top of page
379208.jpg

เสียหายน้ำท่วมพันล. ประกันภัย รับมือไหว! ห่วงเจ็บประกันข้าวนาปี


วงการประกันภัยประเมินเคลมน้ำท่วมอีสาน-เหนือกว่า 20 จว. ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท แถมหวั่นถ้านาข้าวเสียหาย 1.5 ล้านไร่ จากเป้าหมายพื้นที่ปลูกปีนี้ 25 ล้านไร่ บริษัทประกันจะขาดทุนทันที ด้านชาวนาอีสานเริ่มตระหนักแห่ซื้อประกันข้าวนาปีเพียบ ขณะที่เลขาฯสมาคมประกันภัยไม่วิตกยอดเคลมเพราะเป็นประกันภัยแบบพิเศษที่จ่ายเบี้ยแพงกว่าประกันแบบอื่น อีกทั้งยังเป็นภัยที่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้ง

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสานเบื้องต้นคาดว่าธุรกิจประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมประมาณ1,000ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายต่อรถยนต์จากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 รวมถึงประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+หรือ 3+ ที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีรถยนต์เสียหายประมาณ 600 คัน ประมาณการค่าสินไหมทั้งแบบเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss) ต้องจ่ายเต็มทุนประกัน และถ้ามีความเสียหายบางส่วนจะเป็นการซ่อมแซมรถกลับสู่สภาพเดิม ประมาณการค่าเสียหายทั้ง 2 กรณีรวมกว่า 250-300 ล้านบาท โดยคิดเฉลี่ยจากทุนประกันภัย 5 แสนบาทต่อกรมธรรม์

ส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สิน จากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก กรมธรรม์ของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม คาดมูลค่าความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท

ขณะที่ความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ที่ประเมินจากกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 คุ้มครองภัยน้ำท่วมในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นภัยพิบัตินั้น เกษตรกรจะได้รับวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาท/ไร่ ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้น มีเกษตรกรซื้อประกันภัยข้าวนาปีราว 3.4 แสนไร่ ถ้าเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิงจะได้รับค่าสินไหมประมาณ 428 ล้านบาท

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในวงการประกันภัยระบุว่าภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีราว 30 ล้านไร่ จากทั่วประเทศเกือบ 60 ไร่ซึ่งจากการประเมินน้ำท่วมครั้งนี้คาดว่าถ้ามีพื้นที่เสียหายสิ้นเชิงเพียง 1.5 ล้านไร่ บริษัทประกันภัยจะขาดทุนทันที เพราะค่าสินไหมจะทะยานเกือบ 2,000 ล้านบาท นอกจากนั้นผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมอีสานดังกล่าวทำให้เกษตรกรตื่นตัวสนใจซื้อประกันนาข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมมีเกษตรกรจำนวนมากไม่สนใจซื้อประกันนาข้าวเพราะมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่เบี้ยประกันภัย 100 บาท/ไร่ รัฐบาลช่วยอุดหนุนเบี้ย 54 บาท ขณะที่เกษตรกรจ่ายเอง 36 บาท

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมมีหลายประเภท ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และการซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และกรมธรรม์ประกันชีวิต

ส่วนนายอานนท์ วังวสุ เลขาธิการสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในจังหวัดทางภาคอีสานของไทยว่า น้ำท่วมครั้งนี้ มีความเสียหายยังไม่เทียบเท่ากับน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ธุรกิจประกันภัยได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น และเห็นได้ชัดจากที่ตัวเมืองจังหวัดสกลนครเป็นหลัก ตัวเลขความเสียหายในเบื้องต้นนี้ยังไม่สูงมากและไม่น่าเกิน 1 พันล้านบาท

“ความเสียหายมาจากรถยนต์ครึ่งหนึ่งประมาณ 1 พันคัน นอกจากนี้จะมีความเสียหายที่เกิดกับนาข้าวที่มีการประกัน มีความเสียหายมากกว่าปีก่อนๆ แน่ เนื่องจากภาคอีสานมีการปลูกข้าวสัดส่วนถึง 60% ของพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่น้ำท่วมขณะนี้ ไม่เคยมีปัญหาใดๆ มาก่อนหรือถ้ามีก็ไม่มาก” นายอานนท์กล่าวและเปิดเผยถึงตัวเลขความเสียหายในปัจจุบันที่เกิดกับภาคอีสาน ว่าไม่กระทบกับบริษัทประกันวินาศภัยมาก เพราะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ขณะที่ความเสียหายจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 อยู่ที่กว่า 4 แสนล้านบาท โดยครั้งนั้นที่เสียหายมากคือน้ำได้ท่วมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นลักษณะน้ำท่วมสูงและขังเป็นเวลานาน ดังนั้น น้ำที่ท่วมล่าสุดนี้ที่ภาคอีสาน คงจะเทียบกันไม่ได้ และหากดูปริมาณน้ำในเขื่อนถือว่าไม่เต็มยังมีความสามารถที่จะรับน้ำได้อีก

“น้ำท่วมล่าสุดนี้ ยังไม่กระทบธุรกิจประกันมาก โดยหลังจากปี 2554 เบี้ยประกันมีการปรับขึ้นไปอยู่ 2-3 ปีคือปี 2555-2556 เบี้ยประกันแพงขึ้นไปซื้อลำบาก และค่อยๆ อ่อนตัวลงไปนับตั้งแต่ปี 2557-2559 เพราะวินาศภัยใหญ่ๆ ไม่ค่อยเกิด แต่ปีนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไป บริษัทวินาศภัยโดยรวมไม่ได้มีความวิตกใดๆ ตอนนี้ถ้าจะซื้อประกันภัยน้ำท่วมก็ซื้อได้ทั้งในโซนกรุงเทพและโซนอุตสาหกรรม โดยหลังจากปี 2554 มีการซื้อประกันแต่ไม่เต็มวงเงิน เพราะอัตราเบี้ยประกันภัย ได้แยกออกมา คือสมัยก่อนภัยธรรมชาติน้ำท่วม แผ่นดินไหวและพายุ จะรวมอยู่ในประกันภัยปกติ แต่หลังจากปี 2554 ประกอบกับทางประกันภัยโลกมีการกำหนดไทยเป็นโซนที่อาจมีภัยธรรมชาติเกิดคล้ายกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จึงได้แยกภัยตรงนี้ออกจากกัน และต้องซื้อแบบพิเศษ ทำให้เบี้ยประกันภัยส่วนนี้สูง”

สำหรับความเสียหายน้ำท่วมกับรถยนต์นั้นนายอานนท์กล่าวว่า รถยนต์ที่ทำประกันภัยชั้น 1 ถือว่าได้รับความคุ้มครองจากน้ำท่วมอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เอกชนต้องดูก็คือ ถ้าไม่ใช่ประเภท 1 ที่มีความคุ้มครองรถยนต์เหมือนกัน คือ ที่นิยมทำประกันภัยประเภท 2 บวก กับ 3 บวก ที่ราคาจะถูกลงมา ตรงนี้ต้องตรวจสอบกับบริษัทประกันว่ามีการเพิ่มหรือคุ้มครองเกี่ยวกับภัยธรรมชาติให้ได้หรือไม่ กรณีที่ว่านี้บางบริษัทก็ให้บางบริษัทก็ไม่ให้ “เวลานี้สำหรับประเทศไทย ไม่ควรจะประมาทแล้ว เพราะบางคนคิดว่าเพิ่งน้ำท่วมไป เลยไม่คิดจะซื้อประกันในช่วงนี้แล้ว แต่ถ้าหากสนใจซื้อประกันภัยประเภท 2 บวกกับ 3 บวก ผู้บริโภคก็แค่จ่ายเงินเพิ่มประกันภัยธรรมชาติเข้าไปเล็กน้อย ก็จะได้รับความคุ้มครอง เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ทำให้เราไม่ควรจะประมาทอีกต่อไป”

 

Image: Pixabay

41 views
bottom of page