top of page
image.png

เงินนอกท่วม แต่ลดดอกเบี้ยไม่ได้


ค่าเงินบาทแข็งวันแข็งคืน แข็งต่อเนื่อง จนกูรูการเงินแนะให้ลดดอกเบี้ยสกัดฟันด์โฟลว์ที่เข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยกับดอกเบี้ยเฟด แต่ กนง.ไปไม่เป็น ลดไม่ลง ได้แต่คงที่ไปพลางๆ จนเวิลด์แบงก์ชี้ว่าเป็นอย่างนี้ไปจนปี 2019

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกพากันบ่น ค่าบาทแข็งทำให้การแข่งขันแย่

ตัวอย่างล่าสุด การประมูลข้าวจีทูจีจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เวียดนามคว้าเอาไปกิน ทั้งๆที่ไทยเคยเป็นเจ้าประจำลูกค้ารายนี้มาตลอด

เหตุเพราะปีที่แล้วค่าเงินบาท 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีนี้ 33 บาท/ดอลลาร์

สมมติว่าข้าว 300,000 ตัน เป็นข้าวหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท 300,000 ตัน ซื้อเป็นเงินไทย 3,600 ล้านบาท ซื้อเป็นเงินดอลลาร์ประมาณ 109.09 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปีที่แล้วใช้ดอลลาร์แค่ 100 ล้านดอลลาร์ ก็ประมูลได้ไปแล้ว

ราคาปีนี้แพงกว่าปีที่แล้ว 9.09 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ข้าวไทยคิดเป็นเงินบาทไม่ได้แพงไปกว่าปีที่แล้ว

ส่วนเวียดนาม ราคาข้าวก็ไม่ได้ถูกไปกว่าไทย หากแต่เมื่อขายกันเป็นดอลลาร์แล้ว ราคาถูกกว่า และเมื่อแลกกลับเป็นเงินด่องแล้ว ได้มากกว่าปีที่แล้ว

เพราะแบงก์ชาติของเวียดนามไม่สนใจต่อเสถียรภาพเงินด่องมากนัก ยามใดที่เห็นว่าแข็งเกินไป จนกระทบการค้ากระทบการลงทุน เขาก็จะลดทันที

ลดค่าด่องกันหัวปีท้ายปี บางปีมีแถมกลางปีอีกครั้งด้วยซ้ำ

สินค้าส่งออกของเราทุกวันนี้พึ่งพาหมวดสินค้าเกษตรน้อยลง การสูญเสียตลาดข้าวจึงไม่ค่อยกระทบต่ออัตราเติบโตของจีดีพีมากนัก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำให้ค่าบาทอ่อนเพื่อส่งออกสินค้าเพียงหมวดเดียวหรือ 2-3 หมวดเท่านั้น

หากแต่สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเทคโนโลยี ปิโตรเลียม ที่นับวันแต่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็ยังต้องมีค่าบาทเป็นปัจจัยอยู่

ตราบใดที่รัฐบาลทรัมป์ใช้นโยบายค่าดอลลาร์อ่อนตามนโยบาย Made in America เพื่อผลักดันสินค้าทำในอเมริกาออกสู่ตลาดโลก นำสหรัฐกลับสู่ความมั่งคั่งอีกครั้ง ตราบนั้นค่าบาทและค่าเงินประเทศคู่ค้าสหรัฐก็ย่อมจะแข็งเป็นปฏิภาคกับดอลลาร์สหรัฐเป็นธรรมดา

แม้ว่าการประชุมเฟด 3 ครั้งสุดท้ายปีนี้ (19-20 ก.ย., 31 ต.ค.-1 พ.ย. และ 12-13 ธ.ค.) คาดกันว่า จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดส่งท้าย ดร.เจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด หมดวาระในเดือนมกราคม ดอลลาร์จะแข็งขึ้นมาบ้าง

อาจจะเป็นการดีสำหรับบาท ที่เงินทุน fund flow จะเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลง

แต่ก็คงจะไม่มากนัก ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเฟดกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังห่างกันอยู่ 0.25% โดยดอกเบี้ยเฟดล่าสุด 1.250% ส่วนของไทย 1.50% คงที่มาเป็นเดือนที่ 18 แล้ว

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ ช่วงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย QE ผ่อนคลายเชิงปริมาณนั้น ดอกเบี้ยเฟด 0%

เมื่อยกเลิก QE อัตราดอกเบี้ยค่อยๆ เขยิบทีละ 0.25% จนถึง 0.50% เมื่อธันวาคม 2015 และตรึงมาจนถึงธันวาคม 2016 จึงขึ้นเป็น 0.75% เมื่อ 14 ธันวาคม 2016

ปี 2017 ขึ้นมาเป็น 1.0% เมื่อเดือนมีนาคม และ 1.25% เมื่อมิถุนายน จนล่าสุด 1.25%

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Rate) จะยังคงไว้ที่ 1-1.25% ตามเดิมด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวได้ไม่ดีตามเป้าหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟดเองยังคงถือบอนด์และตราสารหนี้ไว้ถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ อันเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องเพื่อเพิ่มสภาพคล่องมาตั้งแต่ช่วงใช้มาตรการ QE

ขณะนี้จำเป็นต้องลดขนาดลงด้วยการขายออก การขึ้นอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ จะทำให้เป็นภาระแก่ผู้ซื้อ

จึงต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเฟดไปอีกครั้ง จนกว่าจะถึงเดือนธันวาคมศกนี้ ที่กูรูการเงินคาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งท้ายปีอีก 0.25%

สำหรับดอกเบี้ยไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% มา 18 เดือนแล้ว นับแต่ลดจาก 2% เป็น 1.50% ในการประชุมเมื่อ 29 เมษายน 2558

ประชุม กนง.ครั้งต่อไป คาดว่าจะยังคงอัตรา 1.50% ต่อ ด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่าขึ้นไม่ได้เพราะสภาพเศรษฐกิจยังทรงๆ ต้องการอัตราดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นอยู่ และยังห่วงบรรดาเอสเอ็มอีที่ยังต้องผ่อนชำระหนี้กันอยู่มาก

รวมถึงหนี้ครัวเรือน ที่เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจตัวสำคัญ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกลายเป็นการเพิ่มภาระแก่ครัวเรือนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงรัฐบาลต้องกู้เงินมาโปะงบประมาณติดลบที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสอีกโสดหนึ่ง

ส่วนที่ลดดอกเบี้ยไม่ได้ ก็ด้วยเหตุผลว่าสภาพคล่องในตลาดยังสูง ภาวะเงินเฟ้อแม้ยังอยู่ในกรอบแต่ก็เขยิบขึ้นมาอย่างน่าจับตา โดยเฉพาะระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเกษตรกรรมสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่แม้ยังต่ำ ทว่าก็ยังอยู่ในเป้าหมาย 2-3% จากกรอบ 1-4%

เวิลด์แบงก์ประเมินอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้เฉลี่ย 1.6%

ในภาวะที่เงินทุนนอกไหลเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเช่นนี้ ค่าเงินบาทแข็งสวนทางกับดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งธงไว้ให้อ่อนลง ตามนโยบาย Made in America สินค้าผลิตในอเมริกาจะขายดีด้วยเหตุค่าดอลลาร์อ่อน

การที่อัตราดอกเบี้ยไทยยังสูงกว่าดอกเบี้ยในภูมิภาคและต่อดอกเบี้ยเฟดเช่นนี้ เงินทุนเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจึง flow in เข้าไทยเป็นน้ำบ่า ยิ่งเก็งว่าจะคงอัตรานี้ไปจนตลอดปี ก็ยิ่งแห่กันเข้ามาลงทุนบอนด์อายุยาว

ดอลลาร์เข้ามาหนุนค่าบาทแข็งและยาวนาน จนผู้ส่งออกไทยร้องระงม

ถ้าจะรอให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้ดอกเบี้ยไทยเท่าหรือต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟด ก็คงต้องรอไปปีหน้า

ปี 2018 เฟดตั้งเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.00% และปี 2019 เป้าหมาย 3% โดยเป็นการคาดการณ์ดักหน้าไว้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้น

เราก็คงจะฟื้นตาม ส่วนจะขึ้นมาก หรือน้อย หรือลดลง...ขึ้นอยู่กับว่า ทิศทางการเมืองไทยจะไปทางไหน

ปีหน้ารัฐบาล คสช.บอกว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวถึง 4.00% แต่ธนาคารโลกประเมินแล้วจะอยู่ที่ 3.5%ไปจนถึงปี 2019....หากยังมีรัฐบาล คสช.อยู่

29 views
bottom of page