรื่องนโยบายสำคัญมากที่รัฐบาลต้องผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยระลอกที่ 2 หลังจากที่ไทยมีมาบตาพุดแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมามีนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 300 คนเข้ามาในไทย ความเป็นไปได้ในการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีทั้งท่าเรือ รถไฟ อุตสาหกรรมยุค 4.0 นับเป็นความหวังของเครื่องยนต์เครื่องนี้ที่จะทำให้ขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น อีกตัวที่ยังไม่ดีมาก คือ เรื่องการก่อสร้างติดลบ จะเห็นว่าภาคอสังหหาริมทรัพย์ไม่ดีเพราะไม่มีกำลังการซื้อ ส่วนเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายที่มีปัญหาหนักที่สุด คือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในวันนี้ออกมาโต 15% สำหรับภาคการเกษตร ข้าว ยางพารา มัน อ้อย มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ว่าเงินยังไม่ไปถึงมือประชาชน ตัวเลขนี้ทำให้รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น แต่รายได้จากสินค้าเกษตรก็จะเป็นไปตามราคาตลาดโลก ปีนี้เรื่องสภาพน้ำฝนดีซึ่งไม่ใช่ดีเฉพาะไทย จะเห็นได้ว่าเวียดนามก็ดีเช่นกันโดยเฉพาะราคาข้าวมีแนวโน้มกำลังการผลิตเพิ่ม ทำให้เมื่อดูจากเศรษฐกิจที่ดีแล้วแต่ก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ส่งออกได้ผลประโยชน์โดยตรง แต่เงินก็ยังไม่ถึงมือภาคการเกษตรหรือประชาชน ส่งผลถึงความรู้สึกว่าเงินไม่สะพัดอย่างที่คิด คาดว่าต้องหวังให้แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้เงินกระจายลงไป ที่สำคัญต้องทำอย่างไรให้ SME หรือระดับรากหญ้าได้ประโยชน์ คงต้องพิจารณาในมิติของประชาสังคมให้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ใช่เฉพาะแค่เศรษฐกิจ”

นายสุรงค์กล่าวว่าเราพึ่งต่างประเทศค่อนข้างมาก ความรู้สึกว่าหุ้นดี เกิน 1,700 จุด อีกตัวคือเรื่องเงินไหลเข้าเพราะเศรษฐกิจไทยดี เงินสำรองไทยอยู่ในระดับ 12 ของโลกถือว่ามีเงินสำรองมาก อีกมิติที่ต้องมอง คือ ไทยไม่ค่อยลงทุน กำลังติดตรงที่ทำอย่างไรให้ 4.0 เห็น ทุกคนเห็นด้วยไทยมีความพร้อมแต่จุดอ่อนยังมีอยู่อย่างเรื่องความรู้หรือภาษา ไทยได้เปรียบเรื่องจุดยุทธศาสตร์หรือโลจิสติกส์ ทำให้บทบาทของบริบทที่จะทำให้การลงทุนในรอบนี้ประสบความสำเร็จต้องเอาภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเติบโตในรอบนี้

“กำลังการผลิตในภาคธุรกิจต่างๆ คงไม่ถึงกับผลิตได้เต็มที่ ทำให้ต้องการคลื่นลูกใหม่ โดยคลื่นที่ต้องการ คือ 4.0 หรืออย่างเรื่อง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นตัวขับเคลื่อนแต่วันนี้ยังเป็นแผน จะทำอย่างไรให้แผนและกลยุทธ์เดินไปด้วยกันได้ จุดอ่อนของไทยที่เห็น คือ การเชื่อมโยงของระบบราชการที่ยังไม่เชื่อมกัน เพราะว่าระบบราชการแต่ละกรมหรือกระทรวงมีมุมมองแบบลึกเพราะทุกคนมีกฎระเบียบ แต่การจะทำให้กฎระเบียบเชื่อมโยงกันจะเป็นจุดสำคัญต่อไทยแลนด์ 4.0”

 
bottom of page