“ขงเบ้ง” เศรษฐกิจฟันธง! เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย แม้ 7 เดือนแรกปี 60 เศรษฐกิจโลกโดยรวมส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลดีต่อส่งออกไทย หากแต่เจอเงินบาทแข็งค่าผิดคาด ทำกำไร+รายได้หดหาย กลายเป็นปัจจัยความเสี่ยง ต้องระวัง! ตั้งความหวังหลังเลือกตั้งแล้ว “เอกชน” กลับมาลงทุนช่วยเศรษฐกิจไทยเติบโต มีอนาคตมากขึ้น
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวโดยมีเครื่องชี้วัดจากสหรัฐ, ยุโรป และจีน ที่ได้มีการประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ออกมาดีเกินคาด กำลังการผลิตต่างๆ อย่างด้านอุตสาหกรรมได้บ่งชี้ออกมาบวก และยังได้ส่งผลถึงไทย คือ ตัวเลขการส่งออกมีตัวเลขดีเกินคาด อย่างตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่ออกมามีการขยายตัว 11.7% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มีการขยายตัวเกือบ 8% ทั้งที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่าการส่งออกไทยได้รับอานิสงค์มาจากเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นปัจจัยต่อการกำหนดทิศทางค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์ในตัวของมันเอง ขณะที่ในส่วนของการส่งออกคิดว่าต้องติดตามประเด็นเรื่องของราคา เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 ที่ผ่านมามีเรื่องราคาหนุนการส่งออกของไทย เมื่อราคาน้ำมันไม่สามารถยืนระยะถึง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ และถ้าหากเทียบกันเดือนต่อเดือนแล้วโดยในบางเดือนของช่วงท้ายปียังมีตัวเลขติดลบหรือหดตัวมาก ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันการขยายตัวจะกลับมาติดลบ ปัจจัยนี้คาดว่าจะเป็นตัวดึงปัจจัยมูลค่าการส่งออกน้ำมันในช่วงท้ายปี จากการขยายตัวดีในช่วง 6 เดือนแรกของปี อย่างน้ำมันสำเร็จรูปของไทยมีการส่งออกไปในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก และมีตัวเลขการขยายตัวเกือบ 40%ในช่วง 6 เดือนแรกของปี คิดว่าในช่วงท้ายปีตัวเลขอาจจะกลับมาติดลบก็เป็นได้ แต่ในด้านของราคาจะสวิงกลับมาอีกด้านหนึ่งในช่วงท้ายปี เช่น ราคายางพารา หรือ ราคาน้ำมัน
ราคายางพาราที่อยู่ประมาณ 53-54 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมตัวเลขจะติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากจะมีผลต่อรายได้เกษตรกรยังจะมีผลต่อตัวเลขการส่งออกที่ลดลง โดยประเด็นของเศรษฐกิจโลกยังเชื่อว่าไปได้ แต่ประเด็นเรื่องราคาที่หนุนในช่วงครึ่งปีแรกจะทยอยลดลง โดยเฉพาะในช่วงท้ายปีราคาอาจจะเป็นตัวฉุดลง ทำให้ตัวเลขการส่งออกที่ไทยได้ 7.8%ในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะโตไม่ได้ในระดับนี้ไปตลอดในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในรอบ 2 ปีน่าจะกระทบต่อรายรับและกำไรของผู้ส่งออกที่เคยประเมินกันไว้ เพราะคิดกันไม่ถึงว่าค่าเงินบาทจะแข็งได้เร็วขนาดนี้ ดังนั้นรายได้และกำไรที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศอาจจะหายไป คิดว่าผู้ส่งออกควรจะพิจารณาเรื่องความเสี่ยง เพราะยังมีประเด็นถึงการที่ FED ลดงบดุล แต่ตลาดยังคิดว่าภายในสิ้นปีนี้ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปีนี้ว่าจะปรับช่วงเดือนกันยายนหรือธันวาคม ทำให้ตลาดอาจจะแกว่งตัวได้จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามความเสี่ยง
ส่วนกรณีที่จีนกับสหรัฐฯคุยกันเรื่องการค้าในช่วงที่ผ่านมา คิดว่าเป็นกระบวนการเจรจาต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะสหรัฐฯเป็นคนเริ่มเรื่องนี้ที่จะหวังผลให้อีกฝั่งเข้ามาเจรจาว่าจะเรียกร้องอะไร ส่วนผลกระทบที่จะเห็นผลต่อตัวเลขการค้าเศรษฐกิจคงไม่คิดว่าจะได้เห็นในปีนี้ และอาจจะยังไม่ได้เห็นในปีหน้าทั้งปีเช่นกัน คิดว่ายังไม่ใช่ประเด็นหลักของสหรัฐฯ เพราะเวลานี้รัฐบาลสหรัฐฯน่าจะให้ผ่านมรสุมเรื่องรัสเซียไปก่อน และรวมไปถึงเรื่องการปฏิรูปการรักษาพยาบาลโอบามาแคร์ หรือการผลักดันการปฏิรูปด้านการคลัง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการลดภาษีซึ่งยังไม่สามารถทำได้ จึงยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสหรัฐฯในเวลานี้
สำหรับกรณีที่ประธาน FED “เจเน็ต เยลเลน” ได้ออกมาแถลงการณ์ในช่วงที่ผ่านมา มี 2-3 ประเด็นที่น่าสนใจ อย่างประเด็นแรกที่ได้กล่าวถึงความเสี่ยงของสหรัฐฯยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะด้านการคลัง การดำเนินการล่าช้ามากไม่สามารถทำอะไรได้ ประเด็นสอง พูดถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ไม่ควรจะเป็นหรือหากจะปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สูงก็ไม่สามารถทำได้มากนัก ส่งผลทำให้ตลาดหรือนักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าปีนี้เฟดจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ซึ่งแต่เดิมมองไว้มีแนวโน้ม 50% ที่จะปรับขึ้น แต่น้ำหนักของการจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มลดลง และผู้บริหารระดับสูงของเฟดหลายท่านมีความกังวลเรื่องของเงินเฟ้อสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามในภาพรวมคงต้องรอดูการประชุมวันที่ 25-26 กรกฎาคม2560 ว่าการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐใหม่จะไปในทิศทางใด ส่วนความกังวลของเงินเฟ้อที่ตลาดคาดการณ์หลังจากที่ได้ฟังคำแถลงการณ์ของ เจเน็ต เยลเลน หรือไม่ ก็ต้องรอดูตัวเลขการประมาณการณ์ชุดใหม่ในเดือนกันยายนนี้
“เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจ 6 เดือนแรกของปีได้รับอานิสงส์หลักมาจากการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงมาตรการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่การส่งออกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเพราะยังมีความเสี่ยงอยู่ อีกประเด็น คือ เรื่องการลงทุนของเอกชน เพราะที่ผ่านมาตัวเลขยังไม่ดีมากนักและยังติดลบอยู่ ก็หวังว่าเมื่อผ่านการเลือกตั้งไปแล้วความชัดเจนต่างๆน่าจะช่วยให้การลงทุนของเอกชนกลับมา” ดร.เชาว์กล่าวและมองภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ในรอบนี้อาจจะไม่เหมือนตอนปี 2540 เพราะในรอบนี้ภาวะการสร้างหนี้ขึ้นมาอยู่ที่ผู้ซื้อเป็นหลัก คิดว่าผู้ซื้อจำนวนหนึ่งมองการถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนระยะยาว แน่นอนว่าค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ที่คาดหวังว่าจะได้รับจะไม่เป็นอย่างที่คิดในบางส่วน
“การที่มีบริษัทใหญ่เริ่มออกมาออกหุ้นกู้หรือระดมเงินทุน มีประเด็นเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ของทางการเงินในบางรายการ ทำให้ตลาดของผู้ออกหุ้นและผู้ซื้อคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น นักลงทุนน่าจะเลือกการลงทุนมากขึ้น ต้นทุนทางการเงินในส่วนนี้น่าจะขยับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ก็เป็นกลไกลตลาดที่ทำงานปรับตัว ไม่ถึงกับทำให้ตลาดมีปัญหาแบบสมัยก่อน เพราะส่วนหนึ่งของรายงานเหล่านั้นที่เป็นประเด็นอยู่ในผนังที่ไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับภาพรวม และไม่ใช่เป็นประเด็นความเสี่ยงในเชิงระบบเหมือนกับปี 2540 ที่มีขนาดใหญ่”
Picture Credit: Pixabay