ปรากฏการณ์ตัวเลข GDP โตเอาๆ สวนทางความรู้สึกภาคธุรกิจ, อุตสาหกรรม, ครัวเรือน ยังไม่ดีมาก “นักเศรษฐศาสตร์” มองเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้ง แต่สุดท้ายต้องลงเอยด้วยสภาพการณ์ความเป็นจริง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เหลือปี 2560 ได้เจอของจริงรอท่าอยู่ เตือนระวังอัตราแลกเปลี่ยน, ความไม่แน่นอนต่างประเทศ, การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของ FED, ศึกเพดานหนี้ยกใหม่เดือนกันยายน ระหว่าง ปธ.ทรัมป์ VS สภามะกัน คนพรรคเดียวกัน ล้วนส่งผลกระทบค่าเงินบาท ให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงค่าเงินกับอดีต อย่าพึ่ง “ส่งออก” อาจจะชะลอตัวลงจากช่วง 7 เดือนแรกที่โตพรวดๆ
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 2 ที่ออกมาเติบโตมาจากภาคเกษตร ส่วนหนึ่งที่เติบโตมาจากฐานที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพราะมีปัญหาเรื่องของภัยแล้ง ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยอื่นนอกจากเรื่องการเกษตรแล้วยังมีตัวเลขการส่งออก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าค่าเงินบาทแข็งดีเกินคาด อีกทั้งการท่องเที่ยวที่ดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวดี จากประเด็นหลักเหล่านี้ช่วยทำให้ตัวเลข GDP ออกมาดีเกินคาด ในขณะที่ความรู้สึกของธุรกิจอาจจะไม่ดีมากนักเพราะกำลังซื้อในประเทศยังไม่ดีมากนัก ทำให้ในมุมมองที่ดีขึ้นมาจากปัจจัยเทคนิคมาช่วยให้ GDP ดีขึ้น
“แม้ว่า ตัวเลข GDP ออกมาจะดูดี แต่ถ้าดูดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมหรือภาครัวเรือน ยังมีตัวเลขที่ไม่ดีมาก ก็เป็นเรื่องที่นานครั้งจะเกิดขึ้นแบบนี้ที่ตัวเลขกับความรู้สึกของคนอาจจะไปด้วยกันได้ไม่ทั้งหมด แต่คิดว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเทคนิคที่ไม่ได้เป็นประเด็นติดใจในเรื่องตัวเลข แต่สุดท้ายก็หวังว่าจะสอดคล้องกันได้ เช่น GDP ที่มาจากภาคเกษตร ในครึ่งปีหลังยังมีประเด็นเรื่องของน้ำท่วมภาคอีสาน ก็มีผลในระดับหนึ่งใน GDP ของภูมิภาค และในช่วงเวลานีนี้ในปีหน้าตัวเลขจะกลับด้านอีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องเทคนิคคงเดินต่อไป แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจจริง กำลังซื้อโดยเฉพาะเรื่องการส่งออก เพราะว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 นี้ออกมาดี แต่ค่าเงินบาทยังแข็งค่า ปลายสัปดาห์นี้หลังจากที่มีการประชุมเงินบาทก็น่าจะกลับมาแข็งค่าอีก ก็เป็นเรื่องกังวลของผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท
ดร.เชาว์กล่าวว่า GDP ที่ออกมาดีย่อมต้องดีกว่า GDP ที่ออกมาไม่ดีในแง่โดยรวมของประเทศ คิดว่าตลาดเงินหรือตลาดทุนในตอนนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่เข้ามา ส่วนประเด็นข้างหน้าในมุมมองของตลาดเงินอัตราแลกเปลี่ยนคิดว่าสหรัฐฯมีความไม่แน่นอนเพราะว่าเรื่องกฎหมายเพดานหนี้ไปถึงจุดเพดานหนี้ตรงนั้นแล้ว ถ้าไม่สามารถออกกฎหมายรองรับเพดานหนี้ที่ขยับขึ้นในเดือนกันยายน ประมาณปลายเดือนกันยายนรัฐบาลไม่น่าจะมีเงินหมุนเวียนพอ ช่วงนี้เป็นช่วงพักของสภาครองเกสที่ไม่มีการประชุม และหลังจากกลับมาประชุมในช่วงปลายเดือนกันยายนก็จะมีผลต่อการแกว่งของค่าเงินมากพอสมควร
“นักวิเคราะห์หลายที่ก็ยังมองว่าค่าเงินดอลลาร์มีแรงกดดัน ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดเงินตลาดทุนที่รับรู้ข่าวสาร” ดร.เชาว์กล่าวและว่า
ในช่วงที่ผ่านมาโดยทั่วไปมักจะตกลงกันได้ แต่ว่าในรอบนี้ประธานาธิบดีเป็นฝ่ายที่ขู่สภาครองเกสว่าจะ Shut Down และก็ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่ทำเนียบขาวมีเรื่องค่อนข้างเยอะ ความนิยมหรือการทำงานร่วมกันระหว่างฝั่งบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติไม่ค่อยตรงกัน ดูได้จากถ้อยคำแถลงหรือแนวคิดที่สวนทางกัน ทำให้กังวลว่าการตกลงในเวลาอันสั้นในเดือนกันยายนจะทำได้หรือไม่หลังจากที่สภาเปิดอีกครั้ง
ขณะที่สัญญาณการประชุมที่แจ็คสันโฮลของเฟด ล่าสุดนี้ ดร.เชาว์มองว่าอาจทำให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง เพราะก่อนการประชุมทุกคนคาดว่าทางยุโรปอาจจะแสดงความกังวลเรื่องค่าเงินยูโรที่แข็ง หรือมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อไม่ขยับเท่าไหร่ แต่ที่ผิดคาดประธานธนาคารกลางยุโรป นายมาริโอ ดรากี แสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และบอกว่าเงินเฟ้อของยุโรปคงทยอยเข้าสู่ระดับเป้าหมายระยะกลางในระยะถัดไปของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และก็ไม่ได้แสดงความกังวลเรื่องค่าเงินยูโรแข็ง ทำให้เมื่ออกมาในลักษณะนี้ค่าเงินยูโรก็จะทะลุไปที่ 1.191 ยูโร ส่วนค่าเงินบาทในตลาดนิวยอร์คก็แข็งค่าที่ 33.2 บาทต่อดอลลาร์โดยที่ผ่านมายังอยู่ที่ 33.3 บาทต่อดอลลาร์ นับว่าแข็งค่าขึ้นนิดหน่อยเป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง
“อยากให้มองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่มีความแน่นอนสูงนับจากนี้ไป ความไม่แน่นอนจากต่างประเทศยังรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ เพดานหนี้ของสหรัฐฯจะตกลงกันในกรอบเวลาไม่ถึงเดือนได้หรือไม่ ประเด็นที่สำคัญ คือ ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วง 4-5 เดือนหลังจะชะลอลงจากช่วง 7 เดือนแรก ประเด็นเหล่านี้คิดว่าจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการพยายามลดความเสี่ยงลงโดยเฉพาะในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน”