top of page
358556.jpg

เจ้าสัวเจริญ-ธนินท์ แนวร่วมต้านทุนจีน


การไล่ซื้อกิจการของสองเจ้าสัวไทย เจริญ-ธนินท์ ผู้อยู่ในทำเนียบคนรวยที่สุดในโลกของฟอร์บส์ดูคล้ายกับว่าเป็นการครอบงำเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อศึกษาก้าวย่างของทุนจีนที่กำลังเคลื่อนลงมาตามถนนสายไหมใหม่แล้ว การควบรวมกิจการระดับหมื่นๆแสนๆล้านเข้ามาอยู่ในมือของพวกเขากลับกลายเป็นกำแพงปะทะทุนหนาจากจีนที่แข็งแกร่งที่สุด

ขณะที่มาเลเซียสร้างเมืองใหม่เตรียมรับการมาของกลุ่มทุนจีน โดยมีแจ๊ค หม่า เป็นหัวหอก ภาครัฐไทยกลับไม่มีแผนการใดรับมือทุนจีน ไม่ว่าจะเชิงบวกหรือเชิงลบ มีแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ตื่นตัวระแวงภัย

หากมองว่าการเข้าไปซื้อกิจการผิงอัน อันเป็นบริษัทประกันภัยอันดับ 2 ของจีนมูลค่า 2.82 แสนล้านบาทของเครือซีพีของธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นการลงทุนเชื่อมโยงจีนมาไทย

การลงทุนร่วมกับชิงเต่ายักษ์ใหญ่เบียร์จีนของไทยเบฟฯก็ไม่ต่างกัน

หากแต่สะพานเชื่อมนั้น คนไทยเป็นเจ้าของ มิใช่บรรดาจีนนอก อย่างพวกร้านเครื่องไฟฟ้าย่านคลองถม พันธุ์ทิพย์

ทุนจีนนั้นมากมหาศาล ทะลักลงมาใต้หลายระลอกแล้ว แต่ไม่สามารถครอบงำชาติอินโดจีนได้ทั้งหมด

เหตุผลก็คือ มีเจ้าถิ่นที่มีศักยภาพทางการเงินที่รู้ทางกันสกัดกั้นอยู่

เครือไทยเบฟฯกับเครือซีพีมือไวกว่า รุกเข้าไปในพื้นที่ CLMV แทบทุกจุดแล้ว

ซีพีตั้งโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มสัตว์น้ำในเวียดนาม สร้างเครือข่ายคอนแทร็กฟาร์มมิ่งในพม่า และเวียดนาม

ไทยเบฟฯปลูกกาแฟแถบที่ราบสูงโบโลเวนของลาว และตั้งโรงงานน้ำตาลในฝั่งไทย รับซื้ออ้อยที่ปลูกในลาว เช่นเดียวกันกับตั้งโรงงานน้ำตาลบนเกาะกงกัมพูชา

ล่าสุด ปีที่แล้ว ซื้อเมโทรกรุ๊ป เครือข่ายค้าส่งรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่า 2.56 หมื่นล้านบาท

ต่อเชื่อมกับกิจการค้าปลีกบิ๊กซี ที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เทคโอเวอร์มาในราคา 1.22 แสนล้านบาทได้อย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดี

ปี 2556 เครือไทยเบฟฯ ต้องระเห็จไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพราะกลุ่มอิงธรรมะสุดโต่งในไทยต่อต้านการเข้าตลาดหุ้นไทย

การไปอยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์เท่ากับต่อแขนต่อขา ต่อปีกให้ไทยเบฟฯ จนสามารถซื้อ F&N (Fraser and Neave) ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มและอาหารอายุกว่า 100 ปี มูลค่า 3.36 แสนล้านบาทได้สำเร็จ

เชือดเฉือนกับยักษ์ใหญ่เบียร์โลกไฮเนเก้นอย่างดุเดือด ชิงไหวชิงพริบกันอย่างถึงพริกถึงขิง

โดยไทยเบฟฯมีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจาก F&N ถือหุ้น Asia Pacific Breweries (APB) อยู่ถึง 40% ทั้งๆที่ไฮเนเก้นร่วมทุนผลิตเบียร์ไทเกอร์กับบริษัทนี้มากว่า 82 ปี

ในที่สุดไฮเนเก้นต้องยอมซื้อหุ้น APB จาก F&N หรือนัยหนึ่งคือ ไทยเบฟฯ ด้วยราคาสูงเพื่อรักษาฐานที่มั่นในเอเชียเอาไว้ เกมอภิมหาดีลนี้ ไทยเบฟฯได้กำไรมาหลายพันล้านบาท

ปีถัดมาซื้อกลุ่มเสริมสุขในไทยที่เคยเป็น joint venture กับเป๊ปซี่โคล่า 1.5 พันล้านบาท นำมาผลิตเอสโคล่าตีคู่กับเครื่องดื่มโคล่าระดับโลก

ล่าสุดซื้อสาขาของ KFC ในประเทศไทยจำนวน 240 สาขา แบบเหมาที่เหลือทั้งหมดที่คิดเป็น 40% ของจำนวนสาขาทั้งหมดจากบริษัท Yum Restaurants International (ประเทศไทย) มูลค่า 11,300 ล้านบาท

การซื้อเคเอฟซี มีบางคนมองในแง่อคติว่าเจ้าสัวเจริญครอบงำเศรษฐกิจไทย บางคนถึงกับให้ร้ายว่าเป็นทุนนิยมสามานย์

แต่ถ้ามองไปทางจีน ที่ แจ๊ค หม่า กำลังช็อปปิ้งกิจการระดับโลกที่ไปดำเนินการในจีน โดยเฉพาะซื้อหุ้นใหญ่ Yum China เจ้าของแฟรนไชส์เคเอฟซีแล้ว ก็น่ากังวลว่าจะมากวาดเคเอฟซีในย่านอาเซียน

เพราะเจ้าสัวอาลีบาบา ต้องการนำเอา Alipay แทรกเข้าไปอยู่ในระบบบริการด้านการซื้อการจ่ายผ่านระบบออนไลน์ของเครือข่ายเคเอฟซีแบบที่ใช้ในจีนขณะนี้

อีกด้านหนึ่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซื้อแม็คโคร

การเป็นผู้นำแม็คโครเข้ามาเมืองไทยของเครือซีพี ทำให้ง่ายต่อการที่เจ้าสัวธนินท์ จะฮุบแม็คโครมาเข้ากลุ่มได้ไม่ยาก

แม้จะดูแพง คือ 1.88 แสนล้านบาท ทว่าผลประกอบการที่ผ่านมาการันตีได้ว่า ไม่ขาดทุน จึงถือว่าคุ้มค่า และหากจะมองว่า เป็นการผูกขาด เพราะเครือซีพีทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ท้องนามายันค้าส่ง ค้าปลีก จนถึงส่งออก

แต่การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ก็ถือเป็นการกระจายการถือครองกิจการ เป็นบริษัทที่ “มหาชน” เป็นเจ้าของ

ใครอยากเป็นเจ้าของซีพี ก็ไปซื้อหุ้นซีพีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอา

เช่นเดียวกันกับกลุ่มไทยเบฟฯที่มีกว่าร้อยบริษัทในเครือ ใครอยากเป็นเจ้าของ ก็ไปซื้อเอาในตลาดหุ้น

หุ้นไทยเบฟฯ ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยไม่ได้ ก็ซื้อขายจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ ผ่านโบรกเกอร์ในไทยได้แทบทุกโบรกเกอร์

เศรษฐกิจไทยเชื่อมต่อโลกเป็นโลกาภิวัตน์ ไม่มีอะไรเป็นพรมแดนขวางกั้น กลุ่มทุนไทยอย่างซีพี อย่างไทยเบฟฯ สู้ได้ทั้งในบ้าน นอกบ้านเยี่ยงนี้...ไปว่าเขาทำไม ?

 

Image: www.bjc.co.th และ www.cpall.co.th

137 views
bottom of page