รัฐตรวจเข้มผู้รับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 11.4 ล้านคน มีคุณสมบัติสมควรได้รับการดูแลช่วยเหลือจริง 41,000 ล้านบาท งบปีแรก ยอมรับให้เยอะกว่านี้คงไม่ได้ เพราะมีคนต้องช่วยมากกว่า 11 ล้านคน ต้องใช้เงินเยอะมาก แต่มั่นใจความช่วยเหลือเบื้องต้น มีความเหมาะสมเพียงพอในระดับหนึ่ง ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพด้วยการอบรมให้ความรู้ เพื่อให้มีอาชีพมีรายได้จะได้ไม่กลับมาเป็นคนยากจนอีก
นางสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงที่ผ่านมา เท่าที่รับฟังเสียงตอบรับจากสำนักงานคลังจังหวัดหน่วยงานในสังกัดกรมบัญชีกลางถือว่ายังคึกคักดี แม้จำนวนผู้ที่มารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังมีจำนวนไม่มาก เทียบแล้วมีประมาณไม่ถึง 10% ของจำนวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มี
“การเดินทางมารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังคงใช้วิธีการเหมือนเดิมตอนที่ประชาชนมาลงทะเบียน หากตอนที่เดินทางมาลงทะเบียนที่หน่วยงานอะไร ธนาคารอะไร หรือมาลงที่สำนักงานคลังจังหวัด ตอนที่เดินทางมารับสามารถมารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนไว้ โดยจำนวนที่มารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังมีน้อย อาจเป็นเพราะกรมบัญชีกลางไม่มีข้อกำจัดช่วงเวลา ซึ่งทางกรมบัญชีกลางให้สิทธิ์มารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อไหร่ก็ได้” นางสุทธิรัตน์กล่าวและว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนแจกเงินเพราะทางกรมบัญชีกลางจะระบุวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจนว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ไปเพื่อใช้จ่ายหรือช่วยค่าครองชีพในเรื่องอะไรบ้าง และมีการกำหนดรายการไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้เรื่องการแจกเงินมีจริงแต่ไม่ได้กำหนดอะไรมาก ถือว่าเป็นบทเรียนโดยการแจกเงินแล้วไม่รู้หายไปไหน ตอบโจทย์หรือไม่ ในครั้งนี้ทำได้ดีขึ้นและมีเครื่องมือเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยให้สวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ส่วน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ที่มีการเลื่อนแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกไปนั้น นางสุทธิรัตน์เปิดเผยว่าเกิดจากกระบวนการผลิตมีขั้นตอนคาดไม่ถึงอยู่หลายขั้นตอน ต้องเข้าใจว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่แจกใน 7 จังหวัด เป็นบัตรที่ผลิตในขั้นตอนที่เพิ่มเติมจาก 70 จังหวัด เพราะว่าต้องใส่มาตรฐานแมงมุม คือ ตั๋วร่วมเข้าไปด้วย เนื่องจากว่าใน 7 จังหวัด มีเรื่องของการใช้บริการรถขสมก.และรถไฟฟ้า ซึ่งรถเมล์กับรถไฟฟ้าตามโครงการของสนข.สังกัดคมนาคมเป็นการให้บริการแบบตั๋วร่วม และทางสนข.ไม่เคยลงตั๋วร่วมกับชนิดไหนมาก่อน และได้มาทำร่วมกับบัตรของกรมบัญชีกลางเป็นครั้งแรก
อีกทั้งการทำร่วมกับจำนวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่เคยทำมาก่อนแล้วมาทำทีเดียว 1.3 ล้านใบ ทำให้เกิดบางขั้นตอนที่คาดไม่ถึงและทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิต เช่น บัตรแต่ละใบที่ออกมาถ้าผลิตออกมาจากโรงงานที่แจก 70 จังหวัด หากผลิตบัตรด้วยเครื่องภายใน 1 ชั่วโมงสามารถทำออกมาได้จำนวนมาก แต่เมื่อมาทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วต้องใส่ระบบตั๋วร่วมเข้าไป ทำให้ต้องนำมาทำทีละใบ ขั้นตอนการผลิตใช้เวลา รวมทั้งต้องควบคุมมาตรฐาน และเมื่อหน้างานเสร็จแล้วต้องส่งข้อมูลที่ใส่ในบัตรมาประมวลผลหลังบ้าน แล้วนำเอาข้อมูลประมวลผลหลังบ้านขึ้นไปบนระบบ เพื่อให้ข้อมูลที่ประมวลผลใส่กลับลงไปในบัตรอีกครั้ง ขั้นตอนเยอะทำให้ต้องคุมคุณภาพไม่อยากให้พลาดจึงต้องมีการตรวจละเอียด
รวมทั้งต้องนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปทดสอบกับระบบ E-Ticket ของขสมก. ที่ ขสมก.ได้ประมูล E-Ticket มาจากเกาหลี ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบครั้งแรกก็ไม่ผ่าน ต้องกลับมาปรับจูนกันกว่าจะลงตัว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องคาดไม่ถึงว่าจะยุ่งยากซับซ้อน ทำให้คาดการณ์ว่าการผลิตบัตร 1.3 ล้านใบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 10 ตุลาคม และเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการที่ประชาชนจะมารับบัตร จึงจัดทำแบบ 70 จังหวัด โดยการทยอยนำบัตรที่ผลิตเสร็จแล้วไปเก็บที่หน่วยรับลงทะเบียนก่อน แล้วประกาศให้ประชาชนมารับในวันที่ 17 ตุลาคม
“ก่อนหน้านี้ได้รีบประชาสัมพันธ์ออกไป แม้ว่าจะขยายเวลาค่อนข้างกระชั้นชิดวันที่ 21 แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากสื่อฯช่วยแพร่ข่าวสารอย่างรวดเร็วในวันนั้น อาจจะมีบางท่านหลงมาแต่ก็ได้ชี้แจงไป นอกจากนี้ การประกาศให้มารับในวันที่ 17 ตุลาคม ก็ได้มีการประกาศขอโทษประชาชนด้วยที่ตรวจสอบแล้วมีสิทธิ์มารับวันที่ 21 กันยายน และไม่สามารถทำให้ได้ แต่เรามีตัวชดเชยให้ว่าเมื่อมารับบัตรช้ากว่า 70 จังหวัด คือ บัตรเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม แต่ให้มารับในวัน 17 ตุลาคม โดย 17 วันที่หายไปก็จะชดเชยให้ เพราะกติกาในการใช้บัตรจะให้เป็นวงเงินตามประเภทรายการรถเมล์ รถไฟ บขส. สินค้าร้านธงฟ้า เราจะให้ใช้ทั้งเดือนจะใช้หมดหรือไม่หมดก็แล้วแต่ พอสิ้นเดือนก็จะตัดวงเงิน” นางสุทธิรัตน์กล่าว
และว่าเมื่อถึงวันที่ 1 ของทุกเดือนก็จะนำวงเงินนั้นขึ้นมาใหม่ ดังนั้นคนที่รับบัตรวันที่ 21 กันยายน จะใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม สามารถใช้ได้เต็มเดือน แต่ประชาชนคนไหนที่อยู่ในเขตจังหวัดที่ชะลอไว้เป็นวันที่ 17 ตุลาคม จะใช้ได้ไม่เต็มเดือน “ดังนั้น 1.3 ล้านใบใน 7 จังหวัด ในเดือนตุลาคมจะไม่ตัดยอดวงเงินให้ แม้ว่าจะใช้หมดหรือไม่หมด แต่จะยกยอดให้ไปใช้ในเดือนพฤศจิกายนอีก 1 เดือน ถ้าทำแบบนี้แล้วก็จะเสมอกันกับผู้รับบัตรในวันที่ 21 กันยายน แล้วเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม”
ส่วนผู้ที่มีคุณสมบัติจำนวน 11.4 ล้านคน จะมีผู้ที่มาขอแอบอ้างการใช้สิทธิ์หรือไม่ นางสุทธิรัตน์ เปิดเผยว่า ผู้ที่เสียชีวิตแล้วไม่มีทางได้รับสิทธิ์เพราะมีการตรวจกับกรมการปกครอง ก่อนที่จะมาผลิตบัตรได้มีการตรวจสอบแล้ว มีผู้ที่เสียชีวิตหลายหมื่นคนในระหว่างทำบัตรแต่ก็ถูกตัดออกหมดแล้ว อีกทั้งเรื่องคุณสมบัติได้มีแหล่งตรวจสอบคุณสมบัติหลายทาง อย่างรายได้ถูกตรวจสอบโดยกรมสรรพากร แต่ถ้าเป็นบัญชีเงินฝากหรือพันธบัตรจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็จะเป็นกรมที่ดิน และยังมีสำนักงานประกันสังคมที่ยังช่วยตรวจสำหรับวัยแรงงานที่มีรายได้แต่ยังจะมาลงทะเบียน รวมถึงยังมีฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลางของผู้รับราชการและผู้รับบำนาญซึ่งมีรายได้เกินแต่แอบอ้างมาลงทะเบียน โดยคนกลุ่มนี้ได้นำไปตรวจสอบหมดแล้วและได้ตัดทิ้งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่
สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีจำนวนถึง 2.7 ล้านคน ทางกรมบัญชีกลางยังให้สิทธิ์การอุทธรณ์ กล่าวคือตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ว่ายังจะได้สิทธิ์หรือไม่ ถ้าได้สิทธิ์ก็สามารถมารับบัตรได้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็สามารถตรวจสอบทางหน้าเว็ปไซด์หรือ Call Center ได้ เพราะจะมีข้อมูลบอกว่าไม่ได้รับสิทธิ์เนื่องจากเหตุผลอะไร ที่ไม่ผ่านอาจเกิดจากมีรายได้ มีบัญชีเงินฝาก หรือถือครองที่ดิน ทางกรมบัญชีกลางจะส่งข้อมูลอุทธรณ์ลงไปในเว็บไซต์ไปที่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่อง ประชาชนสามารถติดตามได้ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ต้องมาถึงกรุงเทพฯ สามารถตรวจสอบได้ที่กรมที่ดินจังหวัด ธนาคาร ประกันสังคมจังหวัด โดยทางกรมบัญชีกลางได้มีการคุยกันเรียบร้อยแล้วว่าถ้ามีประชาชนที่อุทธรณ์แล้วต้องการขอดูข้อมูลจริง สามารถไปดูข้อมูลจริงได้ตามหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัด แต่ถ้าหลักเกณฑ์ผ่านก็จะส่งข้อมูลมาที่กรมบัญชีกลางแล้วทางกรมบัญชีกลางจะทำการผลิตบัตรให้
คนที่บอกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประชาชนในต่างจังหวัด ต้องมาดูว่าโจทย์ของประชาชนมีเยอะมาก รวมถึงต้องกลับมาที่โจทย์ของรัฐบาลว่าให้ความช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้าง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นตัวเริ่มต้นที่อยากจะให้ คือ ช่วยในเรื่องการเดินทาง ช่วยในเรื่องซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต เพราะประชาชนต้องเดินทาง ไม่เดินทางก็ต้องกินต้องใช้ จึงต้องให้สวัสดิการใน 2 ส่วนนี้ก่อน การเดินทางถ้าอยู่ในกรุงเทพฯก็มีรถเมล์กับรถไฟฟ้า ถ้าไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯก็จะมีรถบขส.กับรถไฟ แบบนี้น่าจะเติมเต็มในชีวิตได้บ้าง แต่ถ้าไม่เดินทางกันจะไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ถ้าเป็นเกษตรกรก็จะซื้อปุ๋ยซึ่งก็มีวงเงินให้ 200-300 บาทขึ้นอยู่กับรายได้ของเกษตรกร นับว่าเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้น่าจะเหมาะสมเพียงพอในระดับหนึ่ง แต่จะให้เยอะคงไม่ได้เพราะมีคนตั้ง 11 ล้าน ถ้าให้มากก็ต้องใช้งบประมาณมากไม่อย่างนั้นคงต้องดูให้เหมาะสมกับแต่ละคนแต่ละเรื่อง” นางสุทธิรัตน์แจง
“พลเมืองไทยมีไม่ถึง 70 ล้านคน แต่มีคนมาขอความช่วยเหลือ 11 ล้านคน การจะช่วยเหลือแบบนี้คงเป็นขั้นที่ 1 เราคงไม่ทำแบบนี้อย่างเดียว เพราะคนพวกนี้เรารู้แล้วว่าเป็นใครอย่างไร เนื่องจากมีข้อมูลจากการลงทะเบียน ต้องนำคนพวกนี้มาเพิ่มศักยภาพให้ความรู้ อบรม เพื่อให้มีอาชีพหารายได้ เพื่อเข้าสู่การทำงานให้มีรายได้ พอมีรายได้ก็จะหลุดพ้นจากการช่วยเหลือ พอรายได้เกินแสนก็เอาออกเป็นบันไดขั้นที่ 2 ที่จะทำ ถ้าไม่มีก็ช่วยเหลือก่อน พอช่วยเหลือก็เริ่มดำเนินชีวิตอยู่ได้ เอาคนที่เหมาะสมขึ้นมาอีกระดับ คือ จัดการเรื่องเกี่ยวกับความสามารถในการหารายได้จากการประกอบอาชีพ แล้วจะไม่กลับมาที่ความยากจนอีก โครงการนี้เข้าครม.ทั้งหมดได้ใช้งบประมาณปีละ 41,000 ล้านบาท ส่วนสวัสดิการอื่นอย่างช่วยเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟไม่ได้ใส่อยู่ในบัตร เพราะรัฐบาลช่วยผ่อนกับการประปาและการไฟฟ้าอยู่แล้วสำหรับคนที่ใช้ไฟน้อย”