top of page
312345.jpg

ก่อนถึงยุคไม่ใช้เงินสด


สองสามวันมานี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวพายุเฮอริเคนหลายลูกถล่มรัฐเท็กซัสและฟลอริด้าของสหรัฐอเมริกา จะเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้คนอเมริกันหลายแสนคนต้องอพยพหนีภัย ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำดื่ม บ้านเรือนพังพินาศ ราบเรียบเป็นหน้ากลอง เดือดร้อนไม่แพ้คนไทยคราวที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อหลายปีที่แล้ว

มหาวาตภัยครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่ทรงพลานุภาพเหนือธรรมชาติ แม้แต่ชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก มีทรัพยากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็ยังไม่สามารถต่อกรกับพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรให้หยุดยั้งก่อนถึง หรือเบี่ยงเบนให้พัดออกนอกทาง คงทำได้เพียงเฝ้าดูและคาดคะเนทิศทางลมเพื่อเตรียมอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ที่คาดว่าจะอยู่บนทางผ่านของพายุเท่านั้น

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ หวังว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกพายุเฮอริเคนถล่มจะได้รับความช่วยเหลือให้ปลอดภัยและกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติ เพราะความเสียหายครั้งนี้คาดว่าเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลกำลังจัดงบประมาณเพื่อเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติต่อไป

พร้อมๆ กับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็มีข่าวว่าได้เกิดภัยพิบัติที่มนุษย์ยุค 5.0 ในสหรัฐอเมริกาสร้างขึ้น คือข่าวที่บริษัทข้อมูลเครดิตของผู้บริโภครายใหม่ 1 ใน 3 ของประเทศชื่อบริษัท Equifax ถูกเจาะระบบ ถูกขโมยข้อมูลของผู้ที่มีชื่ออยู่ในระบบกว่า 140 ล้านคนออกไป ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่บริษัทได้รับทางตรงจากบริษัทประกันภัย ธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ ที่ต้องการทราบคะแนนเครดิตของลูกค้าที่ทำธุรกรรมด้วย และทางอ้อม การที่ผู้บริโภคทำธุรกรรมกับร้านค้า ผ่านบัตรเครดิตหรือการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ข้อมูลของผู้บริโภคชาวอเมริกัน 140 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศนั้น มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะมีชื่อและนามสกุลของผู้ที่มีชื่อในระบบทุกรายแล้ว ยังมีหมายเลขประกันสังคม วันเกิด ที่อยู่ หมายเลขใบขับขี่ ซึ่งในอเมริกาใช้แทนบัตรประชาชนได้ หมายเลขบัตรเครดิตสามารถนำไปใช้เพื่อปลอมแปลงหลักฐาน เข้าถึงบัญชีหรือข้อมูลส่วนตัว ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากการที่ข้อมูลเหล่านี้ตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ

ที่น่ากลัวคือ ผู้ที่มีชื่ออยู่ในระบบของบริษัท Equifax เอง ส่วนมากไม่ทราบว่าตนเองมีชื่ออยู่ในระบบของบริษัทที่ถูกเจาะข้อมูลไปหรือไม่ เพราะข้อมูลที่ถูกนำเข้าระบบส่วนใหญ่ บริษัทได้รับจากธนาคาร บริษัทประกันภัย สถาบันการเงิน และร้านค้าต่างๆ ที่ตรวจสอบเครดิตของลูกค้าก่อนทำธุรกรรมด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ทราบว่าควรแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายไม่ให้ข้อมูลถูกนำไปใช้อย่างไร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัท Equifax นั้น น่าจะเป็นบทเรียนหรือตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันเป็นอย่างดี เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Equifax ต้องมีระบบไอทีที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะมีในยุคนี้ มิฉะนั้นคงไม่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากสถาบันการเงินและรัฐบาลให้ทำธุรกิจประมวลข้อมูลและจัดอันดับเครดิต (Credit Scoring) ของชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนอย่างแน่นอน แต่กระนั้นก็ไม่สามารถปกป้องข้อมูลในระบบจากบรรดาแฮกเกอร์ทั้งหลายได้ จึงดูเหมือนว่าระบบไอทีนั้นมีโอกาสที่จะถูกแฮกเกอร์ถูกเจาะได้เสมอ ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และความคุ้มค่าของการลงทุนของแฮกเกอร์ที่จะศึกษาวิเคราะห์และหาวิธีการเจาะระบบอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลของลูกค้าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างยาฮูก็ถูกเจาะขโมยข้อมูลไปกว่า 1,500 ล้านบัญชี บางบริษัทต้องยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้กับแฮกเกอร์หรือผู้เจาะข้อมูลสำเร็จเพื่อให้ยกเลิกการเจาะข้อมูล หรือเพื่อให้ปฏิบัติงานในระบบไอทีที่ถูกเจาะจนทำงานไม่ได้ต่อไปมาแล้ว แต่ละบริษัทไม่ใช่บริษัทขนาดเล็ก แต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีระบบไอทีที่กล่าวกันว่าทันสมัยและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดผ่านการตรวจสอบมาแล้วทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ผมเชื่อว่า ขอย้ำนะครับว่าเป็นความเชื่อส่วนตัวของผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านไอทีลึกซึ้งคนหนึ่ง ว่าระบบอะไรก็ตามที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถที่จะถูกล้วงถูกเจาะโดยมนุษย์ด้วยกันเสมอ ถ้าการล้วงการเจาะระบบได้ผลตอบแทนคุ้มกับการลงทุน บางทีการสร้างระบบใหญ่ๆ ระดับชาติอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะถูกเจาะข้อมูลได้มากกว่าระบบเล็กๆ หลายๆ ระบบ เพราะต้นทุนการเจาะข้อมูลคุ้มกับการลงทุน

เท็จจริงอย่างไร ยอมรับว่าผมไม่ทราบครับ เพราะเป็นคนโลว์เทค แค่ไอโฟนเครื่องเดียวยังไม่มีปัญญาใช้งานให้คุ้มกับที่ลงทุนซื้อมา ท่านผู้อ่านลองคิดดูเองก็แล้วกัน

ที่ผมเอาเรื่องการเจาะข้อมูลของ Equifax กับเรื่องมหาวาตภัยที่อเมริกามาพูดปนกัน เพราะวันหนึ่งนั่งติดตามข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่กำลังถ่ายทอดสดข่าวพายุเฮอริเคน แล้วมีตัววิ่งข่าวบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต Equifax ถูกเจาะขึ้นมาบนหน้าจอ แล้วผู้ประกาศข่าวก็เล่าว่า ผลจากภัยพิบัติ ทำให้ชาวอเมริกันหลายแสนคนไม่มีไฟฟ้าใช้ ผลคือไม่สามารถใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรอะไรต่อมิอะไรซื้อสินค้าที่จำเป็นได้ เขาบอกว่ายามนี้ Cash is King หรือเงินสดคือพระราชาทำให้นึกไปเรื่อยๆ ตามประสาคนโลว์เทคที่ผ่านโลกมามากว่า ถ้าวันหนึ่งระบบการค้าและชำระเงินที่ไม่มีเงินสดที่กำลังโด่งดังเวลานี้สามารถเข้ามาแทนที่ระบบเงินสดได้จริง 100% อย่างที่ว่ากันได้จริง ถ้าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้ธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบไม่ได้แค่วันสองวัน อะไรจะเกิดขึ้นกับระบบการค้าของโลก และการดำรงชีวิตของประชากรที่ไม่มีเงินสดอยู่ในมือเพื่อซื้อน้ำดื่มมาประทังชีวิตในช่วงที่เกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูระบบ

ที่น่ากลัวไม่แพ้ภัยธรรมชาติคือภัยจากมนุษย์ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าวันหนึ่งระบบการชำระเงินของมนุษย์ทั้งประเทศหรือทั้งโลกถูกเจาะเข้าถึงโดยนักแฮกเกอร์และมิจฉาชีพทั้งหลาย

ผู้ร้ายใส่หน้ากากสมัยก่อนปล้นธนาคารเป็นรายสาขา สมัยนี้ผู้ร้ายใส่สูทปล้นธนาคาร ทั้งธนาคาร ในอนาคตอาจมีใครไม่รู้ปล้นธนาคารพร้อมกันทันทีทั้งประเทศหรือทั้งโลกก็ได้ ใครจะไปรู้

เขียนบทความนี้ให้คิดกันเล่นๆ ครับ ไม่ได้เขียนให้กลัว ผมเองตอนนี้มีเงินสดอยู่ในกระเป๋าเงินแค่พันกว่าบาทเอง จะใช้เมื่อไรค่อยไปเบิกเอทีเอ็มเหมือนกันครับ

 

21 views
bottom of page