top of page
358556.jpg

งบใหม่ 2.9 ล้านล. - รัฐลุยเอง 6.5 แสนล้าน


งบประมาณรายจ่าย 2561 ผ่านฉลุย ไร้เสียงต้านแม้แต่เสียงเดียว ไฟเขียวรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท รายได้ 2.45 ล้านล้านบาท กู้เงินปิดหีบ 4.5 แสนล้าน เอาเงินไปลงทุนกว่า 6.5 แสนล้านบาท 22.8% ของงบรายจ่าย เน้น 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ หนึ่ง...เพิ่มศักยภาพการบริหาร/จัดการภาครัฐ สอง...เพิ่มศักยภาพคน สาม...สร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า วันที่30 กันยายน 2560 นี้ จะเป็นวันสุดท้ายของการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เนื่องจากได้เกษียณราชการ โดยส่วนตัวได้ทำงานมาเป็นระยะเวลา 38 ปี การทำงานที่ผ่านมา เหนื่อยจนชิน เพราะต้องการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในชีวิตการทำงาน ถือได้ว่าผ่านงบประมาณมาแล้ว 38 ฉบับ งบประมาณฉบับปัจจุบันในปี 2561 นั้น ได้ผ่านสภานิติบัญญัติไปเป็นที่เรียบร้อยด้วยมติ 200 ต่อ 0 และมีงดออกเสียง 3 เสียง เป็นอีกปีหนึ่งที่งบประมาณผ่านฉลุย ไม่ค่อยมีให้เห็นในลักษณะนี้บ่อยนัก

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติกับทางรัฐบาลมีความเข้าใจ และมีการอธิบายที่มีหลักการ

และเหตุผลในการทำงบประมาณรายจ่ายบัญชีเป็นไปอย่างชัดเจนตรงไปตรงมามีเหตุผล เพราะเมื่อการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติได้อย่างชัดเจนในชั้นกรรมาธิการ โดยกรรมาธิการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ทำให้ความเข้าใจในชั้นสภานิติบัญญัติมีความชัดเจน เลยทำให้เหตุการณ์พิจารณางบประมาณปี 2561 ผ่านพ้นไปด้วยดี เรียบร้อยและมีความเข้าใจ”

สำหรับงบประมาณปี 2561 นั้น อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท นายสมศักดิ์เปิดเผยว่า ตอนแรกที่เริ่มต้นจะอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาทโดยประมาณ แล้วมาถึงขั้นกลั่นกรองมีการกลั่นกรองให้อยู่ในระดับประมาณไม่เกิน 4.4 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะให้มาทำเป็นคำขอตั้งงบประมาณ และหลังจากพิจารณาเบื้องต้นและคำขอแล้ว ที่ประชุม 4 หน่วยงานกำหนดกรอบวงเงินเพียงแค่ 3.9 ล้านล้านบาท และก็เป็นหน้าที่ที่สำนักงบประมาณจะต้องรับกรอบวงเงินนั้นไปพิจารณาตามคำขอของส่วนราชการต่างๆให้อยู่ภายในกรอบวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาทก่อน เพื่อเสนอต่อครม. และครม.ได้เห็นชอบในหลักการแล้วทำเป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 เสนอต่อสภานิติบัญญัติ อยู่ในกรอบวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท

“ในกรอบ 2.9 ล้านล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายประจำ 74.2% โดยประมาณเท่ากับ 2.153 ล้านล้านบาท ส่วนรายจ่ายลงทุนกำหนดสัดส่วนอยู่ที่ 22.8% อยู่ที่ประมาณ 659,924 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายสุดท้ายเป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ กำหนดไว้ที่ 3% อยู่ที่ประมาณ 86,942.3 ล้านบาท ประมาณการรายได้ที่ 2.45 ล้านล้านบาท และก็มีกู้ชดเชยขาดดุลอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกู้ขาดดุลไม่เกินกรอบวงเงินที่ 20% ของงบประมาณทั้งสิ้น และอีก 80% ของชำระคืนต้นเงินกู้ ตามกรอบกรอบวงเงินที่จะกู้ได้คือ 649,553 ล้านบาท คือ 4.5 แสนล้านบาทยังอยู่ในกรอบวงเงินตามกฎหมาย

หลังจากชั้นกรรมาธิการ ครม.ได้ส่งต่อมายังสภานิติบัญญัติแล้ว สภานิติบัญญัติก็จะได้รับหลักการวาระที่ 1 ไปแล้วในกรอบวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท และมอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 มีการพิจารณาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนกระทั่งสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม ได้นำเสนอต่อรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่อสภานิติบัญญัติในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา

ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการมีการพิจารณาปรับลดงบประมาณได้บางส่วน ได้ถึง 22,163 ล้านบาท และได้มีการพิจารณาแปรเพิ่มตามที่ครม.ได้เสนอมา ได้มีการแปรเพิ่มให้กับงบกลางเงินทดรองจ่ายฉุกเฉินจำเป็น 21,257.18 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งมีการแปรเพิ่มให้กับหน่วยงานรัฐสภา ศาล หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 141 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรปี 2560 มีการแปรเพิ่มให้กับหน่วยงานเหล่านี้อีก 904.9 ล้านบาท รวมแล้วมีการปรับลดแปรเพิ่มภายในกรอบวงเงิน 22,163 ล้านบาท หลังจากพิจารณาปรับลดและแปรเพิ่มก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในส่วนของสำนักงานบริหารของอีอีซี 93 ล้านบาทให้ไปเป็นของสำนักงานบริหารของอีอีซีตามคำสั่งที่ คสช.ให้จัดตั้งสำนักงานบริหารอีอีซีขึ้นเป็นกาลเฉพาะ เลยต้องโอนย้ายงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนของสำนักงานอีอีซีไปเป็นของสำนักงานอีอีซีได้โดยตรง

“หลังจากได้นำเสนอรายงานกรรมาธิการ ได้สรุปให้ทางสภานิติบัญญัติทราบว่า การพิจารณาปรับลดแปรเพิ่มทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 ยังคงกรอบวงเงินที่ 2.9 ล้านล้านบาท แล้วรายจ่ายประจำยังคงสัดส่วนที่ 74.2% แต่ตัวเลขจำนวนเงินอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่สัดส่วนไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนรายจ่ายลงทุนก็ยังคงสัดส่วนที่ 22.8% เท่าเดิม และชำระคืนต้นเงินกู้ก็ยังคงที่ 3% เพราะฉะนั้นหลักการที่พ.ร.บ.ที่รัฐบาลเสนอต่อสภานิติบัญญัติก็ยังคงเป็นหลักการเดิมของรัฐบาล เพียงแต่มีการปรับลดให้เหมาะสมกับหลักเกณฑ์และสถานการณ์ปัจจุบัน”

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงงบประมาณรายจ่าย 2561 ว่าเป็นการจัดทำงบประมาณตามแผนงาน ปรับลดแปรเพิ่มตามมิติยุทธศาสตร์ปี 2561 ยุทธศาสตร์ลำดับที่ 1 คือ เรื่องการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ลำดับที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และลำดับที่ 3 คือยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้ง 3 ลำดับได้งบประมาณเหมือนเดิม เพียงแต่อาจจะมีการปรับตัวเลขลงบ้างเล็กน้อย แต่ว่ายังคงสัดส่วนของการจัดยุทธศาสตร์ตามที่รัฐบาลเห็นว่ายุทธศาสตร์ 1-3 ยังคงเป็นไปตามที่รัฐบาลเสนอ

ส่วนมิติรายกระทรวง ลำดับที่ 1 เดิม คือกระทรวงศึกษา ก็มีการเสนอในวาระที่ 1 เท่ากับ 510,961 ล้านบาท หลังจากผ่านกรรมาธิการแล้ว และผ่านวาระ 2 และ 3 กระทรวงศึกษาก็ยังเป็นงบประมาณกระทรวงลำดับที่ 1 อยู่ แต่ว่ามีการปรับลดลงไปบ้าง เหลือ 507,947.7 ล้านบาท ส่วนลำดับที่ 2 ยังเป็นงบกลาง เดิมเสนอไว้ 394,329 ล้านบาท มีการแปรเพิ่มเข้าไปแล้วกลายเป็น 415,583.2 ล้านบาท แม้จะแปรเพิ่มเข้าไปแต่ก็ยังน้อยกว่าปีงบประมาณ 2560 คือลดลงไป 33,297.2 ล้านบาท ถือว่าลดไปมากพอสมควร ขณะที่ลำดับที่ 3 ยังเป็นกระทรวงมหาดไทย 54,333 ล้านบาท

25 views
bottom of page