top of page
369286.jpg

ทวงคืน 'ความเป็นธรรม' พ่อ/แม่...หลังถูกบ.นมผงแหกตามานาน


นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 นี้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก หรือเรียกสั้นๆ ว่าพ.ร.บ.นมผง สาระสำคัญของเรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่จะไปบังคับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายหรือตัวแทน มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือเรื่องการโฆษณา กับเรื่องการส่งเสริมการตลาด

ในประเด็นการโฆษณานั้น ก่อนหน้าจะมีพ.ร.บ.อาหารที่ห้ามการโฆษณานมสำหรับทารกอยู่แล้ว ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับที่จะออกมาใหม่นี้ ในแง่การโฆษณา จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็คือ อาหารทารกก็คือนมสำหรับทารก ทารกในที่นี้หมายถึง นมสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน ก็จะห้ามโฆษณาทั้งหมด

“ประเด็นที่สำคัญของพ.ร.บ.ใหม่นี้ คือ ห้ามบริษัทส่งเสริมการตลาดในแง่การ ลด แลก แจก แถม การติดต่อกับแม่ที่มีลูกอายุไม่เกิน 3 ขวบ คือกลุ่มเด็กเล็ก เด็กอายุ 1-3 ขวบ จะห้ามเรื่องเหล่านี้ ที่จะให้ไม่มีการดำเนินการ แม้ว่าผู้ผลิต รวมถึงผู้นำเข้าจะไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่กับพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ส่วนการโฆษณาจะไม่กระทบเลย เพราะได้ห้ามมาหลายปีแล้ว เนื่องจากในตัวพ.ร.บ.อาหาร จะมีประกาศห้ามโฆษณาสำหรับอาหารทารกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในแง่โฆษณา จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการตลาดมากกว่า”

กรณีมีคุณแม่ทำการโฆษณาเองในช่องทางออนไลน์ นพ.ธงชัยกล่าวประเด็นนี้มีข้อห้ามในตัวพ.ร.บ.อาหารอยู่ก่อนแล้ว คุณแม่จึงไม่สามารถทำโฆษณาได้ โดยจะห้ามไม่ให้มีการโฆษณาอาหารทารก เพราะตรงนี้เองจะทำให้คุณแม่เข้าใจผิด ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เราศึกษามาว่าคุณแม่ของประเทศไทยเข้าใจผิดหลายเรื่องในแง่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น คุณแม่เองก็ไม่สามารถทำการโฆษณาด้วยตนเองได้ หากทำก็จะผิดตามพ.ร.บ.อาหาร

“การส่งเสริมการตลาดแบบไหนที่ทำไม่ได้ ก็คือสิ่งที่เพิ่มข้อบังคับเข้ามาคือการลดราคา คือห้ามบริษัทใช้วิธีการโฆษณาเช่น ราคา 500 บาท แต่มีกากบาทลดเหลือ 400 บาท พอเราออกพ.ร.บ.ใหม่นี้ จะส่งผลให้ต้นทุนทางการตลาดลดลง บริษัทต้องลดราคาลงอยู่แล้ว โดยทางกระทรวงพาณิชย์มีกระบวนการดูแลอยู่แล้ว ดังนั้น จึงห้ามทำการจูงใจ ลด แลก แจก แถม เพื่อทำให้คุณแม่อยากใช้ผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือการติดต่อโดยตรงไปหาคุณแม่ ที่ผ่านมาในช่วงหลายปีหลังมานี้ที่กระทรวงสาธารณสุขเรามีประกาศจะไม่ให้ทางโรงพยาบาลมีกระบวนการติดต่อกับทางบริษัท ต่อมาทำให้ทางบริษัทมียุทธวิธีติดต่อคุณแม่โดยตรง ตรงนี้ก็จะมีข้อห้ามด้วย” นพ.ธงชัยกล่าวและว่า

พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กฉบับใหม่ จะควบคุมในส่วนถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ถูกควบคุมหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด หรือบริษัทขายตรง หากมีผลิตภัณฑ์นม สำหรับทารกจำหน่ายจะควบคุมหมด อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ประกอบการออกมาบอกว่าจะกระทบธุรกิจพอสมควร คือถ้าเรารณรงค์ส่งเสริมให้คุณแม่ใช้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะกระทบแน่นอน แต่ว่าเราทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะว่านมแม่นั้นมีคุณค่ากว่านมผงมากมาย ที่สำคัญคือคุณแม่เองไม่ต้องเสียเงินด้วย ตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญ เป็นประโยชน์ทั้งต่อคุณแม่ และสังคมในภาพรวมและต่อประเทศด้วย ดังนั้น ถึงจะกระทบอย่างไรก็ต้องทำให้คุณแม่เข้าใจได้ถูกต้อง

“กลับกันถ้ามองอีกมุมหนึ่งที่ผ่านมาเราปล่อยให้บริษัททำการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดจนทำให้คุณแม่เข้าใจผิดคิดว่านมผงดีเท่าเทียมกับนมแม่ แล้วหากเราไม่ปกป้องนมแม่ คิดว่าเราก็จะเสียโอกาสไปเยอะพอสมควร ดังนั้น กลับกัน คือขอทวงคืนความเป็นธรรมสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ว่าที่ผ่านมาและในวันนี้บริษัทจะขอชดเชยทดแทนประเทศอย่างไร แต่ไม่ได้อยากให้ไปในประเด็นที่ว่า จะกระทบบริษัทเหล่านั้นอย่างไร”

นพ.ธงชัยเปิดเผย หลักวิชาการทั่วโลกโดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก เด็กทารกสามารถทานนมแม่อย่างเดียวได้ถึง 6 เดือน คือทานนมแม่แบบไม่ต้องทานน้ำ เพราะนมแม่จะมีน้ำมีสารอาหารเพียงพอ ที่สำคัญคือมีภูมิต้านทานด้วย และหลัง 6 เดือน จะต้องมีอาหารตามวัยเข้ามา คืออาหารเหลวๆ มาบดให้ลูกได้ทาน 1 มื้อ และ 7-8 เดือนเพิ่มเป็น 2 มื้อ และ 12 เดือนเพิ่มเป็น 3 มื้อ โดยให้ควบคู่กับนมแม่ กับให้ควบคู่กันไปถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีนมผง ถ้านมแม่ยังใช้ได้อยู่ ยกเว้นถ้าช่วง 6 เดือนแรก หากคุณแม่มีโรคหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถให้นมได้ ตรงนี้นมผงจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

“ถ้าเรามีของที่ดีอยู่แล้ว เราก็ควรจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ดีที่สุดตรงนั้น แม้ว่าคุณแม่อาจจะไม่สามารถลางานได้ยาวถึง 6 เดือนหรือด้วยภารกิจต่างๆ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงแรกจะมีประโยชน์ พอหลังจากนั้นก็มีวิธีการ โดยปัจจุบัน มีแนวทางมีวิธีการ มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้คุณแม่ปั๊มนมแล้วเอาเก็บไว้ให้ลูกได้ทานนมแม่ได้ยาวโดยไม่จำเป็นเสียเงินไปซื้อนมผง แล้วก็จะได้ประโยชน์จากนมแม่อย่างเต็มที่ด้วย คือมีวิธีการอยู่ แต่อาจจะต้องมีความตั้งใจและครอบครัวให้การสนับสนุน” นพ.ธงชัยกล่าวถึงเจตนาของกฎหมายใหม่ที่กำลังออกมาบังคับใช้

“อย่าได้ไปกังวลแทนบริษัทนมเหล่านั้นเลย บริษัทเหล่านี้จะยังมีเทคนิคอีกเยอะ แต่เราห่วงภาครัฐมากกว่าว่าจะตามบริษัทนมเหล่านั้นทันหรือไม่ คือเรามีกฎหมายในมือ ไม่ได้รังแกใคร แต่เป็นการปกป้องนมแม่ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้านมแม่เป็นบริษัทหนึ่งที่มีการส่งเสริมการตลาดการโฆษณาเทียบเท่ากับนมผงแล้ว กฎหมายนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมี ดังนั้นการที่มีกฎหมายเพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ให้บริษัทนมมาล่วงละเมิดในแง่ของการบิดเบือนข้อมูล เราจึงอยากให้เห็นตรงนี้มากกว่า

33 views
bottom of page