
นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ระบบ QR Code ในประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยระบบ QR Code เป็นการอ้างถึงตัวเลขอ้างอิงต่างๆ ปัจจุบันทางสมาคมฯได้นำระบบ QR Code มาอ้างอิงถึงเลขระบบ PromptPay หรือเลขที่บัญชี และยังได้ตกลงกันในสมาคมฯว่าจะทำไม่เหมือนกับเครื่องรูดบัตรของแต่ละธนาคารตอนนี้ได้กำหนดเป็น Standard เดียวของประเทศไทย เพราะฉะนั้นระบบ Mobile Banking App ไม่ว่าจะเป็นของแบงก์ A หรือ B สามารถอ่านระบบ QR Code นี้ได้เหมือนกัน อีกทั้งระบบ QR Code ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบ National e-Payment เพราะต้องการให้ประชาชนใช้จ่ายเงินด้านดิจิตอลได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ จะพบเห็นได้ในประเทศจีน การใช้ QR Code ของ Alipay จะลงลึกไปถึงระดับรากหญ้า ตลาดสดหรือร้านค้าทั่วไปก็จะมีระบบ QR Code ยกตัวอย่าง เช่น ร้านค้าหาบเร่แผงลอยถ้าติดตั้งระบบ QR Code เป็นช่องทางให้พ่อค้าแม่ค้ารับชำระเงินได้ง่าย สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าต้องปรับเปลี่ยน คือ เรื่องของการติดต่อสื่อสารของสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้สมาร์ทโฟนมีการใช้มากมาย คนระดับทั่วไปก็จะมีสมาร์ทโฟนใช้กันแล้วเพราะราคาของสมาร์ทโฟนไม่แพงโดยทางสมาคมฯคาดหวังให้เป็นสังคมไว้เงินสด
ขณะที่การติดตั้งเครื่อง EDC เป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่ 2 ตอนนี้ได้ทดลองติดตั้งอยู่ในร้านค้าในตึกว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะเมื่อทดลองติดตั้งเครื่อง EDC กับร้านค้าแผงลอยในตลาดสดจะมีปัญหาทั้งเจอแสงแดดและฝน, การหาปลั๊กเสียบก็ยาก และรวมไปถึงการหาช่องทาง
Communication ยุ่งยากไม่คุ้มค่าสำหรับพ่อค้าแม่ค้าแผงลอย ทำให้ไม่สามารถรับบัตรเดบิตได้
ส่วนระบบ PromptPay ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ตอนนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วอย่างที่ท่านนายกฯประกาศล่าสุดมีประมาณ 32 ล้านเลขหมายที่มีการผูก PromptPay แล้ว ก่อนหน้านี้ได้ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะมี 30 ล้านเลขหมาย ปรากฎว่าถึงก่อนที่ตั้งเป้าไว้ โดยระบบ PromptPay มีความ Active ตอนนี้ยอดเงินที่โอนกันมีประมาณแสนล้านบาทแล้ว ทุกวันมีการโอนเงินหลักแสนบาทต่อวัน นับว่ามีบางส่วนที่เป็นร้านค้าย่อยหรือร้านค้าเล็กที่ใช้ PromptPay ในการทำธุรกิจ แต่ถ้าเป็นร้านค้าใหญ่ก็จะรอโครงการถัดไปที่เป็น Bill Payment ข้ามแบงก์
ในส่วนของระบบ EDC ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น นายยศ กล่าวว่า ระบบ EDC เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน โดยเป้าหมายของ EDC จะไปรับรองบัตรสวัสดิการ บัตรเดบิตต่างๆ ที่เหมาะสม แต่ระบบ QR Code ไม่สามารถรับบัตรผู้มีรายได้น้อย จะเห็นว่าบัตรผู้มีรายได้น้อยที่จะออกวันที่ 1 ตุลาคม 2560 นี้ จะไปใช้ในเครื่อง EDC ตอนนี้กำลังเร่งกระจายเครื่อง EDC ไปสู่หน่วยงานต่างๆ สู่องค์กรที่จะรับบัตรผู้มีรายได้น้อย เช่น ร้านค้าธงฟ้า ร้านแก๊ส หรือร้านค้าต่างๆ ทุกอย่างประสานกัน จะเห็นว่าบัตรในโครงการที่ 2 จะเน้นการรับบัตร แต่เดิมเป็นเพียงบัตรเดบิต แต่ที่จริงแล้วเป้าหมายของสมาคมฯจะดูเรื่องสวัสดิการประกอบกันไป โดยโครงการที่ 1 เป็นโครงการ PromptPay เป็นการวางรากฐานการโอนเงินที่ไม่ได้ใช้บัตร ส่วน QR Code จะเป็นโครงการระหว่าง 1 กับ 2 เป็นการจับจ่ายซื้อของคล้ายกับโครงการ 2 แต่ใช้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการ 1
ส่วนประเด็นเรื่องราคาเครื่อง EDC มีราคาแพงไม่เป็นความจริง เพราะในโครงการที่ 2 ไม่ได้มีการเก็บค่าเครื่อง ถ้าต้องการติดเครื่อง EDC สามารถบอกกับทางธนาคารว่ามีความประสงค์รับเครื่อง EDC ทางธนาคารจะติดตั้งให้แต่อาจจะมีค่าประกันเครื่องนิดหน่อย ถึงเวลาเอาเครื่องมาคืนจะได้เงินคืน เพราะฉะนั้นไม่ได้มีค่าใช้จ่ายของเครื่อง EDC ประเด็นที่ 2 เป็นความเข้าใจว่าติดเครื่องไปแล้วข้อมูลการซื้อของต่างๆ จะรู้ แต่ข้อมูลการซื้อของหรือข้อมูลในการโอนเงินต่างๆ เป็นข้อมูลที่ธนาคารไม่สามารถเปิดเผยให้ได้ ยกเว้นรัฐบาลต้องนำหมายศาลมาหรือออกพระราชบัญญัติต่างๆ มาเพื่อขอดูข้อมูลเหล่านั้นซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ถึงจะมีเรื่องนี้เกิดขึ้นก็ไม่ต้องรอให้ผูกกับ PromptPay หรือรอวางเครื่อง EDC หากต้องการจะตรวจสอบบัญชีก็สามารถทำได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ อยากให้มองข้อดีว่าการมีบัญชีเดียวที่รัฐอุ้ม หรือบัญชีเดียวที่รัฐพยายามทำไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐแต่เป็นสังคมโลกว่าการให้กู้เงินหรือจะทำอะไรต่างๆ ควรจะดูบัญชีที่ถูกต้อง 2.ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลเฉพาะไฟแนนเชียลอย่างเดียว แต่เป็นข้อมูลอื่นที่นำมาประกอบกัน เช่น จำนวนการขายของว่าขายดีหรือไม่ดีนอกเหนือจากไฟแนนเชียล เพราะฉะนั้นในต่างประเทศจะมีผู้ให้วงเงินที่ไม่ได้สูงมากนักเต็มไปหมด ถ้า SME ไม่คิดถึงตรงนี้ ในอนาคตการจะหาช่องทางเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้อย่างไร ไทยจะต่อสู้กับต่างประเทศอย่างไร คือ เป็นการวางพื้นฐานให้คนไทยมี Financial Base และ Information Base เพื่อไปใช้ในการเสาะหาเงินทุนด้วย เป็นที่ทราบกันดี SME การบริหารจัดการรายได้หรือการใช้จ่ายต้องมีเงินทุนหมุนเวียน และถ้าเงินทุนหมุนเวียนสามารถหาได้ในราคาที่ถูกหรือต้นทุนที่ถูก ข้อดีของบริษัท คือ กำไรของบริษัทจะยั่งยืน ถ้าขาดเงินทุนก็จะสะดุด จากที่บริษัทเคยมีรายได้ก็อาจจะมีปัญหาสะดุดล้มได้
“เรื่องต้องจ่ายค่าเครื่อง EDC จนทำให้แบงก์ไม่อยากกระตุ้นให้ใช้เครื่อง EDC ถือว่าไม่จริง แบงก์มองว่าต้นทุนของประเทศสำคัญที่สุดในเรื่องของการใช้เงินสด เป็นต้นทุนของประเทศที่ทุกคนมองไม่เห็น แต่เป็นต้นทุนหลายพันหมื่นล้านบาทต่อปี ถ้าทำให้ไทยเป็นสังคมดิจิตอลได้ลดต้นทุนผลิตเงินสด การเคลื่อนย้ายเงินสด ก็จะลดต้นทุนประเทศได้มหาศาล ทางสมาคมฯเคยจ้าง consult มาปรึกษา ลองมองในมุมมองว่าถ้าลดการใช้จ่ายเงินสด 10% ก็จะมีเงินเหลือในประเทศหลักหลายพันล้านบาท หากคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปีเพียง 3 ปีก็สามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ 1 สาย” นายยศกล่าวและแนะนำเรื่องการเลือกใช้เครื่อง EDC กับระบบ QR Code
“หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่ได้เป็นร้านแนะนำให้ใช้ระบบ QR Code เหมือนในจีนหรืออินเดีย โดยระบบ QR Code เป็นกระดาษแข็งที่พิมพ์ออกมา สามารถนำไปเคลือบเพื่อกันน้ำได้ ถ้าหากมีความชำรุดเสียหายการทำขึ้นมาใหม่ใช้เงินเพียงไม่กี่บาทและไม่ต้องมีระบบไฟมาเลี้ยงเพราะตั้งให้ลูกค้าสแกนได้ทันที ส่วนถ้าเป็นร้านก๊วยเตี๋ยวที่เป็นห้องแถวก็จะแนะนำให้ใช้ QR Code , บัตรเดบิต หรือเครื่อง EDC ก็ได้ เป็นร้านที่มีระบบไฟเลี้ยงไปที่เครื่อง EDC ไม่โดนฝนทำให้เกิดเสียหาย และถ้าแถวนั้นมีคนทำงานมากก็มีทั้งบัตรเดบิต , บัตรเครดิต และถ้ามีระบบ Mobile Payment ก็สามารถมีได้ทั้ง QR Code และ เครื่อง EDC โดย QR Code ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าเครื่อง EDC ก็จะเป็นตัวเลือกให้พ่อค้าแม่ค้า และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้จ่าย อย่างวันนี้อยากจะใช้ QR Code หรือวันพรุ่งนี้จะใช้บัตรเดบิตก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นร้านใหญ่ก็อาจจะใช้เครื่องรูดบัตรแทนมากกว่า”
ปัจจุบันทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ นายยศแนะนำว่าให้พ่อค้าแม่ค้าเปิดบัญชีหรือมีบัญชีอยู่แล้วให้เข้าไปที่ธนาคารสาขาว่าสามารถทำระบบ QR Code ได้หรือไม่ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงทดลองโดยมีบางเขตเท่านั้นที่แบงก์ชาติอนุมัติให้ใช้ และในไตรมาส 4 ของปี 2560 นี้ จะเปิดให้ใช้กว้างขวางขึ้น และเป็นการเปิดใช้ที่ไม่มีการบันทึกข้อมูลว่ามีเงินเข้าในเครื่อง EDC ส่วนในปีหน้าจะมีการลงทะเบียนในส่วนของพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้เครื่อง QR Code ที่จะมีการรายงาน และข้อดีของเครื่อง EDC สามารถบันทึกประจำวันซึ่งเหมาะกับร้านก๊วยเตี๋ยวว่ามีรายรับรายจ่ายอยู่เท่าไหร่ก็จะทำบัญชีได้ง่ายซึ่งแต่เดิมร้านแบบนี้ไม่เคยทำบัญชี ตอนนี้ต้องทำบัญชีเดี่ยวได้แล้ว
“ส่วนประชาชนทั่วไปคงมีทั้งบัตรและ Mobile App ในอนาคตอีก 1-2 ปี บัตรพลาสติกที่มีอยู่สามารถ On Board มาอยู่บนเครื่องให้ใช้ได้ แต่สำหรับบางคนกลัวเรื่องโทรศัพท์หายก็แนะนำให้ใช้ทั้ง 2 อย่างไปก่อน อย่างใช้โมบายสำหรับ QR Code ธรรมดา และใช้บัตรในการรูดธรรมดา อาจจะต้องใช้เวลา 2-3ปีเพื่อให้คนชินว่ามีความปลอดภัย จึงเชื่อมั่นได้แน่นอน และข้อดีอีกเรื่อง คือ ผู้ใช้หรือผู้จ่ายเงินจะมีโอกาสเลือกช่องทางการจ่ายเงินได้หลากหลาย วันนี้จะจ่ายด้วย PromptPay, QR Code, บัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต สามารถเลือกได้หมด”

