ประธานสภาอุตสาหกรรม “เจน นำชัยศิริ” ผ่าทางตัน เศรษฐกิจ/ธุรกิจไทยยุคกำลังซื้อระดับล่างอ่อนแอขายยาก แนะผู้ประกอบการต้องมุ่งผลิตสินค้าตลาดบน, ตลาดส่งออก, ตลาดอีมาร์เก็ตและตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วยประคับประคองสถานการณ์ไปพลางๆ ก่อน มองสถานการณ์สหรัฐอเมริกา-เกาหลีเหนือแค่สาดกันไปมา ไม่ถึงขั้นลงมือลงไม้ อีกการคว่ำบาตรรอบใหม่ไม่ส่งผลกระทบไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลักปัจจัยแรก ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติบอกคือเงินดอลลาร์อ่อนค่า ก็ต้องมาดูว่าดอลลาร์ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคนี้เป็นอย่างไรบ้างซึ่งก็อ่อนค่าจริง คือเงินในภูมิภาคนี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งคือเงินบาทมีความแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น ดังนั้น คิดว่าไม่น่าจะมีปัจจัยมาจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าอย่างเดียว แต่มีปัจจัยมาจากเงินทุนที่ไหลเข้ามา มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน
“ส่วนแรกคือ เงินที่เกินดุลการค้า การขายสินค้าได้มากกว่าเอาเงินไปซื้อสินค้าคนอื่น ตรงนี้เป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร โดยช่วง 6 เดือนเป็นเงินประมาณกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ ส่วนเงินอีกด้านคือเงินที่เข้ามาลงทุนประมาณ 4 พันล้านเหรียญ เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร โดยเงินส่วนที่ไหลเข้ามาลงทุนต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อบ้านเราต่ำมาก พอต่ำมาก อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมานิดเดียวทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมันสูงกว่าของคนอื่นเขา ขณะที่คนอื่นถ้าเงินเฟ้อสูง ค่าเงินเขาจะเล็กลงไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยที่ออกมามันอาจจะไม่คุ้มกับค่าเงินที่เล็กลง แต่บ้านเรา ดอกเบี้ยจะได้มาเต็มๆ เพราะเงินเฟ้อเราต่ำ ตรงนี้เลยมีความจูงใจที่จะเอาเงินเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะดึงตรงนี้ให้ลงมาอยู่ในระดับประเทศคู่ค้า ที่ผ่านมาเราเลยมีการพูดคุยกับหลายๆฝ่าย และสรุปว่าตรงนี้ควรจะมีมาตรการอะไรออกมา เพื่อที่จะทำให้ดีมานด์ของเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น จะพยุงค่าเงินของดอลลาร์ขึ้นมาได้ถ้าเทียบกับเงินบาท
“ข้อดีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการลงทุนซื้อเครื่องจักร ถ้าซื้อช่วงนี้ถือว่าได้ของถูก เพราะเงินบาทแข็งค่า อีกประการหนึ่งคือการคืนเงินกู้ที่เคยกู้มาเป็นเงินดอลลาร์ ตอนนี้จะได้โอกาสคืนจากค่าเงินบาทแข็งค่าเอาไปแลกดอลลาร์ได้จำนวนมาก ดังนั้น 2 มาตรการนี้ก็ควรเผยแพร่เพื่อที่จะให้คนที่สามารถที่จะมาช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ตอนนี้ก็สามารถที่จะใช้มาตรการตรงนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐและภาคธนาคาร” นายเจนกล่าวและมองว่าต้องดูแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ทราบกันดีตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ค่าเงินอ่อนลง เพราะไม่แน่ใจว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไร แต่พอนโยบายออกมาบอกจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีขึ้น คนก็มีความเชื่อถือและก็ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น ครั้นทำมา 6 เดือน ยังไม่มีอะไร ทำให้ขาดความมั่นใจ ส่งผลให้ตอนนี้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
“ที่ผ่านมาการนำเข้าของเราไม่น้อยแต่เพิ่มขึ้นตามอัตราการส่งออกเหมือนกัน เพราะว่าการที่เราส่งออกส่วนหนึ่งมาจากวัตถุดิบที่เรานำเข้ามา ยกตัวอย่าง เช่นฮาร์ตดิสต์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า กลุ่มนี้วัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากต่างประเทศ แต่ส่วนที่เป็นสินค้าเกษตรจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้นการนำเข้าของเราไม่ได้น้อยลงถ้าเทียบแล้ว น่าจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป และช่วงนี้ราคาน้ำมันขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วที่อยู่ประมาณ 30 เหรียญ ตอนนี้ขยับขึ้นมา 40-50 เหรียญ เทียบแล้ว การนำเข้าน้ำมันก็ใช้เงินมากขึ้น”
ในส่วนภาคการผลิต นายเจนพูดถึงตัวเลขล่าสุดของทางสภาพัฒน์ การใช้กำลังการผลิตจะใกล้ๆ 60% แสดงว่ากำลังการผลิตยังเหลืออยู่มาก สอดคล้องกับข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ว่าที่ไทยส่งออกมากขึ้น แต่ทำไมเรื่องตัวเลขการจ้างงานต่างๆไม่ได้เพิ่มขึ้น อาจจะอยู่ที่ว่ากำลังการผลิตยังมีอยู่ และแรงงานยังสามารถเพิ่มเวลาการทำงานขึ้นมาได้ ดังนั้นทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเครื่องจักรหรือว่าเพิ่มแรงงานก็สามารถที่จะใช้กำลังการผลิตที่ยังเป็นส่วนเกิน ยังทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็ส่งออกได้
“ตรงนี้ตัวเลขจะสอดคล้องกัน ถ้ามองว่าเรามีการส่งออกมากขึ้น การใช้กำลังการผลิตมากขึ้น ช่วงนี้ยังไม่ถึงขั้นที่เราจะไปลงทุน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ขณะเดียวกัน อยากให้ผู้ประกอบการได้ดูเหมือนกันว่า ขณะนี้ตลาด จริงๆแล้วเรามองดูตลาดจะเห็นได้ว่ากลุ่มตลาดล่างคือกลุ่มสินค้าที่มีราคาต่ำ ตอนนี้ค่อนข้างจะฝืดเคือง สินค้าขายไม่ได้ ขณะที่สินค้าตลาดบนกลับขายได้ดี จากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง ส่วนตลาดส่งออกจะเห็นได้ว่าครึ่งปีแรกมีการเติบโต 7-8% คือถ้าเราสามารถส่งออกได้ ตลาดในการส่งออกยังดีอยู่ ส่วนอีกตลาดที่น่าสนใจคืออีมาร์เก็ต ตลาดนี้มีการเติบโตเร็ว คือถ้าเรามีช่องทางในการขายสินค้าของเราในตลาดอีมาร์เก็ต ตลาดนี้ก็ยังโตอยู่มาก” นายเจนกล่าวและแนะผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่ 3 ส่วนนี้ คือ 1.ตลาดบน 2.ตลาดส่งออก และ 3.ตลาดอีมาร์เก็ต ช่วงนี้มองว่าโอกาสยังมีอยู่ ขณะเดียวกัน อย่าไปเน้นที่ตลาดล่าง เพราะตอนนี้กำลังซื้ออ่อนมาก อาจจะเป็นว่ามีหนี้สิน และตอนนี้ธุรกิจสีเทาก็ค่อนข้างซบเซาลงไป
“ปัจจุบันยังมีตัวช่วยคือเรื่องท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาตอนนี้มากหลายคนยอมรับเลยว่าจากการที่เราปราบเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญไปทำให้คุณภาพนักท่องเที่ยวดีขึ้นไม่ว่าจะมาจากรัสเซีย จีน จะมีกำลังซื้อสูงขึ้น ตรงนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า สินค้าตลาดล่างไม่ได้รับความนิยม ดังนั้น ถ้าไปเน้นสินค้าและบริการในตลาดบน ตอนนี้ยังมีโอกาสอยู่มาก ดังนั้น ภาคการผลิตต้องปรับตัวให้สอดรับกับไทยแลนด์ 4.0 ผู้ประกอบการต้องเน้นเรื่องนวัตกรรม เรื่องเทคโนโลยี เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ตรงนี้รัฐบาลได้มองเห็นแนวโน้มตรงนี้ชัดเจนจึงได้ออกโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 “ตอนนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกำลังซื้อของตลาดล่าง ยอมรับว่ากำลังซื้ออ่อนมาก และเรื่องหนี้สินครัวเรือนก็เป็นตัวฉุด ดังนั้น คิดว่าผู้ประกอบการต้องเน้นใน 3 ตลาดที่กล่าวถึงจะทำให้สามารถประคองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปได้ ซึ่งไม่ง่าย แต่ต้องใช้ความพยายาม”
ส่วนสถานการณ์สหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือว่า นายเจนมองว่าคงไม่ถึงขั้นห้ำหั่นลงมือลงไม้กัน แค่พูดจาตอบโต้สาดกันไปสาดกันมา ในที่สุดแล้วต้องมีตัวกลาง คิดว่าจีนจะเป็นตัวกลางที่ดี “คงไม่ถึงขั้นลงไม่ลงมืออาจจะมีการคุยกัน ผ่อนปรนบ้าง และในท้ายที่สุดก็ไม่น่าจะดึงไปในจุดที่ตึงเครียด ที่มีการคว่ำบาตร หลายคนมองว่า จะกระทบกับสินค้าไทยหรือไม่นั้น ผมมองว่าไม่น่าจะกระเทือนสักเท่าไหร่ เพราะสินค้าที่เข้าไปเกาหลีเหนือน่าจะเป็นสินค้าจากเกาหลีใต้เสียส่วนใหญ่ และเป็นสินค้าจากจีนที่มีบทบาทเยอะ ดังนั้นจีนคงไม่ปล่อยให้รบกัน และคงพยายามประคองสถานการณ์ ขณะที่การลงทุนของนักธุรกิจเกาหลีเหนือในไทย ที่ผ่านมาถือว่ามีจำนวนไม่เยอะ และน้อยมาก แต่ในส่วนนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในเกาหลีเหนือก็พอมีอยู่บ้างส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารเป็นสำคัญ”
Image: Pixabay